นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยและกองทุนประกันสังคมมีภาระการจ่ายสิทธิประโยชน์บำนาญชราภาพในระยะยาว ซึ่งอาจกระทบต่อกองทุนในอีก 30 ปีข้างหน้า จึงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน โดยมีแนวทางสร้างความยั่งยืนให้กับกองทุนประกันสังคม ประกอบด้วย ปรับเพิ่มเพดานค่าจ้างในการคำนวณเงินสมทบ แบบค่อยเป็นค่อยไป เพดานค่าจ้างที่ 17,500 บาท ,20,000 บาท และ 23,000 บาท ขณะนี้อยู่ในระหว่างแก้ไขกฎกระทรวง
กำหนดเป้าหมายผลตอบแทนจากการลงทุนเพื่อสร้างความยั่งยืนอยู่ที่ 5% ต่อปี, ขยายอายุการเกิดสิทธิการรับบำนาญชราภาพจาก 55 ปี เป็น 65 ปี อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยกำลังศึกษาแนวทางขยายอายุเกษียณแบบสมัครใจ คำนึงถึงผลกระทบที่แตกต่างกันของพื้นที่ กลุ่มอาชีพและกลุ่มรายได้ต่างๆ, ขยายความคุ้มครองแก่แรงงานที่ไม่ได้อยู่ในข้อบังคับตามกฎหมาย และนำแรงงานต่างชาติเข้าสู่ระบบประกันสังคม และปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบฝ่ายรัฐบาลจากเดิม 2.75% เป็น 5%
สำหรับข้อกังวลเรื่องที่มาของคณะกรรมการประกันสังคม ตามร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่ ว่า จะมีการยกเลิกระบบการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวยืนยันว่า ร่างกฎหมายฉบับใหม่ยังกำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนของทั้งสองฝ่าย ไม่ได้ยกเลิกแต่อย่างใด
กระทรวงแรงงานคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของนายจ้างและผู้ประกันตนในการบริหารกองทุนเพื่อความมั่นคงยั่งยืน แต่จะปรับให้มีความยืดหยุ่นในกรณีที่เกิดสถานการณ์ที่มีเหตุสุดวิสัย เช่น กรณีที่มีโรคระบาด หรือเกิดภัยพิบัติอันอาจกระทบทำให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ตามปกติ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบได้
ทั้งนี้ กองทุนประกันสังคมมีแหล่งที่มางบประมาณจาก 3 ฝ่ายคือ ผู้ประกันตน นายจ้าง และรัฐบาล และมีวัตถุประสงค์สำคัญในการดูแลผู้ประกันตนที่มากกว่าการรักษาความเจ็บป่วยเพียงอย่างเดียว การจะเปลี่ยนแปลงกองทุนไปในทิศทางใด ผู้ประกันตนก็จะต้องรับรู้และตัดสินใจ โดยเฉพาะการดูแลสิทธิเพิ่มเติมจากสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนคนไทยทุกคนควรได้รับ โดยจะต้องมีการหารือถึงผลดีผลเสียและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่ดูแลระบบสุขภาพของประเทศทั้งหมด รวมทั้งมีการสำรวจความคิดเห็นเพื่อทำประชาพิจารณ์ด้วย