นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวปาฐกถาพิเศษในเวที “Thailand Tourism Forum 2025” ภายใต้หัวข้อ “Thailand’s Tourism Vision : Global Alignment, Local Impact in a Disrupted World” หรือ “การเชื่อมโลก เปลี่ยนไทย ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ผันผวน”โดยเน้นย้ำเป้าหมายสำคัญในการพลิกโฉมการท่องเที่ยวไทยให้สอดคล้องกับแนวโน้มโลก ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยีดิจิทัล การท่องเที่ยวอัจฉริยะ เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก และสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในระยะยาว โดยมี Mr.Harry Hwang, Director Regional Department for Asia and the Pacific ผู้แทนเลขาธิการการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations World Tourism Organization หรือUN Tourism) กล่าวแสดงความยินดี และแนวทางความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวของไทย กับ UN Tourism และ Ms. Sandra Carvao, Director, Market Intelligence, Policies and Competitiveness, UN Tourism ปาฐกถาพิเศษ “Global Tourism Trends and Directions: 2025-2030” (แนวโน้มและทิศทางการท่องเที่ยวโลก ปี พ.ศ. 2568-2573)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมากแทบจะเป็นวินาที วันนี้เราอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สงครามการค้า ปัญหาในเรื่องของภูมิอากาศ และวิกฤตสุขภาพโลก ในขณะที่นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Gen Z หรือกลุ่ม Digital Nomad มีความต้องการที่หลากหลายและมีความคาดหวังในการท่องเที่ยวที่จะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ใหม่ ๆ มากกว่าการท่องเที่ยวแบบปกติ คำถามคือประเทศไทยจะเดินหน้าในโลกที่ Disrupt นี้ได้อย่างไร
วันนี้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยต้องก้าวให้ทันโลก ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคมีความคาดหวังสูง ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องเชื่อมโลกเปลี่ยนไทยไปด้วยกัน การดำเนินนโยบายของการท่องเที่ยวต้องสอดคล้องกับทิศทางและแนวโน้มของโลกที่เปลี่ยนไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการของ องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Tourism) ที่เน้นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ครอบคลุม ยืดหยุ่น และวิกฤตต่าง ๆ ต้องยกระดับมาตรฐานให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่กำลังเป็นเทรนด์ของโลกอยู่ในขณะนี้ เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวเติบโตขึ้นและในขณะเดียวกันต้องไม่ทำลายรากฐานวัฒนธรรมและธรรมชาติ
การประชุมนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Tourism) ในการจัดหาผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวระดับโลกมาแลกเปลี่ยนกันในเรื่องของการวิเคราะห์ตลาดที่จะเกิดใหม่และนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้น อนาคตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเป็นส่วนสำคัญ เป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ เพื่อวางรากฐานการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยให้สามารถปรับตัวและแข่งขันในระดับสากลได้ นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและครอบคลุม เพื่อยกระดับภาคการท่องเที่ยวให้มีเสถียรภาพ ยืดหยุ่น และฟื้นตัวได้เร็วจากวิกฤต ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การท่องเที่ยวอัจฉริยะ Smart Tourism เพื่อยกระดับประสบการณ์ของนักท่องเที่ยวและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว
โดยความร่วมมือที่ผ่านมาระหว่างภาครัฐคือ ประเทศไทยกับสมาชิกในฐานะสมาชิก UN Tourism ได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่จับต้องได้ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจระดับรากฐานของสังคมไทย เช่น ความภาคภูมิใจของชุมชนบ่อสวก จังหวัดน่าน ที่ได้รับรางวัลชุมชนท่องเที่ยวยอดเยี่ยมโลก (Best Tourism Village 2024) แห่งแรกของประเทศไทย โดย องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Tourism) ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงรางวัลหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย คือ ทางรอดและทางรุ่งในการผลักดันเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในรากฐานยุคใหม่ แสดงให้เห็นว่าการเติบโตของการท่องเที่ยวไม่จำเป็นต้องแลกเปลี่ยนกับความสูญเสียรากฐานทางวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติ และสามารถยกระดับมาตรฐานของการท่องเที่ยวไทยให้เป็นที่ยอมรับระดับโลกได้ ที่สำคัญรางวัลนี้คือจุดเริ่มต้นของการขยายโมเดลบ่อสวก ไปยังหมู่บ้านและชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศไทย
โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้กำหนด 5 ยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับการท่องเที่ยวในปี 2025 – 2030 ซึ่งจะพลิกเกมสู่ความยั่งยืนในการรับมือของความเปลี่ยนแปลง และรองรับวิถีการท่องเที่ยวแบบใหม่ๆ ได้แก่
1. พลิกโฉมจากปริมาณสู่คุณภาพ โดยลดการพึ่งพานักท่องเที่ยวด้วยจำนวน แต่มาดูคุณภาพของนักท่องเที่ยว
2. การกระจายรายได้สู่เมืองรองและชุมชน โดยใช้แนวทางการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community – Based Tourism : CBT) ที่ส่งเสริมเกษตรกร วัฒนธรรม ภูมิปัญญาชาวบ้าน และภูมิปัญญาท้องถิ่น
3. ผสาน Soft Power กับ Digital Economy โดยใช้วัฒนธรรม อาหาร และกีฬา เป็นสื่อกลาง และเชื่อมโยงเทคโนโลยี แพลตฟอร์มดิจิทัล มาใช้ในเรื่องของการท่องเที่ยว
4. เตรียมมาตรการกระจายความเสี่ยงของตลาด (Market Diversification) ลดการพึ่งพาตลาดใหญ่ตลาดเดียว แต่จะขยายฐานนักท่องเที่ยวไปยังตะวันออกกลาง อินเดีย ลาตินอเมริกา แอฟริกา และตลาดเก่า
ที่เคยเป็นลูกค้า
5. การเตรียมพร้อมรับวิกฤต (Crisis Management) ทั้งเรื่องโรคระบาด ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภาวะชาตินิยมทางเศรษฐกิจ ซึ่งการรับมือวิกฤตภาครัฐ ภาคเอกชน และทั้งประเทศต้องรับมืออย่างรวดเร็ว ยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยและความปลอดภัย เช่น การใช้ระบบ SHA Plus (SHA+) ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 การส่งเสริมให้ Digital Health Passport เกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางข้ามพรมแดน การดำเนินการสื่อสารเชิงรุก (Proactive Communication) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดเป้าหมายการพัฒนา Tourism Risk Map คือ การจัดทำแผนเผชิญเหตุสำหรับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญให้กับนักท่องเที่ยวได้รับทราบ การติดตั้งระบบแจ้งเตือนล่วงหน้า (Early Warning System) ในพื้นที่เสี่ยงภัย การเร่งใช้ Big Data Tourism Intelligence เพื่อการคาดการณ์การเผชิญและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว เช่น พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป ภัยพิบัติ สถานการณ์โลก รวมถึงปัญหาการเมืองของประเทศไทย
การสร้างแคมเปญ “ไทยเที่ยวไทยเท่” เป็นแคมเปญที่จะกระตุ้นตลาดภายในประเทศ การสนับสนุน SMEs ชุมชนท้องถิ่นให้แข็งแรง และมีการยืดหยุ่นสามารถรับมือกับการผันผวนทางเศรษฐกิจเมื่อเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง เพื่อให้การท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวในวิกฤตได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน อย่างไรก็ตามการรับมือกับวิกฤต ในภาคการท่องเที่ยวไม่สามารถทำได้โดยลำพัง ต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรระดับประเทศ องค์กรระดับโลก สำคัญที่สุดคือพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนต้องร่วมมือกัน
ประเทศไทยตั้งเป้าให้เป็น ศูนย์กลางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism Hub) ยกระดับประเทศไทยให้เป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับ โดยนำเรื่องกีฬา การท่องเที่ยว เข้ามาเป็นหลักในการยกระดับประเทศไทยสู่ภูมิภาคอาเซียนและเอเชียแปซิฟิก โดยใช้จุดแข็งในด้านวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และความเชี่ยวชาญในภาคการบริการและการต้อนรับ เพราะ “ยิ้มสยาม” สำคัญที่สุด ควบคู่ไปกับยุทธศาสตร์เชิงรุกในสามมิติ ได้แก่ ดึงดูดความร่วมมือ ส่งเสริมการลงทุน และสร้างความเชื่อมั่น ผ่านการสร้างเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ ชุมชนท้องถิ่น เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนแบบบูรณาการ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยีและแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศ หรือการออกโครงการต่างๆ เช่น Green Tourism, Smart Tourism ซึ่งเป็นก้าวต่อไปของประเทศไทยที่จะต้องให้ความสำคัญ และการสร้างความเชื่อมั่น เป็นสิ่งที่สำคัญ ทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ มีความคิดเป็นของตัวเอง แล้วโพสต์เข้าไปในโซเชียลมีเดีย โดยบางท่าน ไม่ทราบว่ามีผลกระทบต่อประเทศ เพราะฉะนั้นทุกหน่วยต้องทำงานร่วมกัน
นายสรวงศ์ กล่าว ขอเชิญชวนทุกท่าน ร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวขึ้นสู่จุดหมายปลายทางแห่งอนาคต Future Proof Destination/Destination for the Next Generation of Travelers อนาคตของการท่องเที่ยวไทยภาครัฐไม่สามารถทำได้เพียงคนเดียว ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชน ประชาชน ชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน วันนี้โอกาสของทุกท่านอยู่ข้างหน้าเราแล้ว อย่ารอโลกให้เปลี่ยนเรา แต่เราต้องร่วมกันเปลี่ยนแปลงประเทศให้ทันโลก สร้างประเทศไทยให้โลกได้หลงรักเหมือนที่เราเคยเป็นที่รักของคนทั้งโลกมาแล้ว ขอให้ทุกท่านร่วมมือกันสร้าง “Thailand Model” แห่งการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ที่ไม่เพียงแต่รับมือกับการเปลี่ยนแปลง แต่ต้องเป็นหนึ่งในผู้นำในการเปลี่ยนแปลงด้วย