นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้ นพ.ศักดา อัลภาชน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน Kick-Off เปิดตัวรถตรวจสุขภาพสูงวัยเคลื่อนที่ โดยมีนายกิตติกร โล่ห์สุนทร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วม
นพ.ศักดา กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 14.37 ล้านคน คิดเป็น 21.87% ของประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นความท้าทาย ด้านสุขภาพจากปัญหาการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non Communicable Disease: NCDs) โรคที่พบมากที่สุดคือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคหัวใจ โดยผู้สูงอายุมากกว่า 38% มีโรคประจำตัวมากกว่า 2 โรค รวมถึงมีปัญหาสุขภาพที่พบบ่อย เช่น การมองเห็น สุขภาพช่องปาก ภาวะสมองเสื่อม และการพลัดตกหกล้ม หากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมอาจนำไปสู่ภาวะพึ่งพิงและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว ทำให้ต้องเข้ารับบริการสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความแออัดในโรงพยาบาลรัฐมากขึ้น โดยเฉพาะโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ (โรงพยาบาลที่ให้บริการดูแลสุขภาพขั้นสูงและเฉพาะทาง) ได้แก่ โรงพยาบาลศูนย์ สถาบันเฉพาะทางต่างๆ และโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์
จากรายงานของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2566 พบว่า ผู้สูงอายุใช้บริการผู้ป่วยนอกกว่า 68.9 ล้านครั้ง และเข้าใช้บริการในสถานพยาบาลเพิ่มขึ้นกว่า 2% หรือประมาณ 1.8 ล้านครั้งต่อปี อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้สูงอายุอีกมากที่มีข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ไม่สามารถเดินทางเข้ารับบริการ
ด้านสุขภาพได้ กรมการแพทย์ โดยสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ จึงได้พัฒนา “รถตรวจสุขภาพสูงวัยเคลื่อนที่” นำบริการสาธารณสุขออกไปถึงชุมชนและกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งประมาณการณ์ว่าใน 1 ปี รถตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ 1 คัน จะช่วยเพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการของผู้สูงอายุได้ถึง 12% หรือ 21,600 คน ถือเป็นนวัตกรรมสำคัญที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ ส่งเสริมการป้องกันโรค และสนับสนุนการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ลดภาระของโรงพยาบาล และลดภาระของประชาชนในการเดินทาง โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล
ด้าน นพ.ธนินทร์ กล่าวว่า โครงการรถตรวจสุขภาพสูงวัยเคลื่อนที่ ถือเป็นนวัตกรรมเชิงระบบที่สอดคล้องกับแนวคิดของกรมการแพทย์ คือ “ทำดีที่สุด เพื่อทุกชีวิต” ซึ่งหมายถึงการออกแบบบริการที่สนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่างผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดทั้งทางร่างกายและการเดินทาง ช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการแพทย์เฉพาะทางของผู้สูงอายุ
สำหรับรถตรวจสุขภาพสูงวัยเคลื่อนที่ มี 6 บริการหลัก ได้แก่
1. การตรวจรักษา ติดตาม ให้คำปรึกษาด้านโรค NCDs ภาวะสมองเสื่อมและภาวะหกล้ม
2. ตรวจคัดกรองสุขภาพช่องปาก
3. ให้คำปรึกษาทางไกล (Tele-Consult) โดยทีมสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร เพื่อผู้สูงอายุ
4. ตรวจสุขภาพเบื้องต้น (วัดความดัน ตรวจเบาหวาน ชั่งน้ำหนัก ฯลฯ)
5. ให้คำปรึกษาด้านโภชนาการและกิจกรรมพัฒนาร่างกาย
6. ฉีดวัคซีนและเวชภัณฑ์เบื้องต้น
โดยได้รับความร่วมมือจากผู้แทนเขตสุขภาพที่ 4 ประกอบด้วย นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง และนครนายก ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องในการนำรถตรวจสุขภาพสูงวัยเคลื่อนที่
ไปให้บริการประชาชน
ที่มา “รถตรวจสุขภาพสูงวัยเคลื่อนที่”
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการออกแบบรถโมบายยูนิตเพื่อผู้สูงวัย ว่า จากการที่มีการคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุในเบื้องต้นในชุมชน พบว่าประมาณ 20% มีความเสี่ยงด้านสุขภาพอย่างน้อย 1 เรื่อง และพบว่าผู้สูงอายุ 38% มีโรคประจำตัวมากกว่า 2 โรคขึ้นไป พบมากที่สุดคือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ซึ่งจากสถิติของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปชส.) พบว่าการใช้บริการของผู้สูงอายุใน OPD (ผู้ป่วยนอก) เพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละ 2% หรือคิดเป็นจำนวนกว่า 1,700,000 ครั้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความแออัดในสถานพยาบาล กรมการแพทย์ในฐานะที่เป็นกรมวิชาการและมีสถาบัน เฉพาะทางด้านผู้สูงอายุ จึงได้คิดค้นออกแบบบริการที่จะนำไปส่งต่อบริการเฉพาะด้านผู้สูงอายุ ให้แก่ผู้ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึง จึงออกแบบรถตรวจสุขภาพสูงวัย และเริ่มนำร่องในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 4 และจะขยายไปอีกในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
ทั้งนี้ บริการในรถตรวจสุขภาพสูงวัยเคลื่อนที่ เปรียบเสมือนการยกบริการคลินิกผู้สูงอายุ ซึ่งมีทั้งการตรวจสุขภาพพื้นฐาน การคัดกรองประเมิน ตรวจรักษา ฟื้นฟูโรคหรือปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ทั้งการให้คำปรึกษาด้านโภชนาการ การตรวจสุขภาพช่องปาก บริการฉีดวัคซีน และมีระบบเชื่อมต่อ Telemedicine กับแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ซึ่งเทียบเท่ากับการยกคลินิกเคลื่อนที่มาไว้ใกล้บ้านผู้สูงอายุ