นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการหารืออย่างไม่เป็นทางการแบบขยาย (Extended Informal Consultation) ในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ในช่วงของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 46 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย โดยการหารือจัดขึ้นภายใต้การนำของมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน ต่อเนื่องจากการหารืออย่างไม่เป็นทางการ (Informal Consultation) ระหว่างประธานอาเซียนปัจจุบัน (มาเลเซีย) ประธานอาเซียนก่อนหน้า (สปป.ลาว) และประธานอาเซียนถัดไป (ฟิลิปปินส์) เกี่ยวกับการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ (Five-Point Consensus) โดยได้หารือแนวทางการดำเนินการต่อสถานการณ์ในเมียนมา ขณะที่ฝ่ายไทยได้แสดงบทบาทเชิงสร้างสรรค์ด้วยการผลักดันประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะแนวทางการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อเมียนมาอย่างสอดประสานและมีประสิทธิภาพ
นอกจากนั้นยังได้หารือทวิภาคีกับดาโตะ เซอรี อูตามา ฮาจี โมฮามัด บิน ฮาจี ฮาซัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ติดตามความคืบหน้าตามแนวทางที่ผู้นำของทั้งสองประเทศได้เห็นพ้องกัน รวมถึงบทบาทสำคัญของอาเซียนในการขับเคลื่อนฉันทามติ 5 ข้อ โดยเฉพาะการสนับสนุนการฟื้นฟูในเมียนมาหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวและการหารือทวิภาคีกับนายปรัก สุคน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชา ทั้งสองฝ่ายได้ติดตามผลการเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีของไทย โดยไทยและกัมพูชาจะเพิ่มความร่วมมือในเรื่องปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ ยาเสพติด และหมอกควันข้ามแดน นอกจากนี้ จะเดินหน้าความร่วมมือความมั่นคงและการพัฒนาชายแดนเพื่อความปลอดภัยและกินดีอยู่ดีของประชาชน รวมถึงเพิ่มปริมาณการค้าและความเชื่อมโยงคมนาคมขนส่งระหว่างสองประเทศมากยิ่งขึ้น
นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการเข้าร่วมประชุม ASEAN Summit ครั้งที่ 46 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เพื่อเตรียมการประชุมระดับผู้นำในวันที่ 26 พ.ค. 68 และหารือเกี่ยวกับวาระสำคัญของอาเซียน ทั้งการเสริมสร้างประชาคมอาเซียน, ความร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วน, ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ และการรับติมอร์-เลสเตเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน ซึ่งนายมาริษ ได้เน้นย้ำในที่ประชุมถึงการให้ความช่วยเหลือเมียนมาอย่างเร่งด่วน ในช่วงฟื้นฟูหลังแผ่นดินไหว โดยเสนอให้มีการจัดตั้งกลไกประสานงานที่มีศูนย์ AHA Center* ของอาเซียนเป็นผู้ประสานงานหลักร่วมกับเมียนมาและองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ
ซึ่งนอกจากจะช่วยในการประสานความช่วยเหลือแล้ว ยังสามารถช่วยสร้างสภาพแวดล้อม ที่เอื้อต่อการเจรจาและกระบวนการสันติภาพด้วย พร้อมยังเห็นว่าจะต้องเปลี่ยนทัศนคติลบเป็นความร่วมมือ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการแสวงหาทางออกให้กับเมียนมาร่วมกัน เพราะแม้การที่เมียนมาจะกลับคืนสู่ความสงบจะต้องใช้เวลา แต่ก็ต้องให้เมียนมาเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง (Myanmar Led, Myanmar Own)
นายมาริษ ยังได้ร่วมการประชุมอีกหลายกรอบสำคัญ ทั้งคณะกรรมาธิการสำหรับเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, คณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน และคณะมนตรีประสานงานอาเซียน ซึ่งครอบคลุมทั้งกระบวนการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์-เลสเต, ความร่วมมือด้านความมั่นคง และวิสัยทัศน์ ASEAN 2045 รวมถึงยังได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN – GCC Ministerial Meeting ซึ่งเป็นการหารือระหว่างอาเซียน และกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ GCC ในหลายๆ เรื่องที่สำคัญ รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานและการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านพลังงานสะอาด
*ศูนย์ AHA :ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance คือ องค์กรระหว่างรัฐบาลที่จัดตั้งโดยประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกในการร่วมมือและการประสานงานการจัดการภัยพิบัติ สำนักงานใหญ่ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 46 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เปิดเผยผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนว่า ที่ประชุมได้ชื่นชมและขอบคุณประเทศไทยที่สนับสนุนมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน ในการแสดงบทบาทสำคัญด้านการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่เมียนมา ภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว นอกจากนี้ยังสนับสนุนข้อเสนอจัดตั้งกลไกประสานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมียนมา ระหว่างทางการเมียนมา อาเซียน และองค์การระหว่างประเทศ ตามที่ไทยผลักดัน โดยให้ศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (AHA Centre) เป็นจุดประสานงานหลัก เพื่อระดมการสนับสนุนการฟื้นฟูประเทศเมียนมาอย่างมีประสิทธิภาพและรักษาเวทีพูดคุยที่สร้างสรรค์ระหว่างเมียนมากับอาเซียน แสดงให้เห็นบทบาทนำของอาเซียนในการแก้ไขวิกฤตด้านมนุษยธรรมในเมียนมาและทำให้เกิดพัฒนาการสำคัญในทางที่ดี โดยหลายประเทศเชื่อมั่นว่าเริ่มมีแนวทางที่จะนำไปสู่การเจรจาพูดคุยอย่างสร้างสรรค์และแก้ไขปัญหาของเมียนมาได้ในอนาคต
สิ่งที่ประเทศไทยได้ริเริ่มเกี่ยวกับการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์กับเมียนมา โดยเฉพาะการผลักดันให้เกิดการพูดคุยระหว่างเมียนมาและประเทศเพื่อนบ้านตั้งแต่กลางปีที่แล้ว รวมถึงความพยายามให้เกิดการพูดคุยระหว่างฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเมียนมา จนขณะนี้อาเซียนเห็นร่วมกันว่าการแก้ไขปัญหาเมียนมาต้องการการเปิดกว้างสำหรับการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์กับทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดความร่วมมือ
ประเทศไทยยังพยายามขับเคลื่อนให้เปลี่ยนความเห็นที่แตกต่างไปสู่กิจกรรมที่เป็นความร่วมมือระหว่างกันของทุกภาคส่วน โดยริเริ่มการเจรจาพูดคุย 3 ฝ่าย ระหว่างไทย เมียนมา และอินเดีย และการพูดคุย 4 ฝ่ายระหว่างไทย เมียนมา จีน และลาว รวมถึงล่าสุดไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการหารือ 6 ฝ่ายระหว่างเมียนมากับประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยเน้นการแก้ปัญหาความมั่นคงชายแดน ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ยาเสพติด การค้ามนุษย์ และการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงในภูมิภาค นอกจากนี้ ยังได้ผลักดันด้านการบริหารจัดการน้ำภายใต้กรอบของภูมิภาคลุ่มน้ำโขงด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นข้อริเริ่มที่ไทยเสนอเพื่อดึงให้ฝ่ายต่างๆ ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบรุนแรงแก่ประชาชนร่วมกัน อันจะเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาเมียนมาอย่างสร้างสรรค์
ในท้ายที่สุด
ส่วนในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนกับคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ ได้มีการหารือกันอย่างกว้างขวางถึงสาขาที่อาเซียนและกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับมีศักยภาพร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น การค้าและการลงทุน เนื่องจากกลุ่มประเทศดังกล่าวมีศักยภาพด้านเงินทุน มีกองทุนจำนวนมาก และมีความพยายามที่จะดึงดูดการลงทุนจากกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับเข้ามายังอาเซียน หลายประเทศกล่าวถึงความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างสองกลุ่มประเทศเพื่อเพิ่มปริมาณการค้า พร้อมกันนี้ยังมีการเสนอความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ซึ่งกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับพร้อมร่วมมือกับอาเซียนพัฒนาพลังงานทางเลือก เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต
นายมาริษ ยังได้เป็นผู้แทนนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ถึงทิศทางความร่วมมือท่ามกลางความไม่แน่นอนและความท้าทายทางเศรษฐกิจของโลก ขณะที่ไทยได้ย้ำความสำคัญของความร่วมมือที่ใกล้ชิดมากขึ้นระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน เพื่อสร้างเสริมบทบาทเชิงรุกให้ภาคเอกชนในการลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ แสวงหาหุ้นส่วนและตลาดใหม่ๆ รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการเติบโตในระยะยาวและยั่งยืน ทั้งยังยืนยันความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนในการขับเคลื่อนการค้าภายในภูมิภาค ส่งเสริมความเชื่อมโยง ความยั่งยืน และการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล โดยเฉพาะผ่านการเร่งรัดการเจรจาจัดทำกรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว