วันสุดท้ายของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 วงเงิน 3.78 ล้านล้านบาท โดยตลอดทั้งวัน การอภิปรายฯค่อนข้างเงียบเหงา เนื่องจากมีสมาชิกและรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุมบางตา ซึ่งการอภิปรายของ สส.ฝ่ายรัฐบาลส่วนใหญ่จะสนับสนุนการจัดทำงบประมาณที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ขณะที่ฝ่ายค้านได้อภิปรายโดยมุ่งเป้าการจัดสรรงบฯที่ยังไม่เหมาะสม รวมทั้งระบุที่ผ่านมารัฐบาลไม่สามารถดำเนินนโยบายต่างๆได้ตามที่รับปากไว้
โดยในช่วงเช้า บรรดารัฐมนตรีต่างลุกขึ้นทยอยชี้แจงสิ่งที่สมาชิกอภิปรายพาดพิง อาทิ นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีที่ฝ่ายค้านอภิปรายโครงการซอฟต์พาวเวอร์ ที่มีภาพจำแค่ “กางเกงช้าง” ว่า การสร้างการรับรู้โครงการซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลต่อประชาชนและต่างประเทศ ไม่ได้จำกัดแค่กางเกงช้าง แต่มีโครงการอีกจำนวนมาก เช่น เทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ที่ประสบผลสำเร็จ สามารถสร้างเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจได้กว่า 4,000 ล้านบาท แสดงว่าการลงทุนซอฟต์พาวเวอร์ ไม่สูญเปล่า อย่ามองแค่งบที่ใช้ลงทุนอย่างเดียว ให้มองผลทางเศรษฐกิจที่ตามมาด้วย
ทั้งนี้ตลอดทั้งวัน ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ได้สลับสับเปลี่ยนกันอภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยนายสหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี พรรคประชาชน ได้อภิปรายงบสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ที่ได้รับการจัดสรรงบในกระทรวง 68,069 ล้านบาท และเป็นงบประมาณของสำนักงานประกันสังคม 61,666 ล้านบาท หรือ 90% ซึ่งเป็นงบประมาณจำนวนมาก แต่ยังไม่สามารถจ่ายดูแลผู้ประกันตนได้อย่างเพียงพอในอนาคต นอกจากนี้ยังได้เสนอแนวทางในการกู้วิกฤตสำนักงานประกันสังคมคือการใช้หนี้ ทำให้โปร่งใสและเร่งปฏิรูปโครงสร้างโดยเร็ว
ด้านนายชาดา ไทยเศรษฐ์ สส. อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ได้อภิปรายถึงงบการก่อสร้าง ที่ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน โดยปีนี้งบประมาณลงทุน 7 แสนล้านบาท ยิ่งทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยในประเทศนี้ห่างกันขึ้นทุกวัน เป็นงบก่อสร้าง 4.7 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ยังเห็นด้วยกับโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาล เชื่อว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ ฝ่ายค้านยังมีการอภิปรายในประเด็นงบประมาณที่จัดสรรให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเพิ่มขึ้น ท่ามกลางวิกฤตศรัทธาของพุทธศาสนิกชนและมีการใช้วัดเป็นพื้นที่แสวงหาผลประโยชน์จากความศรัทธาของประชาชนโดยนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ลุกขึ้นชี้แจงกรณีดังกล่าว โดยยอมรับว่า ข้อมูลดังกล่าว เป็นความจริงและรัฐบาลได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว และกำลังมีการเร่งแก้ไข สำหรับเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์จากวัด จะให้มีการทำบัญชี และให้มีหน่วยงานตรวจสอบตรวจสอบอย่างจริงจัง สำหรับงบประมาณของสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะมีการออกหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการนำเงินไปใช้อุดหนุนซ่อมแซมวัดให้ทั่วถึงต่อไป
ขณะที่นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เป็นผู้อภิปรายปิดคนสุดท้ายของพรรคประชาชน โดยได้หยิบยกหลากหลายปัญหาและขอให้รัฐบาลเตรียมรับมือสงครามการค้าที่รุนแรงและต้องระวังการทุจริต พร้อมขอให้รัฐบาล มีการใช้งบฯ อย่างตรงจุดและเป็นไปอย่างเท่าเทียม
และในช่วงท้ายของการอภิปรายงบฯ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลุกขึ้นสรุปการจัดทำงบประมาณครั้งนี้ โดยย้ำว่า รัฐบาลดำเนินการจัดสรรงบฯ เป็นไปตามวินัยการเงินการคลัง ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติและคำนึงถึงการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ
กระทั่งเวลาประมาณ 16.00 น.นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาคนที่ 1 ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้สั่งให้สมาชิกแสดงตน เพื่อทำการลงมติรับหลักการในวาระแรก โดยที่ประชุมสภาฯ มีสมาชิกแสดงตัวลงมติจำนวน 482 คน ลงมติเห็นด้วย 322 เสียง เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 วงเงิน 3.78 ล้านล้านบาท วาระแรก ไม่เห็นด้วย 158 เสียง งดออกเสียง 0 เสียง และไม่ลงคะแนน 2 เสียง
จากนั้น นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลุกขึ้นกล่าวขอบคุณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่โหวตให้งบฯ ผ่านวาระแรก โดยนายกฯ ระบุว่า ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและหวังว่างบฯ ดังกล่าว จะนำไปพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามแผนยุทธศาสตร์ของชาติ มุ่งเน้นลดเหลื่อมล้ำ เป็นธรรมและรักษาวินัยการเงินการคลัง พร้อมนำข้อคิดเห็นในการประชุมอภิปราย นำไปพิจารณา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศ
จากนั้นที่ประชุมเข้าสู่วาระการเสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 73 คน ซึ่งในช่วงนี้ได้เกิดปัญหาเมื่อพรรคไทยสร้างไทย ได้มีการแย่งกันเสนอชื่อ ก่อนที่จะตกลงกันได้
สำหรับกรรมาธิการวิสามัญฯ แบ่งเป็น ครม. 18 คน สส. 55 คน รวมเป็น 73 คน แบ่งเป็น สส.พรรคร่วมรัฐบาล 35 คน ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 16 คน, ภูมิใจไทย 8 คน, รวมไทยสร้างชาติ 4 คน, กล้าธรรม 3 คน, ประชาธิปัตย์ 3 คน, ชาติไทยพัฒนา 1 คน, และประชาชาติ 1 คน ขณะที่ สส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน จำนวน 19 คน แบ่งเป็น พรรคประชาชน 16 คน, พลังประชารัฐ 2 คน และไทยสร้างไทย 1 คน
สำหรับขั้นตอนต่อไป หลังจากที่มีการลงมติรับหลักการงบฯ 2569 วาระแรกไปแล้ว ก็จะเข้าสู่วาระการแปรญัตติภายใน 30 วันต่อไป