“ทรัมป์” ส่งจดหมายถึงไทย ยืนยันเก็บภาษีนำเข้าสหรัฐฯ 36% มีผล 1 สิงหาคมนี้

เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศขึ้นภาษีการนำเข้าขั้นต่ำในอัตรา 10% จากทุกประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกา โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ ซึ่งจะถูกเก็บภาษีในอัตรา 36% โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2568 เป็นต้นไปและในวันเดียวกันนั้น รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ท่าทีของประเทศไทยต่อนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา โดยระบุว่า รัฐบาลไทยตระหนักและเข้าใจถึงความจำเป็นของสหรัฐอเมริกา ที่จะต้องปรับสมดุลทางการค้ากับประเทศคู่ค้าจำนวนมาก ผ่านนโยบายอัตราภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Trade and Tariffs) โดยประเทศไทยได้มีการตั้งคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกาขึ้นมาแล้วตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2568 ในการจัดเตรียมข้อเสนอเพื่อปรับดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกา ที่มีสาระสำคัญเพียงพอให้สหรัฐอเมริกา มีแรงจูงใจที่จะเข้าสู่กระบวนการเจรจากับไทย หลังจากนั้นนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงแนวทางแก้ปัญหามาตรการภาษีสหรัฐอเมริกาใน 5 แนวทาง ได้แก่

1. ต้องเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าที่สอดคล้องกับความต้องการของสหรัฐอเมริกา และได้เปรียบดุลการค้า

2. ผ่อนคลาย มาตรการจัดเก็บภาษี เพื่อส่งเสริมการนำเข้า

3. ลดขั้นตอนที่ทำให้เกิดความไม่สะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ

4. เพิ่มมาตรการคุมเข้มสินค้าที่ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน

5. หาโอกาสลงทุนในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะเรื่องก๊าซธรรมชาติ

       จากนั้น ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ขยายระยะเวลาผ่อนผันการประกาศใช้อัตราภาษีศุลกากรตอบโต้ใหม่อีก 90 วัน เป็นวันที่ 9 กรกฎาคม 2568

สำหรับประเทศไทย มีกำหนดเจรจาภาษีกับสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 นำโดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง วันที่ 5 กรกฎาคม 2568 นายพิชัย ได้เปิดเผยภายหลังเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกา เพื่อเจรจามาตรกรทางภาษีของสหรัฐอเมริกาว่า ในการเดินทางเยือนครั้งนี้ “ทีมไทยแลนด์” ได้ประชุมกับหลายฝ่าย และได้พบทั้งภาครัฐของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นระดับนโยบาย และภาคเอกชนของสหรัฐอเมริกา ที่มีการลงทุนในประเทศไทย รวมถึงได้พบกับภาคการเกษตรของสหรัฐอเมริกา ทำให้ทีมไทยแลนด์ ทราบถึงรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง สำหรับประเทศไทย ถือเป็นการพบกันอย่างเป็นทางการในระดับนโยบาย โดยได้พบกับทูตการค้าของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกาและได้พบรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา โดยได้รับฟังทั้งข้อเสนอ และข้อกังวลจากฝ่ายสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับทั้งอัตราภาษีและการกีดกันทางการค้าอย่างรอบด้าน โดยคณะทำงานจะนำความเห็นที่ได้ทั้งหมด กลับไปประกอบการทำงาน และเจรจาในระดับเทคนิคและส่งกลับไปให้ฝ่ายสหรัฐอเมริกาโดยเร็ว

จากนั้นวันที่ 6 กรกฎาคม 2568 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีการหารือกับคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา เพื่อหารือการปรับปรุงข้อเสนอตามที่ได้ประชุมกับผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา พร้อมยืนยันว่า กระแสข่าวว่าไทยจะถูกจัดเก็บอัตราภาษีที่ 18 – 36% ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริงปัจจุบันทีมประเทศไทยยังไม่ได้ข้อสรุปว่า อัตราภาษีที่สหรัฐอเมริกา จะเรียกเก็บจากประเทศไทยนั้นจะอยู่ที่เท่าไหร่ โดยการตัดสินใจอัตราภาษีทั้งหมดนี้ ฝ่ายสหรัฐอเมริกาจะแจ้งผลภาษีอย่างเป็นทางการและแจ้งพร้อมกัน ขอให้รอผลอย่างเป็นทางการเท่านั้น

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงความคืบหน้าในการเจรจาการค้ากับสหรัฐอเมริกา โดยไทยได้ยื่นข้อเสนอฉบับปรับปรุงใหม่ต่อสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 6 กรกฎาคม 2568 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างสองประเทศ และลดการเกินดุลการค้าของไทยต่อสหรัฐอเมริกา ลงให้ได้ถึงร้อยละ 70 ภายในระยะเวลา 5 ปี และคาดว่าจะสามารถสร้างความสมดุลทางการค้าได้ภายใน 7-8 ปี ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมที่เคยเสนอไว้ว่าจะลดดุลการค้าภายใน 10 ปี

ทั้งนี้ ข้อเสนอฉบับใหม่ของไทยมีรายละเอียดที่ชัดเจนขึ้น ทั้งในด้านการเปิดตลาดสำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมจากสหรัฐอเมริกา และการเพิ่มการจัดซื้อพลังงานและเครื่องบินจากบริษัทของสหรัฐอเมริกา โดยในส่วนของการเปิดตลาดนั้น ไทยได้เน้นสินค้าในกลุ่มที่ยังขาดแคลนหรือผลิตไม่ได้ในประเทศ เพื่อไม่ให้กระทบต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการไทย ขณะเดียวกัน ยังได้เสนอการลดอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีและปรับปรุงกระบวนการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มความคล่องตัวทางการค้าและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้แสดงความมุ่งมั่นอย่างชัดเจนในการจัดซื้อพลังงานจากสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากโครงการก๊าซในรัฐอะแลสกา ซึ่งบริษัทเอกชนของไทยอยู่ระหว่างเจรจาซื้อ LNG ปริมาณสูงเป็นระยะเวลา 20 ปี ขณะเดียวกัน บริษัทไทยด้านเคมีภัณฑ์หลายแห่งให้คำมั่นว่า จะนำเข้าก๊าซอีเทนจากสหรัฐอเมริกามากขึ้น และสายการบินของไทยยังได้ส่งสัญญาณแผนการจัดซื้อเครื่องบิน Boeing ในจำนวนสูงขึ้น

รัฐบาลมุ่งมั่นปกป้องเศรษฐกิจไทยที่อาจจะได้รับผลกระทบจากมาตรการทางภาษีของสหรัฐอเมริกา โดยที่ผ่านมา รัฐบาลโดยทีมไทยแลนด์ได้หารือร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภายในประเทศและจากฝั่งสหรัฐอเมริกา อย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดทำข้อเสนอที่รอบคอบ ครอบคลุม และเน้นผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ รัฐบาลขอยืนยันว่าจะเดินหน้าเจรจาอย่างมืออาชีพ และเร่งรัดเพื่อให้ได้ข้อสรุปจากสหรัฐอเมริกา ก่อนครบกำหนดระยะเวลาของการชะลอมาตรการภาษีของสหรัฐอเมริกาและรัฐบาลยังเตรียมมาตรการช่วยเหลือให้กับภาคธุรกิจและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีในครั้งนี้ หากสหรัฐอเมริกาประกาศอัตราภาษีนำเข้าที่เรียกเก็บจากไทย หรือออกมาตรการอื่น ๆ ที่มากกว่าที่ประเมินไว้ในเบื้องต้น

อีกทั้ง ความเคลื่อนไหวจากประธานาธิบดีทรัมป์ ได้โพสต์แจ้งผ่านทรูธโซเชียลเมื่อกลางดึกคืนวันอาทิตย์ที่ 6 กรกฎาคม 2568 ว่า จะเริ่มทำการส่งจดหมายแจ้งอัตราภาษีต่างตอบแทนต่อประเทศต่างๆ ในเวลา 12.00 น. ของวันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2568 ตามเวลาท้องถิ่น หรือตรงกับเวลาประมาณ 23.00 น.ของวันเดียวกันตามเวลาในไทย ซึ่งก่อนหน้านั้นประธานาธิบดีทรัมป์ กล่าวว่า สหรัฐอเมริกากำลังใกล้จะสรุปข้อตกลงทางการค้าหลายฉบับในไม่กี่วันข้างหน้าและจะแจ้งประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับอัตราภาษีที่สูงขึ้นภายในวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 โดยอัตราภาษีใหม่เหล่านี้มีกำหนดจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม 2568

(7 กรกฎาคม 2568) ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ส่งจดหมาย ถึงนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รักษาการนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย กรุงเทพมหานคร

เรียน นายกรัฐมนตรี เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ข้าพเจ้าได้ส่งจดหมายฉบับนี้ถึงท่าน ซึ่งสะท้อนถึงความเข้มแข็งและความมุ่งมั่นในความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างประเทศของเราและข้อเท็จจริงที่ว่าสหรัฐอเมริกาได้ตกลงที่จะเดินหน้าทำงานร่วมกับประเทศไทยต่อไป แม้จะประสบปัญหาขาดดุลการค้ากับประเทศของท่านเป็นอย่างมากก็ตาม อย่างไรก็ตาม เราได้ตัดสินใจที่จะเดินหน้าต่อกับท่าน แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบการค้าที่สมดุลและเป็นธรรมมากขึ้น เราจึงขอเชิญประเทศไทยเข้ามามีส่วนร่วมในเศรษฐกิจอันน่าอัศจรรย์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดอันดับหนึ่งของโลกอย่างแท้จริง ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราได้หารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศไทย และได้ข้อสรุปว่าเราจำเป็นต้องลดเลิกการขาดดุลการค้าเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากนโยบายกำแพงภาษีและมิใช่ภาษี ตลอดจนมาตรการกีดกันทางการค้าอื่นๆ ของไทย ความสัมพันธ์ของเราในอดีตนั้น น่าเสียดายที่ไม่เป็นไปอย่างต่างตอบแทน

ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 เป็นต้นไป สหรัฐอเมริกาจะเรียกเก็บ ภาษีนำเข้าในอัตรา 36% สำหรับ สินค้าทุกชนิดจากประเทศไทย ที่ส่งเข้ามายังสหรัฐอเมริกา แยกจากภาษีตามหมวดหมู่สินค้าโดยสิ้นเชิง สินค้าที่ผ่านการถ่ายโอนจากประเทศที่สามเพื่อเลี่ยงภาษีจะถูกเรียกเก็บในอัตราที่สูงกว่าตามที่ควรโปรดเข้าใจว่า อัตรา 36% นี้ยัง ต่ำกว่าระดับที่จำเป็น เพื่อแก้ไขความไม่สมดุลทางการค้าที่เรามีกับประเทศของท่าน อย่างที่ท่านทราบ หากประเทศไทย หรือบริษัทใดในประเทศของท่าน เลือกที่จะมาตั้งฐานการผลิตหรือประกอบสินค้าในสหรัฐอเมริกาจะไม่ต้องเสียภาษีใดๆ และเรายังจะช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องการอนุมัติด้านต่างๆ อย่างเต็มที่ ภายในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์

หากประเทศไทยเลือกที่จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าในอัตราใด เราจะเพิ่มอัตรานั้นเข้าไปใน 36% ที่เรากำหนดไว้แล้ว โปรดเข้าใจว่า การจัดเก็บภาษีนี้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อแก้ไขผลกระทบจากนโยบายภาษีและมิใช่ภาษีของไทยที่มีมานานหลายปี และนำไปสู่การขาดดุลการค้าในระดับที่ไม่อาจยอมรับได้ต่อเศรษฐกิจและแม้แต่ต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา

เราหวังว่าจะได้ทำงานร่วมกับท่านในฐานะพันธมิตรทางการค้าต่อไปอีกหลายปี หากประเทศไทยประสงค์จะเปิดตลาดการค้าที่เคยปิดไว้ต่อสหรัฐอเมริกา และยกเลิกนโยบายกำแพงภาษี รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าอื่นๆ เราอาจพิจารณาปรับเงื่อนไขในจดหมายฉบับนี้ ทั้งนี้ อัตราภาษีดังกล่าว สามารถปรับเพิ่มหรือลดได้ ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเรา สหรัฐอเมริกาจะไม่ทำให้ท่านผิดหวัง ขอบคุณสำหรับความใส่ใจในเรื่องนี้ ด้วยความปรารถนาดีอย่างยิ่ง ลงนามโดย โดนัลด์ เจ. ทรัมป์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง