นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า รายการ “ชุดไทย: ความรู้ งานช่างฝีมือ และแนวปฏิบัติการแต่งกายชุดไทยประจำชาติ” (Chud Thai: The Knowledge, Craftsmanship and Practices of the Thai National Costume) ได้รับการบรรจุเข้าสู่กระบวนการพิจารณาขององค์การยูเนสโก เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ในการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลสมัยที่ 21 ในปี 2569
การเสนอดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายส่งเสริม Soft Power และการอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไทย โดย “ชุดไทยพระราชนิยม” ได้รับการขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระดับชาติแล้วตั้งแต่ปี 2566 และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ให้เสนอขึ้นทะเบียนในระดับนานาชาติ
“ชุดไทย” เป็นเครื่องแต่งกายที่สะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นไทย ถ่ายทอดงานช่างฝีมือจากหลากหลายภูมิภาค ผ่านลวดลาย เทคนิคการตัดเย็บ และการใช้ผ้าไทยในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะ “ชุดไทยพระราชนิยม” ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชดำริให้ฟื้นฟูและออกแบบขึ้นในปี 2503 เพื่อใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ โดยสะท้อนภาพลักษณ์ไทยสู่สายตานานาชาติ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนในโอกาสต่าง ๆ เช่น งานพระราชพิธี งานแต่งงาน และงานมงคลทั่วไป
สำหรับกระแสข่าวในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับรายงานว่ากัมพูชาเตรียมเสนอ “ประเพณีแต่งงาน” ขึ้นทะเบียนยูเนสโก และอ้างว่าจะมีการสอดแทรก “ชุดไทย” ในรายการนั้น วธ. โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ตรวจสอบแล้ว พบว่าไม่เป็นความจริง รายการที่กัมพูชากำลังจัดเตรียมเสนอคือ “Traditional Khmer Wedding” ซึ่งเป็นวัฒนธรรมในบริบทของกัมพูชาโดยเฉพาะ ไม่มีเนื้อหาหรือการอ้างอิงถึงชุดไทยแต่อย่างใด
การเสนอขึ้นทะเบียนกับยูเนสโกไม่ได้เป็นการแสดงความเป็นเจ้าของเหนือวัฒนธรรมใด แต่เป็นการยืนยันการสืบทอดคุณค่าทางวัฒนธรรมในชุมชน และยูเนสโกส่งเสริมให้ประเทศต่าง ๆ เสนอวัฒนธรรมของตนด้วยความโปร่งใส บนพื้นฐานของความร่วมมือและการเคารพความหลากหลาย เช่น การเสนอ “ชุดเคบายา” ร่วมกันของ 5 ประเทศ หรือการเสนอ “โขน” ของไทย และ “ลครโขล” ของกัมพูชา แยกกันในปี 2561
กระบวนการของยูเนสโกมีความละเอียดรอบคอบ ยึดหลักความโปร่งใส และส่งเสริมมิตรภาพระหว่างประเทศ การเสนอชุดไทยครั้งนี้จึงเป็นการสืบสานมรดกวัฒนธรรมของไทย สู่การยอมรับในระดับนานาชาติ ด้วยความเข้าใจ ความสร้างสรรค์ และการอยู่ร่วมกันอย่างสง่างามของมนุษยชาติ
กระทรวงวัฒนธรรมเชิญชวนประชาชนร่วมส่งแรงสนับสนุนการขึ้นทะเบียน “ชุดไทย” ในปี 2569 และ “มวยไทย” ในปี 2571 ให้ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ด้วยความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมไทย และความเข้าใจในบริบทสากล เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของไทยในเวทีโลกอย่างสร้างสรรค์