การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 58 ที่มาเลเซีย เน้นย้ำความร่วมมือเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ

นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 58 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 8 – 11 กรกฎาคม 2568 โดยมีรัฐมนตรีต่างประเทศจากประเทศสมาชิกอาเซียนและติมอร์-เลสเตเข้าร่วม โดยในการประชุมแบบเต็มคณะ (Plenary Session) ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าและผลการดำเนินการในประเด็นสำคัญที่เคยหารือร่วมกัน อาทิ การเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนแบบเต็มรูปแบบของติมอร์ – เลสเตในเดือนตุลาคม 2568 การเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 47 และการดำเนินความสัมพันธ์กับภาคีภายนอก รวมถึงเน้นย้ำการรักษาความเป็นเอกภาพและความเป็นแกนกลางของอาเซียน การเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและแสวงหาแนวทางการเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนภายในอาเซียนให้เพิ่มมากขึ้น และปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของภูมิภาคและเป็นประเด็นที่ไทยผลักดัน ในส่วนของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (Retreat Session) ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาและความคืบหน้าการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นสำคัญในภูมิภาคและระหว่างประเทศ อาทิ สถานการณ์ในตะวันออกกลาง และคาบสมุทรเกาหลี

ในการประชุมครั้งนี้ นายมาริษ ได้ผลักดันความร่วมมือเพื่อรับมือกับภัยคุกคามในภูมิภาค อาทิ ความมั่นคงของมนุษย์ อาชญากรรมออนไลน์ การพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ รวมถึงเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อรับมือกับสถานการณ์โลกที่ผันผวน และการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคภายใต้มุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP)

นายมาริษ ได้เข้าร่วมพิธีลงนามภาคยานุวัติสาร (เป็นการเข้าร่วมสนธิสัญญาภายหลัง) เข้าเป็นอัครภาคีสนธิสัญญา (สัญญาระดับสูงที่มีความสำคัญ) มิตรภาพและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia: TAC) ของแอลจีเรียและอุรุกวัย ซึ่งจัดขึ้นในช่วงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งที่ 58 ทั้งนี้ สนธิสัญญา TAC มีหลักการส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค โดยเน้นการระงับข้อพิพาทอย่างสันติ และเปิดให้ประเทศนอกอาเซียนที่ประสงค์จะขยายความสัมพันธ์กับอาเซียนสามารถเข้าเป็นอัครภาคีของสนธิสัญญา TAC ได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีประเทศที่ได้ลงนามเข้าร่วมเป็นอัครภาคี TAC แล้ว 57 ประเทศ โดยแอลจีเรียและอุรุกวัยร่วมลงนามเป็นประเทศที่ 56 และ 57

นายมาริษ เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้ได้เน้นย้ำถึงประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นในภูมิภาค โดยเฉพาะข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ ที่แม้ว่าหลายประเทศจะไม่ได้เป็นรัฐที่อ้างสิทธิ์ครอบครอง (Claimant States) ในพื้นที่ดังกล่าว แต่ที่ประชุมเห็นพ้องว่าสิ่งสำคัญประเทศสมาชิกอาเซียนควรยึดถือร่วมกัน คือหลักการสัญจรในพื้นที่บริเวณนี้อย่างมีเสรีภาพ รวมทั้งสนับสนุนการผลักดันให้อาเซียนและสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มีแนวทางปฏิบัติร่วมกันโดยเร็วที่สุด เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในทะเลจีนใต้ เนื่องจากเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียนโดยรวม

นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำถึงโอกาสอันดีที่ได้หารือทวิภาคีกับประเทศต่างๆ ผ่านการประชุมครั้งนี้ โดยเฉพาะประเทศจากนอกภูมิภาคอาเซียนอย่างนอร์เวย์ ซึ่งจากการหารือกับนาย Andreas Motzfeldt Kravik รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศนอร์เวย์ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การเพิ่มการลงทุนของ Sovereign Wealth Fund (กองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐที่ลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน) ของนอร์เวย์ในไทย ผ่านความร่วมมือสาขาต่างๆ เช่น ด้านความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานทดแทนและการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว ซึ่งนอร์เวย์เห็นความสำคัญของไทย และต้องการขยายความร่วมมือระหว่างกันทั้งในกรอบอาเซียน และกรอบทวิภาคีระหว่างกัน ให้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

นายมาริษ  เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน – จีน ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 58 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยมีนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ซึ่งประเทศมาเลเซียในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุม หวังว่าความร่วมมือระหว่างจีนและอาเซียนจะแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น และแสดงความมุ่งมั่นที่ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดจะทำงานร่วมกับจีน เพื่อผลักดันความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น นำผลประโยชน์มาสู่ประชาชนในภูมิภาค

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงแนวทางการส่งเสริมความร่วมมืออาเซียน – จีน ภายใต้ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยไทยได้ผลักดันประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ ได้แก่ การรับมือกับภัยคุกคามข้ามพรมแดน โดยเฉพาะอาชญากรรมข้ามชาติและการหลอกลวงทางออนไลน์ การบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว และการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระดับประชาชน รวมทั้งได้เน้นย้ำบทบาทสำคัญของจีนต่อการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศมหาอำนาจ

ด้านนายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยถึงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน – จีน ในครั้งนี้ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือใน 4 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย 1. ทุกชาติสมาชิกอาเซียนแสดงความยินดีที่จีนจะลงนามภาคยานุวัติในสนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยไม่มีข้อสงวน ซึ่งจีนจะเป็นประเทศแรกที่จะลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว และที่ประชุมหวังให้เกิดขึ้นภายในปีนี้ 2. ที่ประชุมได้ยืนยันถึงการสนับสนุนการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติและการค้ามนุษย์ 3. การยกระดับเขตการค้าเสรี FTA อาเซียน – จีน 3.0 และ 4. การฉลองความสัมพันธ์ อาเซียน – จีน ในปีหน้า นอกจากนี้ระหว่างการประชุมไทยได้ผลักดันประเด็น    ต่างๆ เช่น เศรษฐกิจสีเขียวระหว่างจีนและอาเซียน และการเพิ่มระดับความสัมพันธ์ในระดับประชาชน ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้นำประเด็นมาตรการภาษีนำเข้าสินค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ขึ้นมาหารือ ซึ่งทุกประเทศสมาชิกเห็นตรงกันว่าถึงเวลา
ที่อาเซียนควรมีความร่วมมือเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง

นายมาริษ ยังได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน – แคนาดา (ASEAN Post-Ministerial Conference with Canada) ซึ่งจากการประชุมนี้ไทยผลักดัน 3 ด้าน ประกอบด้วย 1. ความร่วมมือทางเศรษฐกิจผ่านการจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – แคนาดา (ACAFTA) และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล 2. การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเน้นความร่วมมือด้านพลังงานสะอาดและหมุนเวียน เกษตรอัจฉริยะ และการเงินสีเขียว และ 3. ความมั่นคงของมนุษย์ อาทิ การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะการหลอกลวงทางออนไลน์

จากนั้นได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน – ออสเตรเลีย ซึ่งได้มีการติดตามความคืบหน้าของความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลีย โดยเฉพาะผลลัพธ์สำคัญสืบเนื่องจากการประชุมสุดยอดอาเซียน – ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ฯ เมื่อปี 2567 และแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการตามความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านอาเซียน – ออสเตรเลีย ค.ศ. 2025 – 2029 พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับประเด็นในภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยไทยผลักดันการกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคงกับออสเตรเลียในทุกมิติ โดยเฉพาะการส่งเสริมความมั่นคงด้านภูมิรัฐศาสตร์พหุภาคีนิยม ระบบการค้าพหุภาคีที่มีกติกายอมรับร่วมกัน ความมั่นคงทางไซเบอร์ พลังงาน อาหาร และความมั่นคงของมนุษย์ โดยเฉพาะสาธารณสุขและการศึกษาและยังได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน – นิวซีแลนด์ ที่ประชุมหารือแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือและการเตรียมการฉลองครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับนิวซีแลนด์ ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นในภูมิภาคและระหว่างประเทศ ขณะที่ไทยสนับสนุนการสถาปนาการเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านระหว่างอาเซียนกับนิวซีแลนด์ รวมถึงผลักดันการกระชับความร่วมมือกับนิวซีแลนด์ เพื่อร่วมกันสร้างประชาคมแห่งสันติภาพ ความมั่งคั่ง และผาสุก โดยเน้นความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ ระบบการค้าพหุภาคีที่มีกติกายอมรับร่วมกัน และการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข การศึกษา และวาระสีเขียว

จากนั้น นายมาริษ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน – อินเดีย ซึ่งไทยผลักดันความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับอินเดีย ดังนี้ 1. การส่งเสริมความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ (Realizing seamless connectivity) ทั้งด้านกายภาพ กลไก และความสัมพันธ์ระดับประชาชน 2. การบูรณาการทางเศรษฐกิจ (Advancing economic integration) ซึ่งรวมถึงการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างภูมิภาค 3. การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล (Moving towards digitalization) ซึ่งรวมถึงการแก้ปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ และ4. การเจริญเติบโตสีเขียว (Advancing green growth) และการพัฒนาที่ยั่งยืน

ต่อจากนั้นได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน – ญี่ปุ่น ซึ่งที่ประชุมหารือแนวทางส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านอาเซียน – ญี่ปุ่น รวมถึงแลกเปลี่ยนทรรศนะต่อสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ ขณะที่ไทยได้ชูประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์อาเซียน – ญี่ปุ่น ได้แก่ วาระสีเขียวและพลังงานทางเลือก การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล การส่งเสริมความปลอดภัยทางไซเบอร์และการส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์โดยเน้นความร่วมมือด้านสาธารณสุขและการพัฒนาที่ยั่งยืน

วันเดียวกันนี้ยังได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน – รัสเซีย โดยมีนายจ่อ ยุน อู อธิบดีกรมองค์การและเศรษฐกิจระหว่างประเทศและรักษาการปลัดกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา และ
นายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย เป็นประธานร่วม ที่ประชุมยินดีกับความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการร่วมอาเซียน – รัสเซีย ค.ศ. 2021 – 2025 อย่างครอบคลุม และให้การรับรองแผนปฏิบัติการฯ ฉบับใหม่ ค.ศ. 2026 – 2030 เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในด้านความมั่นคง สันติภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังหารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และดิจิทัล โดยเฉพาะการต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ ภัยคุกคามทางไซเบอร์ และการหลอกลวงออนไลน์ นอกจากนี้ ที่ประชุมสนับสนุนความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) และการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) รวมถึงย้ำความสำคัญของการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนและความร่วมมือด้านมนุษยธรรมในสาขาสาธารณสุข การศึกษา และการแลกเปลี่ยนเยาวชน โดยไทยมีกำหนดเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะทำงานอาเซียน – รัสเซีย ด้านการศึกษา ครั้งที่ 3 ที่กรุงเทพฯ ภายในปีนี้ ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญในการเตรียมความพร้อมสู่การเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปีของความสัมพันธ์คู่เจรจาอาเซียน – รัสเซียในปี 2569 ด้วย

จากนั้น นายมาริษ ได้เป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี ร่วมกับนายพัก ยุนจู ปลัดกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเกาหลีคนที่ 1 ซึ่งไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์ฯ วาระปี 2567 – 2570 ได้กล่าวถ้อยแถลงในนามอาเซียนเพื่อส่งเสริมความร่วมมืออาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี ภายใต้ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน และชูบทบาทไทยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกในปัจจุบัน โดยได้ผลักดันประเด็นความร่วมมือสำคัญ ได้แก่ 1. เศรษฐกิจสร้างสรรรค์ และ Soft Power 2. เศรษฐกิจดิจิทัลและการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล และ 3. ความมั่นคงของมนุษย์ในมิติการพัฒนาที่ยั่งยืนและการส่งเสริมสังคมสูงวัยอย่างมีศักยภาพ ที่ประชุมได้รับรองแผนดำเนินการเพื่อดำเนินความร่วมมือหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี (ค.ศ. 2026 – 2030) และแลกเปลี่ยนทรรศนะเกี่ยวกับประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ ซึ่งไทยสนับสนุนบทบาทของสาธารณรัฐเกาหลีในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค

นอกจากนี้ ยังมีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง – ญี่ปุ่น (Mekong – Japan Cooperation: MJ) ครั้งที่ 16 ประเทศสมาชิกรับทราบความคืบหน้าของการดำเนินความร่วมมือตามยุทธศาสตร์กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น ค.ศ. 2024 (Mekong – Japan Cooperation Strategy 2024) และยืนยันความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยนายมาริษ ได้ย้ำความสำคัญของความร่วมมือในประเด็นความท้าทายร่วมที่เร่งด่วนของอนุภูมิภาค ได้แก่ 1. การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามพรมแดน รวมถึงการจัดการกับปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ 2. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ รวมถึงการแก้ไขปัญหาสารปนเปื้อนในแม่น้ำ และ 3. การแก้ไขปัญหาฝุ่น หมอกควัน และมลพิษข้ามพรมแดน และไทยยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือสำหรับการเปลี่ยนผ่านสีเขียว (green transition) ซึ่งญี่ปุ่นให้ความสำคัญและมีความเชี่ยวชาญ ตลอดจนได้ย้ำบทบาทของยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy หรือ ACMECS) ในฐานะ “จุดเชื่อมต่อ” (connector) ที่สามารถเชื่อมโยงและประสานความร่วมมือระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับกรอบความร่วมมือต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิผลของการดำเนินความร่วมมือในอนุภูมิภาคด้วย

จากนั้นยังมีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน – สหรัฐฯ (ASEAN Post-Ministerial Conference with the U.S.) ซึ่งไทยผลักดันความร่วมมือ ดังนี้ 1. ย้ำศักยภาพของอาเซียนในฐานะศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลระดับโลก โดยอาเซียนมุ่งเจรจากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัล (ASEAN Digital Economy Framework Agreement) ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ 2. ยืนยันความพร้อมของไทยและอาเซียนในการหารือเรื่องการค้ากับสหรัฐฯ อย่างตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมระบบการค้าที่เปิดกว้างและยั่งยืน 3. ส่งเสริมความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการรับมืออาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะการหลอกลวงทางออนไลน์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนทั้งสองฝ่าย และบั่นทอนความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจดิจิทัล

นอกจากนี้ ยังมีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนบวกสาม ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี (APT FMM : ASEAN Plus Three Foreign Ministers’ Meeting) ครั้งที่ 26 ที่ประชุมเน้นย้ำบทบาทสำคัญของ APT และหารือแนวทางเพื่อส่งเสริม APT ในฐานะกลไกความร่วมมือเฉพาะด้านที่เป็นรูปธรรมในการรับมือกับความท้าทายภายในภูมิภาค ขณะที่ไทยได้ชูประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือภายใต้ APT ได้แก่ เศรษฐกิจดิจิทัลและการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล ความมั่นคงทางการเงิน และความมั่นคงของมนุษย์ โดยเน้นความร่วมมือด้านสาธารณสุข การพัฒนาที่ยั่งยืน และความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงย้ำความจำเป็นของความร่วมมือในการต่อต้านอาชญากรรมทางไซเบอร์และการหลอกลวงทางออนไลน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง