“วราวุธ” กำชับ ศบปภ. ภาคกลาง พม. เตรียมความพร้อมดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติให้ครอบคลุมทุกมิติ

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการบริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติในพื้นที่ภาคกลาง และ 3 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมมอบนโยบายและข้อเสนอแนะในการบริหารดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ เนื่องจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีนายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวง พม. นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวง พม. พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงฯ และนายพิริยะ ฉันทดิลก ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เข้าร่วม

ในที่ประชุมมีการนำเสนอแผนบริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติระดับภาค โดยผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ (ผอ.สสว.) สสว.1 สสว.2 สสว.3 สสว.7 และการนำเสนอแผนบริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติระดับจังหวัด โดยพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ในพื้นที่ภาคกลาง จำนวน 25 จังหวัด (จังหวัดสุพรรณบุรี, นครปฐม, กาญจนบุรี, ราชบุรี, สมุทรสาคร, สมุทรสงคราม, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, ชัยนาท, สิงห์บุรี, ลพบุรี, อ่างทอง, พระนครศรีอยุธยา, ปทุมธานี, นนทบุรี, สระบุรี, นครนายก, สมุทรปราการ, ปราจีนบุรี, สระแก้ว, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี และตราด) และพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง จำนวน 3 จังหวัด (จังหวัดอุทัยธานี พิจิตร และนครสวรรค์)

นายวราวุธ กล่าวว่า นับเป็นโอกาสดีที่ได้มาเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการบริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติในพื้นที่ภาคกลาง และ 3 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง โดยที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่จังหวัดสงขลาในเดือนพฤศจิกายน 2567  จังหวัดเชียงใหม่ในเดือนธันวาคม 2567 และจังหวัดขอนแก่นในเดือนมีนาคม 2568 ซึ่งครั้งนี้ได้มาลงพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี โดยสถานการณ์และปัญหาเกี่ยวกับภัยพิบัติในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละพื้นที่

 สำหรับภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง มีลักษณะภูมิประเทศครอบคลุมพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และลำน้ำสาขาที่ไหลลงสู่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณกรุงเทพมหานคร ส่งผลให้ภาคกลางเป็นภูมิภาคที่มีความอุดมสมบูรณ์ และพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม ดินมีความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงมีการพัฒนาด้านระบบชลประทานเป็นหนึ่งในภูมิภาคเกษตรกรรมที่มีผลผลิตสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคนี้เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมบ่อยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย (ข้อมูลตามแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (Thailand’s National Adaptation Plan : NAP) และพบว่าในพื้นที่ภาคกลางมีการแบ่งสถานการณ์น้ำท่วมออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงแรกระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ช่วงที่สอง ระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน มีกลุ่มเปราะบางที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของกระทรวง พม. อาศัยอยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย จำนวน 885,650 คน โดยมีผู้สูงอายุมากที่สุด จำนวน 638,407 คน รองลงมา ได้แก่ เด็ก จำนวน 114,592 คน คนพิการ จำนวน 108,609 คน และคนยากไร้ จำนวน 24,042 คน

 การจัดอันดับของดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ ประจำปี 2568 หรือ Climate Risk Index 2025 โดย Germanwatch (Germanwatch เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ตั้งอยู่ในประเทศเยอรมนี เป้าหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและยุติธรรม ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม) ได้จัดอันดับประเทศเสี่ยงสูงด้านสภาพภูมิอากาศระยะยาว โดยประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 30 ซึ่งลดลงจากอันดับ 9 ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีความถี่และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมากต่อชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรกลุ่มเปราะบาง มักจะได้รับผลกระทบมากกว่าคนกลุ่มอื่น ดังนั้น การบริหารจัดการภัยพิบัติทั้งในช่วงก่อนเกิด ระหว่างเกิด และหลังเกิดภัยพิบัติ จะต้องมองไปที่มิติของคนและสังคมมากขึ้น เพราะหากได้รับผลกระทบแล้ว จำเป็นที่จะต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูและใช้ทรัพยากรเป็นอย่างมาก ซึ่งการจัดทำแผนปฏิบัติการหรือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้กลุ่มคนเปราะบางที่ประสบภัยสามารถอยู่รอดและกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วจะทำให้ความสูญเสียมีน้อยลง เห็นได้จากสถานการณ์วิกฤตน้ำท่วมจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ในช่วงที่ผ่านมา เป็นบทเรียนที่สำคัญที่ต้องถอดบทเรียนในการเตรียมความพร้อมกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นต่อไป 

 ขณะนี้ กระทรวง พม. มีความคืบหน้าในการดำเนินงานในหลายๆ ด้าน ทั้งในเรื่องการแก้ไขปัญหากลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ และการเตรียมความพร้อมในการรับมือ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ

1) การจัดตั้งศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ (ศบปภ.) หรือ Disaster Care Center for the Vulnerable : DCCV เพื่อขับเคลื่อนงานให้ความช่วยเหลือ ดูแล และเยียวยากลุ่มเปราะบาง จากภัยพิบัติเชิงรุก ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือ การปรับตัว สำหรับกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ

2) เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 กระทรวง พม. ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ(MOU) “การบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ” เพื่อบูรณาการและขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้มีความพร้อมในการรับมือ รวมถึงการวางแผนระดับพื้นที่ และเชื่อมโยงการวางแผนตามแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

3) การขับเคลื่อนเชิงนโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยหน่วยงาน พม.

ในส่วนกลาง ได้ดำเนินงานมาระยะหนึ่งแล้ว ที่ผ่านมา พม. ได้ร่วมมือกับธนาคารโลก (World Bank) ขับเคลื่อนงานด้านมิติทางสังคมของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Social Dimensions of Climate Change) ในภาพรวมได้เห็นสอดคล้องกันว่า บทบาทของกระทรวง พม. จะไม่เพียงอยู่ในช่วงของการช่วยเหลือฟื้นฟูเท่านั้น แต่จะต้องสามารถสนับสนุนข้อมูลให้แก่จังหวัด ด้วยการชี้เป้าได้ว่ากลุ่มเปราะบางที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัตินั้น คือใคร อาศัยอยู่ที่ไหน และจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือเฉพาะในเรื่องใดบ้าง เพื่อให้สามารถจัดลำดับในการช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที

 กระทรวง พม. ให้ความสำคัญกับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติต่อกลุ่มเปราะบาง แต่มิได้จะละเลยการช่วยเหลือดูแลประชากรกลุ่มอื่นๆ โดยกลุ่มเปราะบางเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อสภาพภูมิอากาศ (Climate risk) มากกว่า เพราะมีการเปิดรับต่อภัย (Exposure) และความอ่อนไหวต่อผลกระทบ (Sensitivity) มากกว่ากลุ่มคนทั่วไป ขณะเดียวกันศักยภาพในการปรับตัว (Adaptive capacity) ก็น้อยกว่าอีกด้วย กระทรวง พม. จึงให้ความสำคัญกับกลุ่มคนดังกล่าวเป็นพิเศษ และเป็นการทำงานที่คำนึงถึงความเป็นธรรมทางภูมิอากาศ (Climate justice)

 สำหรับการจัดการภัยพิบัติและการช่วยเหลือดูแลประชาชน โดยบทบาทหน้าที่ของกระทรวง พม. ได้ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนในแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 สนับสนุนการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน 6 (สปฉ. 6) ที่เกี่ยวข้องกับส่วนงานสวัสดิการสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ครอบคลุมในเรื่องการประสานงานและสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว การแจกจ่ายสิ่งของจำเป็นแก่ผู้ประสบภัย การสังคมสงเคราะห์ การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสวัสดิการด้านสาธารณภัย การวางแผนให้ความช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย การดูแลบุคคลที่ต้องได้รับการดูแลเป็นกรณีพิเศษ การฟื้นฟูด้านสังคมและจิตใจ การให้บริการสาธารณกุศล การกำหนดแนวทางช่วยเหลือผู้ว่างงานเนื่องจากการเกิดสาธารณภัย การช่วยเหลือเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครที่พิการ เจ็บป่วย หรือบาดเจ็บจากการปฏิบัติงานขณะเกิดภัย ซึ่งในรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินงาน หน่วยงาน พม. ในพื้นที่จะต้องมีการจัดทำแผนบริหารจัดการในส่วนที่เป็นการดำเนินงานและการประสานงานกับหน่วยงานอื่น และภาคส่วนต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม

 นายวราวุธ กล่าวย้ำว่า การขับเคลื่อนศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ (ศบปภ.) กระทรวง พม. เพื่อช่วยแก้ไขปัญหากลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ เนื่องจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีความก้าวหน้าไปมากในหลายด้าน ทั้งเรื่องข้อมูลกลุ่มเปราะบางและแผนรับมือภัยพิบัติ  ซึ่งกระทรวง พม. ได้จัดทำแผนบริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติระดับประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีการเชื่อมโยงไปสู่การจัดทำแผนในระดับภาค ระดับจังหวัด ได้ขอให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ทุกจังหวัด นำเสนอแผนบริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติระดับจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ ได้นำเสนอแผนบริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติระดับภาค เพื่อที่ประชุมได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฯ และใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการบริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้ติดตามสถานการณ์ พายุโซนร้อน “วิภา” ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า มีจุดศูนย์กลางอยู่บริเวณด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ คาดว่าจะเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนตอนบน ช่วงวันที่ 19 – 22 กรกฎาคม หลังจากนั้นจะเคลื่อนตัวเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศจีนตอนใต้หรือประเทศเวียดนามตอนบน และจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำเมื่อเคลื่อนขึ้นฝั่ง และอาจเคลื่อนตัวตามแนวร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือของประเทศไทย อาจทำให้มีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคกลางด้านตะวันตก ซึ่งได้ประสานจังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ให้เตรียมพร้อมทีมเผชิญเหตุและเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง

อธิบดี ปภ. ระบุว่า ในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ ปภ. จะเปิด War Room ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์พายุโซนร้อน “วิภา” ที่ห้องกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อติดตามประเมินสถานการณ์ และวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัย และวันที่ 21 กรกฎาคม ทีม ปภ. จะลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์ร่วมกับจังหวัดภาคเหนืออย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ปภ. ได้แจ้งเตือนไปยัง 43 จังหวัดให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม น้ำล้นตลิ่ง ในช่วงวันที่ 19 – 24 กรกฎาคมนี้ โดยให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ภัยจากภาวะ
ฝนตกหนักที่อาจเกิดขึ้นด้วย พร้อมกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ และสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อเข้าเผชิญเหตุและให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์และข่าวสารสาธารณภัย ได้ทางช่องทางสื่อสารของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

  • Facebook กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPMX@DDPMNews แอปพลิเคชัน THAI DISASTER ALERT
  • แจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” เพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM
  • สายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง