อธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยัน 7 มิถุนายนนี้ พร้อมฉีดวัคซีนให้คนไทยและชาวต่างชาติทุกคน ตั้งเป้าฉีดให้ได้อย่างน้อย 50 ล้านคน เพื่อสร้างความปลอดภัยหมู่ให้เกิดขึ้นแก่ประเทศและเดินหน้าด้านเศรษฐกิจ-สังคม ย้ำวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า-ซิโนแวค สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป และได้รับการรับรองจาก อย.และองค์การอนามัยโลกแล้ว
ตั้งเป้าฉีดให้ได้อย่างน้อย 50 ล้านคน
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงแผนการกระจายและการฉีดวัคซีน กล่าวว่า ในวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ศบค.และกระทรวงสาธารณสุขจะกระจายการฉีดวัคซีนและแผนการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ บนเป้าหมายสำคัญคือภายในปี 2564 คนไทยหรือต่างชาติที่สมัครใจทุกคนจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยไม่คิดมูลค่า แต่ถ้าฉีดวัคซีนเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าประเทศจะปลอดภัย และเดินหน้าต่อได้ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม จะต้องฉีดวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 50 ล้านคน ภายใต้ 3 ปัจจัยดังนี้คือ
1.ต้องจัดการหาวัคซีนให้เพียงพอกับความต้องการ
2. เมื่อมีวัคซีนแล้ว ความต้องการในการฉีดต้องสมดุลกัน
3. ต้องมีจุดฉีดวัคซีนทั่วประเทศ บางจุดฉีดเป็นหมื่นคน หรือมากกว่าหมื่นคน
4.ระบบติดตามข้อมูลและประมวลผล หลังฉีดวัคซีน
เร่งจัดหาวัคซีนให้ได้ 150 ล้านโดสในปี 64-65
อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 2564 ประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนซิโนแวคครั้งแรก ตามด้วยการฉีดวัคซีนในเดือนมีนาคม เมษายนและจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม รวมแล้วเราฉีดวัคซีนไปแล้ว 3,644,859 โดส ถ้าเทียบจนถึงวันนี้ก็คงได้ฉีดวัคซีนไปแล้ว 4 ล้านโดสแล้ว โดย กทม.ฉีดไปแล้ว 1 ล้านโดส ซึ่งช่วยให้ชะลอและลดการแพร่ระบาดได้ในระดับหนึ่ง และในปี 2564 นายกรัฐมนตรีต้องการให้จัดหาวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดส และในปี 2565 ให้จัดหาวัคซีนเพิ่มอีก 50 ล้านโดส รวมเป็น 150 ล้านโดส เพราะอาจจะต้องฉีดวัคซีนเพิ่มอีกเข็มเพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทาน หรือถ้าวัคซีนกลายพันธุ์ ดังนั้น ไม่ว่างบประมาณปี 2565 จะเป็นอย่างไร รัฐบาลก็จะจัดหาวัคซีนมาไว้เพื่อรองรับการฉีดให้กับประชาชน อาจจะเป็นงบประมาณจากเงินกู้หรืองบกลาง
จ่อเซ็นสัญญาจองซื้อไฟเซอร์-จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ในวัคซีน 100 ล้านโดสนี้ มีการจัดหาวัคซีนซิโนแวคแล้ว 6 ล้านโดส และมีการลงนามในสัญญากับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ในประเทศไทย อีก 61 ล้านโดส ซึ่งขณะนี้ได้ส่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า มาแล้ว 2 ล้านโดส รวมแล้ว 67 ล้านโดส (ซิโนแวค 6 ล้านโดส+แอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส) ดังนั้น ในปี 2564 นี้ เรายังขาดอยู่อีกเพียง 33 ล้านโดส ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายในการจัดหาเพิ่มเติม ซึ่งล่าสุดคาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะได้ลงนามในสัญญาคำสั่งจองการจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์และวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จากทั้งสองแห่งนี้รวมกันน่าจะได้วัคซีนประมาณ 25 ล้านโดส และวัคซีนจากซิโนแวคเพิ่มอีกอย่างน้อย 8 ล้านโดส รวมกันก็ 33 ล้านโดส
มิถุนายนปูพรมฉีดวัคซีนทุกสัปดาห์
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวด้วยว่า ส่วนการกระจายวัคซีนโควิด-19 ยังคงเป็นในรูปแบบภาวะฉุกเฉินทั่วโลกและมีการระบาดทั่วโลก กระบวนการในการกระจายวัคซีนจึงเป็นไปในรูปแบบ เมื่อผลิตครบก็ส่งมอบและรับวัคซีน ซึ่งแผนการรับมอบวัคซีนก็จะมีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ในทุกสัปดาห์ แต่แผนหลักที่จะมีการฉีดในเดือนมิถุนายนนี้ รมว.สธ.ให้นโยบายไว้ว่าให้กระจายวัคซีนอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยทุกสัปดาห์ และถ้าได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าแล้วก็ให้ฉีดอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ วานนี้ (4 มิ.ย.)ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามาแล้ว 1.8 ล้านโดส จากก่อนหน้านี้เคยได้รับมา 2 แสนโดส รวมเป็น 2 ล้านโดส และได้กระจายวัคซีนซิโนแวคจำนวน 1.5 ล้านโดส ไปตามจังหวัดต่าง ๆ เพิ่มเติมมากขึ้น ฉะนั้น วันที่ 7 มิ.ย. 2564 เป็นต้นไป จะมีการฉีดวัคซีน 3,540,000 โดส และกระจายไปตามจังหวัดต่าง ๆ สัปดาห์ถัดไป และในสัปดาห์ที่ 3 จะต้องมีการฉีดอย่างน้อย 840,000 โดส และสัปดาห์ที่ 4 ฉีดเพิ่มอีก 2,580,000 โดส ฉะนั้น ในภาพรวมเดือน มิ.ย. ก็จะมีการฉีดวัคซีนมากกว่า 6 ล้านโดส ซึ่งเป็นไปตามแผนของ ศบค. ร่วมกับ สธ.ได้วางระบบไว้ และคาดว่าปลายเดือน มิ.ย. นี้น่าจะฉีดได้อีก 10 ล้านโดส ซึ่งจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ไม่มากก็น้อย
ยืนยัน ! กระจายวัคซีนทุกจังหวัด โดยจัดสรรตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
นายแพทย์โอภาส กล่าวด้วยว่าวัคซีน 6 ล้านโดสนี้ จะกระจายไปจังหวัดต่าง ๆ ดังนี้
1. แต่ละจังหวัดต้องมีวัคซีนซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า สำหรับฉีดประชาชน โดยต้องหารเฉลี่ยตามพื้นฐานของประชากร
2.จังหวัดที่มีการระบาดอย่างรุนแรง เช่น กทม.และปริมณฑล(นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ) หรือจังหวัดเพชรบุรี ก็จะมีการฉีดเสริมวัคซีนเพิ่มไป จากเดิม กทม.ฉีดได้ 1 ล้านโดส และตามแผนคือเดือน มิ.ย. ต้องฉีดอย่างน้อย 2.5 ล้านโดส หรือเมื่อมีสถานการณ์การระบาดที่รวดเร็ว จังหวัดที่มีระบาดเพิ่ม ก็จะมีแผนเพิ่มเติมเข้าไป หรือบางกลุ่มเป้าหมายที่เกิดการระบาด เช่น ในเรือนจำ ก็ต้องจัดวัคซีนไปเสริมเพื่อควบคุมโรค
3.จังหวัดกลุ่มเป้าหมายเป็นพิเศษ เช่น เรื่องการท่องเที่ยว อย่างจังหวัดภูเก็ต ก็มีประชาชนฉีดวัคซีนเกิน 50% เพื่อรองรับการเปิดประเทศ และรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและคนไทย หรือในกรณีกลุ่มแรงงานต่างด้าว เช่น จังหวัดชลบุรี ระยอง และตาก เป็นต้น
4.กลุ่มแรงงาน ผู้ประกันตน ให้สามารถประกอบกิจกรรม ก็ให้ประกันสังคมจัดสรรฉีดวัคซีนให้จำนวน 1 ล้านโดส สำหรับประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมาย (อายุ 60 ปีขึ้นไปและกลุ่มเสี่ยง 7 โรคร้าย) ที่ลงทะเบียนการฉีดวัคซีนด้วยการจองผ่านแอปฯ หมอพร้อม ยืนยันว่าในวันที่ 7-9 มิ.ย. นี้ ทุกคนที่ลงทะเบียนไว้จะได้รับการฉีดวัคซีนอย่างแน่นอน ก็ขอให้ไปติดต่อ รพ.ใกล้บ้านที่จองไว้
ทุกจุดฉีดวัคซีนต้องมีแพทย์กำกับดูแล
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวด้วยว่า แผนการกระจายวัคซีนตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย. เป็นต้นไป พบว่ามียอดจัดสรรให้ กทม.อีก 1 ล้านโดส และกลุ่มประกันสังคมได้โควตา 1 ล้านโดส รวมเป็น 2 ล้านโดส และจะมีการฉีดวัคซีนในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อีก 5 แสนโดส รวมเป็น 2,500,000 โดส ในพื้นที่ กทม. ซึ่งได้รับการจัดวัคซีนที่เพียงพอ
ส่วนจุดฉีดวัคซีนต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์และสถานพยาบาลเท่านั้น หรือจุดฉีดนอกกำกับดูแลแต่เป็น รพ.เอกชน แต่ทั้งนี้ทุกจุดฉีดต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ และพยาบาล มีมาตรการที่กำหนดให้มีการคัดกรอง การยินยอม และการสังเกตอาการ มีระบบติดตาม 30 วัน ซึ่งขณะนี้ 993 จุดในต่างจังหวัด และใน กทม.มีอย่างน้อย 25 จุด และประกันสังคมมี 25 จุด และในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เป็นมหาวิทยาลัยหลักอีก 11 มหาวิทยาลัย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.เกษตรศาสตร์ ม.มหิดล เป็นต้น ซึ่งจะมีโควตาฉีดวัคซีนประมาณ 5 แสนคน ซึ่งจะรวมทั้งบุคลากรของมหาวิทยาลัยและประชาชนที่อยู่รอบ ๆ พื้นที่ด้วย
ยึดแผนการฉีดตามมติคณะกรรมการโรคติดต่อ
นอกจากนี้ ยังมีจุดฉีดกลางอีก 10 แห่ง เช่น สถานีกลางบางซื่อ สถาบันราชานุกูล ซึ่งเป็นจุดฉีดเด็กพิเศษ เด็กด้อยโอกาส เด็กพิการ ศูนย์การแพทย์บางรัก ที่จะฉีดทูตและบรรดาทูตานุทูต แต่ละจุดฉีดก็จะมีการปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม โดยให้ติดตามข้อมูลจากคณะกรรมการโรคติดต่อ โดยในส่วนของ กทม. ให้ติดตามจากคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. ส่วนในต่างจังหวัด ก็ให้ติดตามจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดของจังหวัดนั้น ๆ โดยในส่วนกลางและ ศบค.จะมีการติดตามแบบรายวันและปรับเลี่ยนให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ส่วนในต่างจังหวัด การกำหนดเป้าหมายการฉีดวัคซีนจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ บริหารจัดการเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน โดยนำแผนนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้เป็นตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่าวันที่ 7 มิ.ย. นี้ วัคซีนพร้อม จุดฉีดมีพร้อม
อธิบดีกรมควบคุมโรค ย้ำด้วยว่า สำหรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีนซิโนแวคนั้น ล่าสุดได้ผ่านการพิจารณาของ อย. และองค์การอนามัยโลก (WHO) แล้วว่าเป็นวัคซีนฉุกเฉิน สามารถใช้ได้ทั่วโลก และคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการ ระบุว่าวัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้ให้ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป