การ “ฉีดวัคซีนผสมสูตร” หรือ แนวทางการฉีดวัคซีนโควิดสลับชนิดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันซึ่งหลายประเทศกำลังศึกษา รวมทั้งประเทศไทยกำลังจะนำแนวทางดังกล่าวมาใช้ และเมื่อวันที่ 12 ก.ค.64 คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้เห็นชอบให้ฉีดวัคซีนต่างชนิดร่วมกันได้ โดยผู้ได้รับวัคซีนซิโนแวคเข็มที่ 1 ให้ฉีดเข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า โดยฉีดเว้นระยะห่างกัน 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา

เหตุผลที่เลือกแนวทาง “ฉีดวัคซีนสลับชนิด”
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้คำตอบว่า “ปริมาณวัคซีนในไทยมีจำกัด” ทำให้ประชาชนได้รับวัคซีนน้อยกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ตั้งแต่เริ่มฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 28 ก.พ. จนถึงขณะนี้ยังฉีดได้ไม่ถึง 13 ล้านโดส นอกจากนี้ “ไวรัสมีการกลายพันธุ์ “ ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนที่ผลิตรุ่นแรกลดลง

การศึกษาวิจัย “วัคซีนสลับชนิด “
นพ.ยง บอกว่าได้ทำการศึกษาวิจัยรูปแบบการให้วัคซีนเพื่อเพิ่มภูมิต้านทาน ซึ่งการสลับชนิดของวัคซีนก็เป็นหนึ่งในแนวทางที่ศึกษา และพบว่าการให้วัคซีนเข็มแรกเป็นชนิดเชื้อตาย (วัคซีนของซิโนแวคและซิโนฟาร์ม) แล้วตามด้วยวัคซีนชนิดไวรัลเว็กเตอร์ (วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า) จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมาก ตามหลักการที่ว่า “ฉีดวัคซีนเชื้อตายก่อน เปรียบเสมือนการทำให้ร่างกายเราติดเชื้อ และไปสอนนักรบหรือหน่วยความจำของร่างกายเอาไว้ หลังจากนั้นอีกประมาณ 3-4 สัปดาห์ จึงกระตุ้นด้วยวัคซีนไวรัลเวกเตอร์ ที่มีอำนาจในการกระตุ้นเซลล์ร่างกายให้สร้างภูมิต้านทาน”

นพ. ยง เปิดเผยการติดตามผู้ได้รับวัคซีนมากกว่า 40 ราย ในระยะเวลา 1 เดือน ว่า
• ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ภูมิต้านทานสูงเท่ากับคนไข้ที่หายจากการติดเชื้อ ซึ่งยังไม่สูงพอที่จะสามารถป้องกันการติดเชื้อกลายพันธุ์ได้
• ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ภูมิต้านทานจะสูงเพียงพอป้องกันไวรัสที่กลายพันธุ์ได้ แต่ต้องใช้เวลาถึง 14 สัปดาห์
• ฉีดซิโนแวคเป็นเข็มที่ 1 และฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่ 2 ภูมิต้านทานขึ้นมาเกือบเท่ากับการฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม แต่ใช้เวลาน้อยกว่าคือเพียง 6 สัปดาห์
ในสถานการณ์การระบาดของโรคที่เป็นไปอย่างรุนแรง หรือรวดเร็วขนาดนี้ การฉีดวัคซีนสลับเข็มแล้วใช้เวลาเพียงแค่ 6 สัปดาห์…จึงน่าจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย
แล้วจะปลอดภัย ?
นพ.ยงกล่าวว่าจากการเก็บข้อมูลอาการข้างเคียงของผู้ที่ฉีดวัคซีนสลับชนิดในไทยมากกว่า 1,200 ราย ส่วนใหญ่ฉีดที่ รพ.จุฬาฯ ไม่พบผู้มีอาการข้างเคียงที่รุนแรง ก็เป็นเครื่องยืนยันข้อหนึ่งได้ว่า การให้วัคซีนสองอันนี้ที่สลับกันมีความปลอดภัย

แนะคนที่มีโรคร่วมไม่ควรรอ mRNA
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกผู้ผลิตวัคซีนกำลังเร่งพัฒนาวัคซีนเจเนอเรชั่น 2 ที่คาดว่าจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น และปลอดภัยกว่าเดิม คาดว่าวัคซีนที่ได้รับการพัฒนาจะเริ่มฉีดได้จริงต้นปีหน้า 2565 ตอนนี้ไม่อยากให้ประชาชนรอเลือกวัคซีนถึงจะฉีด เพราะในจำนวนคนป่วยของ รพ.ศิริราชที่เป็นผู้ป่วยหนัก ส่วนใหญ่ ได้รับวัคซีนแค่ 1 เข็ม ยังไม่ครบ 2 เข็ม บางคนก็ยังไม่รับวัคซีนเพราะอยากรอวัคซีนทางเลือก mRNA ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ทั้งที่ความจริงตนเองมีโรคร่วม ไม่ควรรอ เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง ควรฉีดวัคซีนก่อน จากนั้นค่อยฉีดกระตุ้นในภายหลังได้
“วิธีการจัดการกับสถานการณ์การแพร่ระบาดจากสายพันธุ์เดลต้า จะต้องเร่งลดโอกาสแพร่ระบาดของเชื้อ เร่งฉีดวัคซีนเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูง 7 กลุ่มโรค และกลุ่มผู้สูงอายุ ให้ได้มากและเร็วที่สุด”
WHO ชี้“เสี่ยง” ฉีดวัคซีนแบบผสม
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2021 ดร.โสมยา สวามีนาธาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวในการแถลงข่าวออนไลน์ว่า การสร้างภูมิคุ้มกันโดยจับคู่วัคซีนจากผู้ผลิตหลายรายมาผสมกัน ซึ่งหลายประเทศกำลังดำเนินการอยู่นั้น หากประชาชนเลือกฉีดเองจะมีความเสี่ยงเนื่องจากมีข้อมูลเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับประสิทธิภาพ ยกเว้นว่าการศึกษาของหน่วยงานด้านสาธารณสุขในแต่ละประเทศจะเพียงพอที่จะพิจารณาให้ทำได้
