นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุม ศบค. รับทราบแผนการณ์การนำโรคโควิด-19 เข้าสู่โรคประจำถิ่น ของกระทรวงสาธารณสุข โดยแบ่งเป็น 3 ระยะคือ ช่วงเดือน มีนาคม-เมษายน 2565 คือระยะที่ยังมีการติดเชื้อ ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2565 เป็นระยะที่การติดเชื้อทรงตัว และช่วงปลายเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2565 เข้าสู่ช่วงการติดเชื้อลดลง ซึ่งเป็นแผนตามที่คาดการณ์เอาไว้
โดยจะใช้มาตรการ 4 ด้านคือ ด้านสาธารณสุข ด้านการแพทย์ ด้านสังคมและด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ แต่จะสำเร็จได้นั้นก็ต้องขอความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งรัฐเอกชนและประชาชนในการดำเนินการจำกัดการติดเชื้อให้ลดลงโดยการปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
3 เป้าหมายปรับ COVID สู่โรคประจำถิ่น
1. เข้าถึงการรักษาได้รวดเร็ว มีคุณภาพ อัตราป่วยตายไม่เกินร้อยละ 0.1
2. วัคซีนเข็มกระตุ้น มากกว่าหรือเท่ากับ ร้อยละ 60
3. ประชาชนปรับตัวอยู่ร่วมกับโควิด จาก Pandemic(การระบาดใหญ่) สู่ Endemic(เฉพาะถิ่น)
ขณะที่ในช่วงเทศกาลที่จะถึงนี้ มีความเป็นห่วงโดยเฉพาะในเรื่องของการเดินทางของประชาชนกลับสู่ภูมิลำเนา ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 โดยขอเน้นย้ำในเรื่องของการงดการดื่มเครื่องดื่มมึนเมา การสูบบุหรี่ หรือการรวมกลุ่มกันโดยไม่จำเป็นให้น้อยที่สุด และในช่วงเทศกาลของดเว้นการจัดกิจกรรมรื่นเริงทุกประเภท อนุญาตให้เพียงแต่จัดกิจกรรมตามประเพณี งดการปะแป้งเล่นน้ำเพื่อลดความเสี่ยงโดยขอความร่วมมือไปยังผู้ที่เดินทางในช่วงเทศกาลและเดินทางกลับมาทำงานหลังเทศกาลให้ทำการตรวจ ATK ด้วย
นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบค.ยังเห็นชอบในการขยายอายุการประกาศใช้พระราชกำหนดฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ต่อไปอีกเป็นครั้งที่ 17 ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึง 30 มิถุนายน 2565