กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงกรณีพบซากช้างป่า 5 ตัว เสียชีวิตในบ่อหลุมยุบ บริเวณเขตป่าเขาพระฤๅษี และป่าเขาบ่อแร่ จังหวัดกาญจนบุรี หลังเกิดข้อสงสัยว่าอาจเกี่ยวข้องกับการทำเหมืองใต้ดิน เผยเกิดจากปัจจัยตามธรรมชาติ
นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ชี้แจงกรณีพบซากช้างป่า 5 ตัวเสียชีวิตในบ่อหลุมยุบ บริเวณเขตป่าเขาพระฤๅษี และป่าเขาบ่อแร่ ท้องที่หมู่ 7 บ้านชะอื้ ตำบลชะแล อำเภอ ทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 7 ราชบุรี ร่วมกับ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษา ป่าที่ กจ.4 (อู่ล่อง) และอุทยานแห่งชาติลำคลองงูร่วมลงพื้นที่ เพื่อตรวจสอบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการ ทำเหมืองใต้ดินตามที่ปรากฎในข่าวหรือไม่
ผลการตรวจสอบข้อมูลพบว่า
1.บริเวณหลุมยุบที่พบศพช้างป่า 5 ตัว อยู่ห่างจากพื้นที่ทำเหมืองอุโมงค์ ตามประทานบัตรของบริษัท กาญจนบุรีเอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์ ไมนิ่ง (เค็มโก) จำกัด ประมาณ 3.5 กิโลเมตร ซึ่งประทานบัตรได้สิ้นอายุแล้ว และไม่ได้มีการประกอบกิจการทำเหมืองมาตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2545
2.การทำเหมืองของบริษัทดังกล่าวเป็นการทำเหมืองอุโมงค์ในหินปูนแข็ง มีการถมกลับและการค้ำยันเพื่อความมั่นคง แข็งแรงของอุโมงค์ในบริเวณที่เป็นโพรงดินหรือหินร่วนตามแนวรอยเลื่อน โดยตั้งแต่ปิดเหมืองมาจนถึงปัจจุบัน ยังไม่ปรากฎข้อมูลว่ามีการพังถล่มหรือการยุบตัวของพื้นดินเหนืออุโมงค์ผลิตแร่แต่อย่างใด
3.ปากหลุมรูปร่างค่อนข้างกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ 14 เมตร มีขอบหลุมที่ชันลึกในแนวดิ่ง ความลึกจากปากหลุมถึงผิวน้ำในหลุมประมาณ 2 เมตร มีโคลนดินหนาลึกลงไป
4.หลุมยุบที่พบซากช้างนี้จึงไม่ได้เกิดจากการทรุดตัวของอุโมงค์ใต้ดิน เนื่องจากไม่ได้เกิด เหนือพื้นที่อุโมงค์เหมืองใต้ดินและมีลักษณะของการยุบตัวที่แตกต่างกัน
การเกิดหลุมยุบบริเวณดังกล่าว พบว่ามีมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยตำบลซะแล เป็นหนึ่งในพื้นที่เสี่ยงภัยหลุมยุบจากธรรมชาติที่กรมทรัพยากรธรณีได้สำรวจและขึ้นบัญชีไว้ เนื่องจากมีปัจจัยด้านธรณีวิทยาและสภาพพื้นที่ภูมิประเทศที่เอื้อให้เกิดหลุมยุบ คือมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบใกล้กับภูเขาหินปูน มีชั้นตะกอนดินไม่หนามากรองรับด้วยหินปูนระดับตื้น ซึ่งลักษณะของหินปูนจะมีช่องว่างรอยแตกและโพรงอยู่ในชั้นหินปูนจำนวนมาก เนื่องจากสามารถละลายได้ด้วยน้ำที่มีสภาพเป็นกรดอ่อน ๆ ประกอบกับมีลักษณะภูมิประเทศ ที่แตกต่างกันของพื้นที่ โดยถูกขนาบด้วยเขื่อนขนาดใหญ่ 2 เขื่อน ได้แก่ เชื่อนวชิราลงกรณด้านทิศตะวันตก- ตะวันตกเฉียงเหนือ และเขื่อนศรีนครินทร์ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับแรงดันน้ำใต้ดินในบริเวณใกล้เคียง