นายกฯแจงร่าง งบ 66 วาง 10 เป้าหมายดูแลประชาชน บรรลุมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

วันที่ 31 พ.ค. 65 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์ Facebook ชี้แจงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่นำเข้าที่ประชุมรัฐสภาในวันนี้ว่า ช่วงวันที่ 31 พ.ค. – 2 มิ.ย.65 นี้ ตนและคณะรัฐมนตรี รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคน มีภารกิจสำคัญร่วมกัน ในการช่วยกันผลักดัน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งทุกท่านทราบดีว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน แก้ปัญหาต่างๆ ให้กับพี่น้องประชาชน และวางรากฐานการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง ตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้มีผลเป็นรูปธรรม บรรลุวิสัยทัศน์ในการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน

การจัดทำงบประมาณครั้งนี้ มุ่งเน้นให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และเศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง เข้มแข็ง มีเสถียรภาพ โดยรัฐบาลได้พิจารณาปัจจัยรอบด้านจากภายในและภายนอกประเทศ ทั้งการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดที่มีแนวโน้มผ่อนคลายลง และการบริหารจัดการผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน โดยงบประมาณนี้ จะนำไปขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ในการดูแลพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งขอยกตัวอย่างตามกลุ่มเป้าหมาย และกิจกรรมสำคัญ ในปีงบประมาณหน้าได้อย่างน้อย 10 ประการดังนี้

1. กลุ่มเด็กและเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ

  • (1) มุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยการศึกษา เพื่อรองรับโลกดิจิทัลในศตวรรษที่ 21
  • (2) ส่งเสริมการเติบโตอย่างสมวัย เช่น การสนับสนุนนม และอาหารกลางวันให้เด็กวัยเรียน 5.04 ล้านคน
  • (3) ลดภาระผู้ปกครอง โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน 9.68 ล้านคน
  • (4) สร้างความเท่าเทียม เช่น ช่วยเหลือเด็กผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส 2.68 ล้านคน ผ่านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
  • (5) พัฒนานักกีฬาของชาติ ตั้งแต่ระดับเยาวชน เพื่อพัฒนาสู่ความเป็นเลิศด้านกีฬาอาชีพ ไม่น้อยกว่า 30,000 คน เป็นต้น

2. กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง

  • (1) สนับสนุนเบี้ยเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี 2.5 ล้านคน
  • (2) เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 11.03 ล้านคน
  • (3) เบี้ยยังชีพคนพิการ 2.09 ล้านคน
  • (4) เสริมสร้างทักษะอาชีพเพื่อให้ผู้สูงอายุมีงานทำและมีรายได้ 12,000 คน
  • (5) ส่งเสริมการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการสาธารณะสำหรับคนพิการ 20,000 คน
  • (6) พัฒนาศักยภาพคนไร้ที่พึ่งและคนขอทาน 98,930 คน
  • (7) สร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย เช่น บ้านพอเพียง 25,000 ครัวเรือน บ้านมั่นคง 3,750 ครัวเรือน และอาคารเช่าอีก 1,087 หน่วย

3. กลุ่มพี่น้องเกษตรกร ที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ

รัฐบาลจะให้ความสำคัญสูงสุดในการยกระดับภาคเกษตรกรรมสู่ “เกษตรอัจฉริยะ” (Smart Farmer) โดย

  • (1) สร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ และส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรให้เข้มแข็ง 7.92 ล้านครัวเรือน
  • (2) การถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่และเกษตรอัจฉริยะใน 40 ชุมชน
  • (3) บริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) จำนวน 71,540 ไร่
  • (4) ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารเข้าสู่ระบบมาตรฐานความปลอดภัย 240,500 แห่ง
  • (5) ส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ 3,023 แปลง 201,000 ไร่ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังต้องช่วยแก้ปัญหาพื้นฐานของเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย เช่น การมอบสิทธิในที่ดินทำกิน 20,000 ราย และการลดดอกเบี้ยเพื่อการเกษตร 353,400 ราย

4. กลุ่มผู้ประกอบการ ที่เป็นหัวใจของเศรษฐกิจไทย

  • (1) ส่งเสริม SME ผู้ประกอบการชุมชน วิสาหกิจชุมชน ให้ปรับตัวสู่ธุรกิจใหม่ ด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล 22,000 คน 2,400 กิจการ
  • (2) พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการชุมชน 3,500 ราย
  • (3) สนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีช่องทางการค้าผ่าน e-commerce 25,800 คน
  • (4) สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจแก่ SME ไทยอย่างน้อย 800,000 ราย สามารถเติบโตและแข่งขันได้ในระดับสากลได้
  • (5) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต 292 กิจการ เป็นต้น

5. กลุ่มพี่น้องแรงงาน ที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ให้เราก้าวไปข้างหน้าได้

  • (1) พัฒนาทักษะแรงงานให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก อย่างน้อย 23,000 คน
  • (2) เสริมสร้างทักษะและสมรรถนะแรงงาน เพื่อรองรับ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ไม่น้อยกว่า 75,300 คน
  • (3) โครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 400,000 คน
  • (4) ผลักดันให้แรงงานในระบบและนอกระบบ เข้าถึงระบบประกันสังคมอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เป้าหมาย 24.3 ล้านคน นอกจากเรื่องทักษะและสวัสดิการของแรงงานแล้ว รัฐบาลยังให้ความคุ้มครองสวัสดิภาพของพี่น้องแรงงาน ทั้งการสร้างภูมิคุ้มกันภัยจากยาเสพติด และป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์อีกด้วย

6. ด้านการพัฒนาการศึกษา ที่มุ่งเป้าจะเป็นหนึ่งในผู้นำระดับนานาชาติ

  • (1) สร้างสมรรถนะครูยุคใหม่ 64,300 คน
  • (2) ส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา 678,500 คน
  • (3) เชื่อมโยงการศึกษากับภาคธุรกิจ โดยพัฒนาครูผู้สอนระบบทวิภาคี 12,000 คน
  • (4) พัฒนาโรงเรียนคุณภาพทุกตำบล ไม่น้อยกว่า 8,200 โรงเรียน
  • (5) ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีทางไกลผ่านดาวเทียม สนับสนุนด้านการศึกษาอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และมีคุณภาพตามมาตรฐาน ไม่น้อยกว่า 7,900 แห่ง เป็นต้น

7. ด้านการยกระดับระบบสาธารณสุข ที่จะต่อยอดจากความสำเร็จให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

  • (1) สร้างกลไกในการนำประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบาง ให้สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ภายใต้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่น้อยกว่า 47.7 ล้านคน
  • (2) ส่งเสริมระบบบริหารจัดการด้านสุขภาพ การแพทย์แผนไทย การแพทย์ผสมผสาน การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
  • (3) สนับสนุนกลไกการปฏิบัติหน้าที่ของ อสม. หมอประจำบ้าน ไม่น้อยกว่า 1.039 ล้านคน
  • (4) ผลิตแพทย์ พยาบาล และบุคลากรด้านสาธารณสุข ไม่น้อยกว่า 38,400 คน
  • (5) กระจายแพทย์ไปสู่ชนบทไม่น้อยกว่า 7,490 คน ตลอดจนสร้างศูนย์การแพทย์ครบวงจร 2 แห่ง และสร้างโรงพยาบาลศูนย์เฉพาะทางอีก 3 แห่ง เป็นต้น

8. ด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม ที่ได้ทำมาอย่างต่อเนื่องและเห็นผลเป็นรูปธรรม

  • (1) ทางถนน ก่อสร้างโครงข่ายทางหลวงและทางหลวงชนบท ระยะทาง 4,017 กิโลเมตร
  • (2) ทางราง “สายเหนือ” เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ “สายตะวันออกเฉียงเหนือ” บ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม และระบบรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา เป็นต้น

9. ด้านการยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่เป็นรายได้หลักของไทย เพื่อรองรับการเปิดประเทศ

  • (1) พัฒนาเส้นทางชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี 50 ชุมชน
  • (2) การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เช่น แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ 10 แห่ง และแหล่งธรณีวิทยา 9 แห่ง
  • (3) ยกระดับชุมชนเข้าสู่มาตรฐานการท่องเที่ยวไทย 50 ชุมชน
  • (4) พัฒนาเมืองท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ 10 เมือง
  • (5) สร้างการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกลุ่มอาเซียนและงานสัมมนาระดับนานาชาติ ทั้งนี้ รัฐบาลตั้งเป้าหมายเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว ไม่น้อยกว่า 2.4 ล้านล้านบาท

10. ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ที่เป็นเป้าหมายสำคัญของโลก

  • (1) รักษาพื้นที่ป่าในความดูแล 98.36 ล้านไร่
  • (2) ส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจแบบครบวงจร 26,910 ไร่
  • (3) จัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ระดับพื้นที่ 3,000 หมู่บ้าน
  • (4) จัดหาแหล่งน้ำสำรองเพื่อระบบประปา 49,381 ครัวเรือน
  • (5) เพิ่มผลิตภาพการใช้น้ำ 158.27 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์จากแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น 389,037 ไร่
  • (6) ป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 108,223 ไร่
  • (7) ปลูกป่าฟื้นฟู 14,970 ไร่
  • (8) รักษาระบบนิเวศและสัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธุ์ ตลอดจนคุ้มครอง อนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง 3,148 กิโลเมตร

โดยที่กล่าวมาเป็นตัวอย่างเป้าหมายของการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคมไทย ในปีหน้า ภายใต้สภาวะโลกที่ไม่ปกตินัก แต่ชาติบ้านเมืองก็ไม่อาจหยุดพัฒนาได้ ซึ่งตนเชื่อมั่นว่า เรามีความพร้อมและต้นทุนอย่างมากมายในการขับเคลื่อนและพลิกโฉมประเทศ ไปสู่อนาคตที่มั่นคงแข็งแรง ด้วยความสามารถ และความร่วมแรงร่วมใจของคนไทยทุกคน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง