ยุคนี้ประชาชนใช้จ่ายผ่านโทรศัพท์มือถือในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทุกวันนี้ไปไหนมาไหน คนไทยแทบไม่พกเงินสดจำนวนมาก เพราะแทบทุกร้านมี QR CODE ให้สแกนจ่ายเงิน แม้แต่ไปซื้อผัก ผลไม้ในตลาดสดหรือตลาดนัด ก็รับโอนแทบทุกร้าน ทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ หรือเปลี่ยนผ่านตามธรรมชาติ แต่เกิดจากการวางพื้นฐานด้านระบบชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ของภาครัฐ
ย้อนกลับไปในอดีต แม้ประเทศไทยจะมีบัตรเครดิต บัตรเดบิต และอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง มีความพยายามส่งเสริมการใช้จ่ายแทนเงินสด ซึ่งมีต้นทุนบริหารจัดการธนบัตรและเหรียญที่สูง แต่ผู้คนส่วนใหญ่ยังเคยชินกับการใช้เงินสด ไม่เข้าใจการใช้งานเพียงพอ เช่น ยังไม่ทราบความแตกต่างระหว่างบัตรเดบิต (Debit) และบัตรเอทีเอ็ม (ATM) อีกทั้งการทำธุรกรรมบางประเภท เช่น การโอนเงินผ่านเครื่อง ATM ยังมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ค่าธรรมเนียมที่สูง กลายเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
รัฐบาลได้ผลักดันแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา “โครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ” (National e-Payment) มาตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2558 และผลักดันโครงการคู่ขนานในเวลาเดียวกัน ได้แก่ การชำระเงินแบบ Any ID โอนเงินโดยใช้เลขที่บัตรประชาชนและเบอร์โทรศัพท์มือถือแทนเลขที่บัญชี, การขยายการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะบัตรเดบิต เพิ่มอุปกรณ์รับชำระ (EDC) ให้แพร่หลายและค่าธรรมเนียมร้านค้าที่ถูกลง, ระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดต้นทุนและขั้นตอนจัดทำเอกสารและชำระภาษีของภาคเอกชน, โครงการ e-Payment ภาครัฐ ให้มีฐานข้อมูลกลางเกี่ยวกับสวัสดิการแห่งรัฐ และจ่ายเงินให้แก่ประชาชนโดยตรงผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน และร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันการเงิน และภาคเอกชน ดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น
– ระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) หรือเดิมเรียกว่า Any ID บริการโอนเงินและรับเงิน-ทางเลือกใหม่ ใช้เลขที่บัตรประชาชนและเบอร์โทรศัพท์มือถือ เปิดให้ลงทะเบียนเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 และให้บริการโอนเงินระหว่างกันตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2560 เป็นต้นมา สามารถโอนเงินหากันได้ฟรี รวมทั้งรองรับการรับเงินโอนจากภาครัฐ ผ่านเลขที่บัตรประชาชน เช่น เงินสวัสดิการประชาชน เงินคืนภาษี นอกจากนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้นำมาใช้จ่ายเงินเยียวยาในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังขยายความร่วมมือไปสู่ต่างประเทศ เช่น ประเทศสิงคโปร์ ได้ร่วมพัฒนาบริการโอนเงินและรับเงินระหว่างประเทศผ่านระบบพร้อมเพย์กับ ระบบเพย์นาว (PAY NOW) ที่ผู้รับเงินจะได้รับเงินจากต้นทางทันที ปลอดภัย ไม่ต้องกรอกข้อมูลจำนวนมาก ด้วยค่าธรรมเนียมที่เป็นธรรม
จากการโอนเงินระหว่างกัน ต่อยอดสู่การชำระเงินผ่าน “พร้อมเพย์คิวอาร์โค้ด” ตามมาตรฐาน THAI QR PAYMENT ในเดือนธันวาคม 2560 ลูกค้าเพียงแค่สแกน QR CODE ของร้านค้า ก็ชำระเงินได้สะดวก รวดเร็ว และฟรีค่าธรรมเนียม ส่งเสริมการใช้ธุรกรรมออนไลน์ของภาคธุรกิจและประชาชน จุดเปลี่ยนสำคัญมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประชาชนหันมาใช้จ่ายผ่านดิจิทัลแทนเงินสด เพื่อลดการสัมผัสเชื้อโรคที่ติดมากับธนบัตรและเหรียญ ทำให้มีประชาชนหันมาใช้วิธีสแกน QR CODE และโอนเงินพร้อมเพย์มากขึ้น กลายเป็นนวัตกรรมที่ผลักดันระบบการชำระเงินไทยให้เป็นที่รู้จักในเวทีโลก และเริ่มทดลองให้บริการในประเทศต่างๆ เช่น สิงคโปร์ สปป.ลาว ญี่ปุ่น และกัมพูชา
ณ เดือนมิถุนายน 2565 มีผู้ลงทะเบียนพร้อมเพย์สูงถึง 70 ล้านหมายเลข ยอดการโอนเงินเฉลี่ย 38.7 ล้านรายการต่อวัน มูลค่ารวม 1.21 แสนล้านบาท และเมื่อรวมสถิติในปี 2564 ที่ผ่านมา มีธุรกรรมชำระเงินระหว่างธนาคารกว่า 1 หมื่นล้านรายการ และมีเงินหมุนเวียนผ่านระบบธนาคารสูงถึง 39 ล้านล้านบาท คิดเป็น 2.4 เท่าของ GDP ประเทศไทย
– บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รัฐบาลได้ออกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สำหรับผู้มีรายได้น้อยมาตั้งแต่ปี 2560 เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ผ่านวงเงินซื้อสินค้าที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา ซื้อวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม 200-300 บาท ส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ผ่านวงเงินค่าโดยสารรถประจำทาง ขสมก. หรือรถไฟฟ้า 500 บาท, รถไฟ ร.ฟ.ท. 500 บาท และรถประจำทาง บขส. 500 บาท พร้อมติดตั้งเครื่อง EDC แก่ร้านธงฟ้าประชารัฐ ร้านก๊าซหุงต้ม สถานีรถไฟ ที่ทำการสถานีเดินรถ บขส. และระบบรถไฟฟ้า
– พร้อมการ์ด (PromptCard) พัฒนาระบบบัตรเดบิตที่ใช้เครือข่าย Local Switching หักเงินจากบัญชีภายในประเทศ แทนการอาศัยเครือข่ายต่างประเทศที่มีต้นทุนสูง เพื่อให้ร้านค้าที่มีเครื่อง EDC จ่ายค่าธรรมเนียมในอัตราที่ถูกลง เหลือเพียง 0.55% ต่อรายการ พร้อมผลักดันเทคโนโลยีEMV Contactless ให้สามารถใช้บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตกับระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ เช่น รถประจำทาง ขสมก. รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีแดง และยังได้นำมาใช้กับโครงข่ายทางพิเศษ 5 เส้นทางอีกด้วย
– จี-วอลเล็ต (G-Wallet) หรือ Government Wallet รัฐบาลได้ผลักดันกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำมาใช้กับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยประชาชนเติมเงิน และสแกนจ่ายผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ส่วนร้านค้ารับเงินผ่านการสร้างคิวอาร์โค้ด บนแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” โดยได้นำมาใช้ครั้งแรกกับ โครงการชิมช้อปใช้ นับตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2562 เป็นต้นมา ต่อมาเกิดสถานการณ์โควิด-19 จึงได้นำ G-Wallet มาใช้กับ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ รวมทั้งสนับสนุนวงเงินช่วยเหลือค่าครองชีพผ่าน โครงการเราชนะ และ โครงการ ม.33 เรารักกัน
– โครงการคนละครึ่ง เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ บรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน และช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ร้านค้ารายย่อย โดยรัฐสนับสนุนค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าและบริการ 50% ไม่เกินวันละ 150 บาท เมื่อเติมเงินและสแกนจ่ายผ่าน G-Wallet สูงสุดไม่เกินวงเงินตลอดโครงการ พบว่าที่ผ่านมา ยอดใช้จ่ายตั้งแต่เฟสที่ 1 ถึง 4 รวม 3.87 แสนล้านบาท โดยมีประชาชนจ่าย 1.97 แสนล้านบาท และรัฐร่วมจ่าย 1.9 แสนล้านบาท ขณะนี้กำลังดำเนินโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 จำนวน 26.5 ล้านสิทธิ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ถึง 31 ตุลาคม 2565 มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการกว่า 4 แสนราย
– แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” นอกจากการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน G-Wallet แล้ว ภาครัฐยังนำมาใช้แก้ปัญหา และยกระดับคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ เช่น บริการ Health Wallet เชื่อมต่อกับสำนักงาน สปสช. ให้ประชาชนตรวจสอบสิทธิด้านสุขภาพ และนัดวันใช้บริการ, การแจกชุดตรวจโควิด-19 ฟรี ตามร้านขายยา เพื่อให้ประชาชนตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตัวเอง, บริการ วอลเล็ต สบม. ให้คนไทยเข้าถึงการลงทุนผ่านพันธบัตรรัฐบาล ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้นเพียง 100 บาท, บริการสลากดิจิทัล เพื่อแก้ไขปัญหาจำหน่ายสลากเกินราคา ให้ประชาชนสามารถซื้อสลากได้ในราคาปกติ เพียง 80 บาท และเมื่อถูกรางวัลจะโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารให้โดยอัตโนมัติ ทำให้ล่าสุดมีผู้ใช้งานแอปพลิเคชันเป๋าตังมากกว่า 40 ล้านราย ได้รับรางวัล “The Disruptor” ซึ่งเป็นรางวัลด้านเทคโนโลยีชั้นนำแห่งปี ในงาน Techsauce Global Summit 2022
การจัดอันดับ ความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของเขตเศรษฐกิจทั่วโลก ปี 2564 (IMD World Digital Competitiveness Ranking 2021) ของสถาบันการจัดการนานาชาติ (IMD) พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 38 จากทั้งหมด 64 ประเทศ และเป็นอันดับที่ 3 ในภูมิภาคอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย ส่วน ผลการสำรวจรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ประจำปี 2563 (UN E-Government Survey 2020) ขององค์การสหประชาชาติ พบว่า ดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government Development Index หรือ EGDI) ไทยอยู่ในอันดับที่ 57 จากทั้งหมด 193 ประเทศ และเป็นอันดับที่ 3 ในภูมิภาคอาเซียนเช่นกัน โดยมีคะแนนเพิ่มขึ้นจากการให้บริการออนไลน์ และโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้า โครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ฯ ของไทย ที่รัฐบาลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนพัฒนาขึ้น นำไปสู่การปฏิบัติได้จริงให้เห็นเป็นรูปธรรม เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่เศรษฐกิจฐานราก สู่ความร่วมมือระหว่างประเทศ กับโครงสร้างและช่องทางทำธุรกรรมทางการเงินที่พัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าอย่างต่อเนื่องด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง