- กระทรวงสาธารณสุขแถลงแผนควบคุมป้องกัน “โควิด 19” หลังยุบ ศบค. และปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง 1 ต.ค.นี้ ใช้กลไก พ.ร.บ.โรคติดต่อบริหารสถานการณ์ บูรณาการทุกฝ่ายได้ปกติ
- แนะผู้ป่วยปฏิบัติตาม DMHT สวมหน้ากากเมื่อเข้าสถานที่แออัด ตรวจ ATK เมื่อมีอาการ ฉีดวัคซีนตามกำหนดโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง และรับการรักษาฟรีตามสิทธิ หากอาการวิกฤตใช้ UCEP Plus ได้
- ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการไม่รุนแรงไม่มีปัจจัยเสี่ยง จะรักษาแบบผู้ป่วยนอก ส่วนผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงหรือมีอาการรุนแรง จะรักษาแบบผู้ป่วยใน
วันนี้ (26 กันยายน 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แถลงข่าวการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ของกระทรวงสาธารณสุข หลังยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน – ยุบ ศบค.
นายอนุทินกล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขมี พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เป็นเครื่องมือหลักในการบริหารสถานการณ์ในระยะถัดไป โดยมีกลไกทั้งระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับพื้นที่ ซึ่งอาจมีการปรับลดระดับความเข้มข้นของมาตรการตามสถานการณ์ เพื่อให้สังคมและเศรษฐกิจประเทศเดินหน้าต่อไปได้ นอกจากนี้ ยังจัดทำแผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด 19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เป็นกรอบการดำเนินงานให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป ยืนยันว่า ภายใต้กลไกของ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ยังสามารถบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนแผนได้ต่อเนื่อง โดยไม่กระทบสิทธิของประชาชน และรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยให้ยั่งยืนต่อไปได้
นพ.สุระ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมที่จะการดูแลผู้ป่วยโควิด 19 โดยมีเตียงผู้ป่วย 73,000 เตียง ขณะนี้มีผู้ป่วยโควิดนอนรักษา 4,800 คนคิดเป็น 6% ส่วนยารักษา ขณะนี้มียาฟาวิพิราเวียร์คงเหลือ 5.6 ล้านเม็ด ใช้เฉลี่ย 5.8 หมื่นเม็ดต่อวัน เพียงพอใช้ 3.1 เดือน ยาโมลนูพิราเวียร์คงเหลือ 20.3 ล้านเม็ด ใช้เฉลี่ย 1.48 แสนเม็ดต่อวัน เพียงพอใช้ 4.5 เดือน และยาเรมดิซีเวียร์คงเหลือ 2.3 หมื่นขวด ใช้เฉลี่ย 1.2 พันขวดต่อวัน เพียงพอใช้ครึ่งเดือน มีแผนจะจัดซื้อยาฟาวิพิราเวียร์เพิ่ม 10 ล้านเม็ด เพียงพอใช้ 5.5 เดือน ยาโมลนูพิราเวียร์ 35 ล้านเม็ด เพียงพอใช้ 7.2 เดือน และยาเรมดิซีเวียร์ 3 แสนขวด เพียงพอใช้ 8.2 เดือน และหากในอนาคตผู้ป่วยน้อยลงจะมียาใช้ได้นานกว่าที่ประมาณการไว้
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ผู้ที่มีอาการป่วยทางเดินหายใจแนะนำให้ปฏิบัติตนตามมาตรการ DMHT โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เมื่อต้องใกล้ชิดผู้อื่น ส่วนประชาชนทั่วไป ให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่อเข้าไปในสถานที่แออัด หรือพื้นที่ปิด อากาศไม่ถ่ายเท เช่น โรงพยาบาล สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ/เด็กเล็ก และให้ตรวจ ATK เมื่อมีอาการป่วย สำหรับหน่วยงาน องค์กร สถานประกอบการ ให้คัดกรองอาการป่วยของพนักงานเป็นประจำ หากมีพนักงานป่วยจำนวนมากให้รายงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที ส่วนมาตรการดูแลรักษาผู้ป่วยจะแบ่งตามระดับความรุนแรงของอาการ คือ
1.ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดี
2.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงและไม่มีปัจจัยเสี่ยง
2 กลุ่มนี้ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) โดยให้สังเกตอาการที่บ้าน กินยาต้านไวรัสหรือยารักษาตามอาการตามที่แพทย์สั่ง ลดการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นด้วยมาตรการ DMHT
3.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง หรือไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบที่ไม่รุนแรง
4.ผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวมต้องรับออกซิเจน
2 กลุ่มนี้จะรักษาในสถานพยาบาลแบบผู้ป่วยใน
“ประชาชนยังสามารถรับบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตามสถานพยาบาลที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม.กำหนด เน้นฉีดในกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปและโรคเรื้อรัง ส่วนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นปีละ 1-2 ครั้งเหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ขณะนี้ยังไม่มีคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกหรือสถาบันที่เชื่อถือได้ ขอให้รอคำแนะนำจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค รวมทั้งข้อมูลวัคซีนรุ่นใหม่และระยะเวลาที่ป้องกันโรคได้” นพ.โอภาสกล่าว
ด้าน นพ.ธเรศกล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ประชาชนยังสามารถรักษาพยาบาลโรคโควิด 19 ได้ฟรีจากกองทุนสุขภาพที่ผู้ป่วยมีสิทธิ เช่น หลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ เป็นต้น ส่วนกรณีผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการฉุกเฉินวิกฤตสีแดง สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ทั้งสถานพยาบาลภาครัฐหรือเอกชนตามสิทธิ UCEP Plus จนกว่าจะหายป่วย ซึ่งแตกต่างจากสิทธิ UCEP ปกติที่เมื่อครบ 72 ชั่วโมงจะต้องส่งกลับไปรักษาที่สถานพยาบาลตามสิทธิ โดยสถานพยาบาลจะเบิกค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตามระบบ UCEP Plus ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนแรงงานต่างด้าวหากมีประกันสุขภาพก็สามารถใช้ประกันในการรักษาได้ฟรี
นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า การให้ยา หากไม่มีอาการจะไม่ให้ยาต้านไวรัส ถ้ามีอาการไม่รุนแรง ปอดปกติ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง ไม่จำเป็นต้องให้ยา หรืออาจพิจารณาให้ฟ้าทะลายโจร หรือยาฟาวิพิราเวียร์ หากให้ต้องเริ่มเร็วที่สุดภายใน 3-4 วัน ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงแต่มีปัจจัยเสี่ยง หรือไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบ พิจารณาให้ยาต้านไวรัสตัวใดตัวหนึ่ง โดยเริ่มจากยาแพกซ์โลวิดก่อน หากไม่ได้ค่อยเป็นยาเรมดิซีเวียร์ และโมลนูพิราเวียร์ตามลำดับ
สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ใช้ยาแพกซ์โลวิดและโมลนูพิราเวียร์ไม่ได้ เนื่องจากไม่มีการศึกษาวิจัย หากมีอาการไม่มากให้ดูแลรักษาตามอาการ หรืออาจพิจารณาใฟ้ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นเวลา 5 วัน แต่ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงหรืออาการเสี่ยงมากก็ให้เรมดิซีเวียร์ 3 วันหรือฟาวิพิราเวียร์ 5 วัน หรือหากอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไปให้แพกซ์โลวิด ส่วนกรณีปอดอักเสบให้เรมดิซีเวียร์ 5-10 วัน