ททท. คาดรายได้ท่องเที่ยวปี66 สูง 8 แสนล้านบาท

ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า จากปัจจัยบวกอากาศหนาวเย็นดังกล่าว คาดว่าในช่วง 2 เดือนโค้งท้ายปีนี้ ตั้งแต่ พ.ย.-ธ.ค. แนวโน้มการเดินทางสู่ภาคเหนือและภาคอีสานจะดีมาก มีอัตราการเข้าพักในพื้นที่หลัก เช่น เชียงใหม่ เชียงราย อุดรธานี และขอนแก่น ไม่น้อยกว่า 80% ทั้งสองภาคเป็น “ผู้นำ” ในการปลุกโมเมนตัม สร้างแรงส่งที่ดีต่อการฟื้นรายได้ท่องเที่ยวภายในประเทศปี 2566 ให้ได้ 8.8 แสนล้านบาท ตามเป้าหมายการฟื้นตัว 80% ของรายได้กว่า 1 ล้านล้านบาทเมื่อปี 2562

“พยากรณ์อากาศว่าปีนี้จะหนาวนานกว่าปีที่แล้ว ส่งผลดีต่อจิตวิทยาการเดินทางของนักท่องเที่ยวไทย ทำให้เตรียมตัวเที่ยวในประเทศช่วงฤดูหนาวกันมากขึ้น โดย ททท.ประเมินว่าบรรยากาศการท่องเที่ยวในภาคเหนือและอีสาน จะเป็นตัวช่วยภาคอื่นๆ ในการฟื้นภาพรวมรายได้ตลาดท่องเที่ยวในประเทศปี 2565 ให้ได้เกินเป้าหมาย 6.56 แสนล้านบาท และเกินเป้าหมาย 160 ล้านคน-ครั้งแน่นอน”

หลังจากในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ตั้งแต่ ม.ค.-ก.ย. มีรายได้ตลาดในประเทศสะสมกว่า 6.42 แสนล้านบาท จาก ผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย จำนวน 177 ล้านคน-ครั้ง แบ่งเป็น นักท่องเที่ยวชาวไทย ที่มีการค้างคืน จำนวน 103 ล้านคน-ครั้ง คิดเป็นสัดส่วน 58.37% ของผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยทั้งหมด สร้างรายได้ 5.48 แสนล้านบาท ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 2,800 บาท/คน/ทริป ลดลง 43% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4,000 บาท/คน/ทริป แม้วันพักเฉลี่ยอยู่ที่ 2.21 วัน/ทริป ลดลงจากปี 2562 ช่วงก่อนโควิด-19 ระบาดซึ่งมีวันพักเฉลี่ย 2.37 วัน/ทริป แต่พบว่ามีความถี่ในการเดินทางมากขึ้น

ส่วน นักทัศนาจรชาวไทย ที่เดินทางท่องเที่ยวแบบไม่ค้างคืน พบว่าพฤติกรรมของคนไทยเปลี่ยนไปเป็นแบบนี้มากขึ้น มีจำนวน 73 ล้านคน-ครั้ง คิดเป็นสัดส่วน 41.63% สร้างรายได้ 9.3 หมื่นล้านบาท ใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้น เฉลี่ย 1,300-1,400 บาท/ทริป

ทั้งนี้ในช่วงปลายปี ยังมีไฮไลต์สำคัญอย่าง “เทศกาลปีใหม่” พื้นที่ท่องเที่ยวทั่วประเทศเตรียมจัด “งานเคาท์ดาวน์” เพื่อเปิดศักราชใหม่ของแต่ละจังหวัดหลังผ่านยุคโควิด-19 โดย ททท.อยู่ระหว่างเลือกพื้นที่ที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ อาจเป็นบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อจัดงานเคาท์ดาวน์ครั้งยิ่งใหญ่ ให้สถานีโทรทัศน์ช่องดัง CNN ฉายภาพประเทศไทยบนปฏิทินเคาท์ดาวน์โลก! ว่าพร้อมต้อนรับการกลับมาของนักท่องเที่ยว

สำหรับกลยุทธ์ส่งเสริมท่องเที่ยวในประเทศปี 2566 ททท.จะมุ่งใช้กลยุทธ์ Content Marketing” ตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบมีความหมาย (Meaningful Travel) กระตุ้นคนไทยเดินทางท่องเที่ยวได้ทุกวัน ผ่านแคมเปญเรือธง “365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทย…เที่ยวได้ทุกวัน ชูความแตกต่างอย่างมีเอกลักษณ์ของแต่ละภาค กำหนดธีมการท่องเที่ยวในแต่ละวัน รองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวทุกสาย โดย ททท.เตรียมจัดงานส่งเสริมการขาย งานมหกรรมเที่ยว 5 ภาค ตั้งแต่วันที่ 15-18 ธ.ค.นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ขณะเดียวกันต้องโปรโมทจุดหมายแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ทั้งแบบ Unseen และ Festival พร้อมชูโปรโมชั่นของภาคเอกชนท่องเที่ยวผ่านโครงการต่างๆ เพื่อกระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยวไทย เนื่องจากปัจจุบันหลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง และไต้หวัน ได้ออกแพ็คเกจดึงดูดนักท่องเที่ยวไทย

ททท.จึงต้องแบ่งเซ็กเมนต์อย่างละเอียดตามพฤติกรรมการเดินทาง ออกเป็น 8 กลุ่มที่มีศักยภาพ ได้แก่ “กลุ่มคู่รัก” มีอัตราการเดินทาง 36% “กลุ่มเพื่อน” ที่ต้องนัดเจอหรือรียูเนียนมีอัตราการเดินทาง 18% “กลุ่มครอบครัว” มีอัตราการเดินทาง 10% “กลุ่มผู้ชายเดินทางคนเดียว” มีอัตราการเดินทาง 9.5% “กลุ่มครอบครัวมิลเลนเนียลส์” มีอัตราการเดินทาง 9% “กลุ่มผู้หญิงเดินทางคนเดียว” มีอัตราการเดินทาง 8% “กลุ่ม Power Women” ผู้หญิงทำงานเก่ง สาวมั่น มีอัตราการเดินทาง 5% และ “กลุ่มเครือญาติ” มีอัตราเดินทาง 3.2% เพื่อออกแบบแพ็คเกจจูงใจนักท่องเที่ยวไทยแต่ละกลุ่มอย่างตรงจุด

นอกจากนี้ ททท.ยังจับตา “อุปสรรค” อื่นๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวของคนไทย เช่น “เงินเฟ้อ” จากราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง กระทบต่อเศรษฐกิจครัวเรือน คนไทยมีรายจ่ายสูงขึ้น แต่รายได้ลดลง บางคนตกงาน ขณะเดียวกันยังมีปัญหา “น้ำท่วมหนัก” ในบางพื้นที่ของ 29 จังหวัดทั่วประเทศ มาซ้ำเติมปัญหากำลังซื้อและบรรยากาศการเดินทาง!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง