กรมการท่องเที่ยว ชี้แจงกรณีไกด์เถื่อนที่ไม่มีบัตรมัคคุเทศก์ แย่งงานไกด์คนไทย

กรณีกลุ่มชมรมมัคคุเทศก์ภาษาจีน ระบุว่า มีไกด์เถื่อนที่ไม่มีบัตรมัคคุเทศก์ซึ่งเป็นชาวต่างชาติเข้ามาแย่งงานไกด์คนไทย ส่งผลให้มัคคุเทศก์ไทยที่ทำถูกต้องตามกฎหมาย ทำงานไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งที่ผ่านมาได้พยายามร้องเรียนให้หน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาปราบปรามและแก้ปัญหาความเดือดร้อนแต่กลับนิ่งเฉย ซึ่งส่งกระทบต่อมัคคุเทศก์ชาวไทยที่ทำงานถูกต้องได้รับความเดือดร้อน

นายบุญเสริม ขันแก้ว รองอธิบดีกรมการท่องเที่ยว ระบุว่า การประกอบธุรกิจนำเที่ยวและการประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ ซึ่งเป็นอาชีพสงวนสำหรับบุคคลสัญชาติไทยที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น กรมการท่องเที่ยวได้มีการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง นับตั้งแต่สาธารณรัฐประชาชนจีน เปิดให้นักท่องเที่ยวจีนสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศได้โดยผ่านบริษัทนำเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นมา กรมการท่องเที่ยวได้มีการเตรียมความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีน รวมถึงหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา กรมการท่องเที่ยวได้ดำเนินการ ดังนี้

  1. ได้มีการประชุมหารือสถานการณ์ความต้องการมัคคุเทศก์ภาษาต่างประเทศในการเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ณ กรมการท่องเที่ยว โดยมีผู้แทนสมาคมมัคคุเทศก์ ผู้แทนชมรมมัคคุเทศก์ภาษาต่าง ๆ และผู้แทนสมาคมผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต่าง ๆ รวม 15 หน่วยงาน เพื่อหารือกรณีความต้องการมัคคุเทศก์ภาษาต่างประเทศที่จะรองรับต่อจำนวนนักท่องเที่ยว ผลการประชุมหารือสรุปได้คือ มัคคุเทศก์ไทยภาษาจีน ยังมีปริมาณที่เพียงพอต่อการรองรับนักท่องเที่ยวจีนในขณะนี้
  2. กรมการท่องเที่ยว ได้การประชุมหารือแนวทางการดูแลความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวจีน เมื่อวันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 ร่วมกับที่ปรึกษาและกงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย และผู้แทนสมาคมผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ผู้แทนสมาคมมัคคุเทศก์ และผู้แทนชมรมมัคคุเทศก์ภาษาจีน รวมทั้งสิ้น 14 หน่วยงาน สรุปผลการหารือ ฝ่ายจีนได้เสนอแนะให้ฝ่ายไทย เพิ่มมาตรการเรื่องความปลอดภัยในเรื่องการให้บริการด้านการท่องเที่ยว อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ให้บริการทั้งในเรื่องการขนส่ง พาหนะเดินทาง และอุปกรณ์ที่ใช้ในกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงผจญภัยที่มีมาตรฐานความปลอดภัย การเพิ่มความสามารถด้านภาษาจีนให้กับบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ตลอดจนการนำเสนอข่าวสารด้วย ความระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบตีความขยายความเป็นเรื่องใหญ่ และเพื่อป้องกันการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล สำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ของฝ่ายไทย ได้ให้ข้อมูลถึงการดำเนินการต่าง ๆ ตามภารกิจซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยในประเทศไทย และดำเนินการเหล่านี้สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทุกชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย และขอความอนุเคราะห์ให้ทางการจีนช่วยประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวจีนเลือกใช้บริการด้านการท่องเที่ยวในประเทศไทยที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะบริษัทนำเที่ยวและมัคคุเทศก์
  3. การประชุมหารือเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางผ่านบริษัทนำเที่ยว เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 ณ กรมการท่องเที่ยว โดยมีนายอารัญ บุญชัย ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานการประชุมร่วมกับผู้แทนจากหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมจำนวน 14 หน่วยงาน เพื่อร่วมกันระดมความคิดเห็นในการเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางผ่านบริษัทนำเที่ยว และแก้ไขปัญหาในวงจรการเดินทางท่องเที่ยวดังกล่าว โดยเฉพาะปัญหาหลัก 3 เรื่อง ได้แก่ ปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญหรือการขายทัวร์ราคาต่ำกว่าทุน, ปัญหาการประกอบธุรกิจนำเที่ยวในลักษณะตัวแทนอำพราง (Nominee) และ ปัญหามัคคุเทศก์เถื่อนชาวต่างชาติ

รองอธิบดีกรมกรมการท่องเที่ยว ยังระบุอีกว่า สำหรับประเด็นมัคคุเทศก์เถื่อนชาวต่างชาติ มีหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการอยู่ตามภารกิจและอำนาจหน้าที่อยู่แล้ว ได้แก่

  • กรมการจัดหางาน ได้มีการกวดขัน จับกุม ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำหน้าที่มัคคุเทศก์ ซึ่งมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว เนื่องจากอาชีพมัคคุเทศก์ เป็นอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทยเท่านั้น
  • กรมการท่องเที่ยวและกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ได้ร่วมกันปราบปราม จับกุมชาวต่างชาติที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์ ซึ่งมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์

สำหรับมาตรการและแนวทางการดำเนินงาน นั้น ในที่ประชุมเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 ได้เห็นชอบร่วมกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะประเด็นมัคคุเทศก์เถื่อนชาวต่างชาติ ดังนี้

  1. สร้างกลไกในดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน หรือระหว่างหน่วยงาน ในเชิงบูรณาการมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล หรือแจ้งเบาะแส ซึ่งภาคเอกชนพร้อมที่จะให้ข้อมูลหรือแจ้งเบาะแส
  2. หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมายตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ จะร่วมกันในการบังคับใช้กฎหมายและปราบปรามอย่างเข้มงวดมากขึ้นกว่าเดิม
  3. พิจารณาทบทวนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ระหว่างหน่วยงานที่มีอยู่เดิมให้เกิดการบูรณาการตามภารกิจ และอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานอย่างเป็นรูปธรรม หรือเพิ่มเติมหน่วยงานร่วมบูรณาการภายใต้ (MoU) ในการร่วมกันแก้ไขปัญหา ป้องกัน และปราบปรามการกระทำที่ผิดกฎหมายในวงจรดังกล่าว ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  4. การประชาสัมพันธ์ให้เกิดการรับรู้ เข้าใจกฎหมาย และมาตรการต่าง ๆ ที่ถูกต้องให้แก่นักท่องเที่ยวชาวจีนตั้งแต่ก่อนเดินทางออกมาจากประเทศ และระหว่างท่องเที่ยวในประเทศไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง