ชูความสำเร็จ “การทำนาเปียกสลับแห้ง” เวทีประชุมนานาชาติว่าด้วยการจัดการทรัพยากรดินและน้ำฯ

นายสุริยพล นุชอนงค์ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร กรมฯ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานประชุมนานาชาติว่าด้วยการจัดการทรัพยากรดินและน้ำ เพื่อความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน โดยมีนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยนายฉู ตงหยู ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รัฐมนตรีหรือผู้แทนระดับรัฐมนตรีของประเทศต่างๆ ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมอย่างคับคั่ง โดยงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 – 11 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ 

การจัดประชุมด้านวิชาการ เน้นการจัดการและพัฒนาทรัพยากรดินที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดการทรัพยากรทางการเกษตร สนับสนุนให้ปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ (Agri-Map) รวมถึงการส่งเสริมการทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Go Green) ด้วย BCG/Carbon Credit การลดการเผาตอซังพืช ลดการใช้สารเคมีและให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบดิจิทัล แอปพลิเคชัน หรือช่องทางโซเชียลมีเดีย เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีอย่างทั่วถึง พัฒนาสู่เกษตรทันสมัยด้วยเทคโนโลยีด้านการเกษตร (Agri-Tech) 

ภายในงานมีการนำเสนอนิทรรศการของหน่วยงานจาก FAO และนิทรรศการของหน่วยงานราชการของไทย 8 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและกรมพัฒนาที่ดิน 

ส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำเสนอเนื้อหาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 6 ศูนย์ทั่วประเทศ ที่แสดงเนื้อหาเกี่ยวกับพระอัจฉริยภาพของรัชกาลที่ 9 ด้านการแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของดินและการขาดแคลนน้ำในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรได้มีที่ทำการเกษตรได้อย่างเพียงพอ สร้างรายได้ให้กับครัวเรือน นอกจากนี้ยังได้มีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 ศูนย์ เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมนิทรรศการได้รับชมจากผลิตภัณฑ์จริง

ส่วนนิทรรศการของกรมชลประทาน นำเสนอการขยายผลการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งเป็นวิธีการทำนาที่สามารถจัดการน้ำและดินที่เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกษตรกรลดการใช้ปุ๋ย ต้นข้าวแข็งแรง ลดการระบาดของโรคและแมลง ลดการใช้สารเคมี ลดต้นทุนการผลิต รวงข้าวสมบูรณ์ ผลผลิตที่ได้รับเพิ่มขึ้น การทำนาแบบเปียกสลับแห้งนี้ เหมาะสำหรับพื้นที่ทำนาในเขตชลประทาน ที่ควบคุมการระบายน้ำได้ โดยใช้ปริมาณน้ำในการเพาะปลูกน้อยกว่าวิธีปลูกข้าวแบบทั่วไป 30-50% เพิ่มผลผลิตได้ 10% รวมทั้งสร้างรายได้ทางเลือกให้กับเกษตรกรจากการขายคาร์บอนเครดิตด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง