รัฐมนตรีทุกกระทรวงลงพื้นที่ตรวจราชการภาคใต้ “รับฟังปัญหา-ติดตาม-ผลักดันนโยบาย” ก่อน ครม. สัญจร จังหวัดสงขลา

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรี จะลงพื้นที่จังหวัดพัทลุงและจังหวัดสงขลา ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ครั้งแรกของปี 2568 โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงลงพื้นที่ตรวจราชการและรับฟังปัญหาของประชาชน เพื่อผลักดันการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ขณะที่ทั้ง 5 จังหวัดกลุ่มภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายการพัฒนาในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) คือ “พัฒนาการท่องเที่ยว การเกษตร อุตสาหกรรมชีวภาพ สู่ผลิตภัณฑ์ และบริการมูลค่าสูงอย่างยั่งยืน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและนำไปสู่สังคมเป็นสุข” เตรียมนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ด้วย

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลงพื้นที่ตรวจราชการ จังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดพัทลุง ตรวจเยี่ยมทัณฑสถานวัยหนุ่มนครศรีธรรมราช ตำบลท่างิ้ว อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช รับฟังการบรรยายสรุปแผนการขยายทัณฑสถานฯ เพื่อเตรียมความพร้อมเรือนจำศูนย์ระหว่างพิจารณาคดี (Hub) และจะเดินทางไปตรวจเยี่ยมแดนความมั่นคงสูงสุด รวมทั้งติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบาย ณ เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช ตำบลนาพรุ อำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช และประชุมรับฟังแผนแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ณ ห้องประชุมเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช ตำบลนาพรุ อำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยแผนแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ 14 จังหวัด เพื่อป้องกันไม่ให้ยาเสพติดลงสู่ภาคใต้ จะทำให้การจับกุมยาเสพติดที่ด่านตรวจ ก่อนลงไปยังพื้นที่สามจังหวัดชายแดนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ยาเสพติดลงไปในพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลง ทำให้ประชาชนปลอดภัยจากภัยของยาเสพติดและลดปัญหาอาชญากรรม เพิ่มความสงบสุขให้กับทุกคน จากนั้น ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมทัณฑสถานเปิดบ้านนาวง ตำบลบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ส่งมอบโครงการพัฒนาน้ำบาดาล เพื่อความมั่นคงระดับชุมชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ณ บ้านโพรงจระเข้ หมู่ที่ 2 ตำบลโพรงจระเข้ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง หลังประชาชนในพื้นที่มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มสูงขึ้น กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จึงสำรวจพื้นที่พบว่าบ้านโพรงจระเข้ หมู่ที่ 2 มีศักยภาพน้ำบาดาลสามารถพัฒนาเป็น “โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน งบประมาณประจำปี พ.ศ. 2567” จัดทำรูปแบบของโครงการฯ พัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ได้ไม่น้อยกว่า 90,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ประชาชนได้รับประโยชน์ จำนวน 200 ครัวเรือน เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ดำเนินโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดตรัง กว่า 20 แห่ง ประชาชนได้รับประโยชน์ 4,000 ครัวเรือน สามารถเพิ่มน้ำต้นทุนได้ไม่น้อยกว่า 1,752,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี  ในปีงบประมาณ 2568 ยังมีโครงการน้ำบาดาลในพื้นที่จังหวัดตรัง อีก 5 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 27 แห่ง 2. โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 300 ไร่ 3. โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 500 ไร่ จำนวน 2 แห่ง 4. โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน จำนวน 10 แห่ง 5. โครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระยะไกลเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่แล้งซ้ำซากหรือน้ำเค็ม จำนวน 2 แห่ง โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ มุ่งพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้ครบทุกมิติ ช่วยเหลือประชาชนให้มีน้ำอุปโภคบริโภคได้ตลอดปี แก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ และส่งเสริมให้มีการใช้น้ำบาดาลอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ดร.เฉลิมชัย กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่แก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน ทั้งการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ป่า และเรื่องน้ำ ที่ดูแลทั้งแหล่งน้ำบนดิน และการบริหารจัดการน้ำใต้ เพื่อให้ประชาชนไม่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค สำหรับพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำหรือมีปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล พร้อมเร่งเข้าสำรวจและดำเนินการจัดหาน้ำบาดาลเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้ภายในระยะเวลาประมาณ 5 – 6 เดือน แม้ว่าพื้นที่หมู่ที่ 2 ที่ได้รับระบบน้ำบาดาลแล้ว แต่พื้นที่หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 7 ก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องน้ำกินน้ำใช้อยู่ จึงได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เร่งเข้าสำรวจและดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่องโดยเร็วที่สุด

ช่วงบ่าย รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ เป็นประธานในพิธีมอบหนังสืออนุญาตและมอบสมุดประจำตัว ผู้ได้รับการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และ 2 ท้องที่จังหวัดสงขลา ให้แก่ราษฎร 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอรัตภูมิ คลองหอยโข่ง จะนะ เทพา นาทวี นาหม่อม บางกล่ำ สะเดา และอำเภอหาดใหญ่ เนื้อที่รวมกว่า 10,902 ไร่ รวม 1,416 ราย พร้อมมอบกล้าไม้ให้กับผู้แทนชุมชน มอบเงินอุดหนุนกิจกรรมบริหารงานป่าชุมชนบ้านคลองควาย และบ้านปลายคลอง โดยระบุว่า ทส. มีเป้าหมายจัดสรรที่ดินทำกินในท้องที่จังหวัดสงขลา พื้นที่กว่า 280,000ไร่ โดยจะมีพี่น้องประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 17,000 ครอบครัว พร้อมทั้งได้เน้นย้ำขอให้พี่น้องประชาชนช่วยกันเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ที่ได้รับให้มากกว่าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ รวมถึงรักษาพื้นที่ตรงนี้ไว้ให้เป็นมรดกตกทอดไปถึงลูกหลานชาวไทยต่อไป 

นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี ตำบลตาแซะ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ปัจจุบันเขื่อนปัตตานีมีปริมาณน้ำเก็บกัก 5.50 ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ 70 ของความจุอ่างฯ) แต่ภูมิประเทศลาดชัน เมื่อฝนตกหนักส่งผลให้เกิดอุทกภัย และปัญหาการขาดแคลนน้ำช่วงหน้าแล้ง กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 17 จึงได้วางแผนเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำ ด้วยการเสริมสัน spillway สามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้ 1 แสน ลบ.ม. ขุดลอกตะกอนดินเพิ่มความจุให้ได้รวม 8.5 ล้าน ลบ.ม. ดำเนินการแล้วบางส่วนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกักเก็บน้ำและระบายน้ำ ลดปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของกรมชลประทาน ปัจจุบัน จังหวัดยะลา มีจำนวน 286 โครงการ พื้นที่รับประโยชน์ทั้งหมด 190,431 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่จำนวน 8 อำเภอ นอกจากนี้ ยังเป็นประธานพิธีไถ่ชีวิตโค โครงการธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ และมอบสัญญายืมเพื่อการผลิตให้แก่เกษตรกร จำนวน 30 ราย เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีอาชีพก่อให้เกิดรายได้ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากการดำเนินงานที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรไปแล้วกว่า 385,381 ราย มอบกรรมสิทธิ์กับเกษตรกรจำนวน 146,742 ราย จำนวนสัตว์ 178,232 ตัว โดยกรมปศุสัตว์มีแผนจะขยายการดำเนินงานในพื้นที่ของจังหวัดยะลาต่อไป

ด้านนายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่พบปะพี่น้องเกษตรกร ณ กลุ่มรักเกาะยอ ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายเพื่อนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเกษตรกร และเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ปลากะพง พร้อมเสนอแนวทางในการพัฒนายกระดับสินค้าเกษตรและบริการสินค้ามูลค่าสูง รับชมการสาธิตการทำปลากะพงแบบอิเคะจิเมะ ก่อนจะร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงสู่แหล่งแม่น้ำเพื่อรักษาสมดุลของธรรมชาติ โดยกลุ่มรักเกาะยอ เป็นการรวมตัวของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังทะเลสาบสงขลา (หมู่ที่ 4, 5, 8) จำนวน 32 ราย พื้นที่เลี้ยง จำนวน 4.13 ไร่ (294 กระชัง) ผลผลิตเฉลี่ย 96 ตันต่อปี รายได้ 15.4 ล้านบาท/ปี (มาตรฐาน GAP) ปัจจุบันเป็นจุดจำหน่ายสินค้า ปลากะพงสดและอาหารทะเลอื่นๆ มีการสร้างเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือด้านการตลาดกับกลุ่มผู้เลี้ยงปลากะพงอื่นๆ ทั่วทั้งเกาะยอและปัจจุบันกลุ่มรักเกาะยอขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา

รมช.เกษตรและสหกรณ์ ย้ำการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านการเกษตร เพื่อให้ “เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน” ภายใต้นโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เช่น นโยบายยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูงด้วยการต่อยอดโครงการ 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง สร้าง Brand หรือ Story ของจังหวัดหรือท้องถิ่นเป็นแนวทางพัฒนาและปฏิรูปภาคการเกษตรไทยที่จะสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน จากนั้น ยังได้ติดตามโครงการเพิ่มศักยภาพพื้นที่ด้วยการจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ณ บ้านคูวา หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านขาว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการป้องกันและฟื้นฟูพื้นที่เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับนโยบายจัดการทรัพยากรทางการเกษตร ส่งเสริมและฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยกรมพัฒนาที่ดิน ได้สำรวจพื้นที่และความต้องการของเกษตรกร สร้างการรับรู้และความเข้าใจให้กับเกษตรกรและจัดทำแผนที่ออกแบบการก่อสร้าง ดำเนินการปรับรูปแบบแปลงนา เพื่อแก้ปัญหาการระบายน้ำของดิน รวมถึงการถ่ายทอดความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิต ทั้งนี้ กระทรวงฯ พร้อมสนับสนุนเกษตรกรที่ต้องการปรับเปลี่ยนจากการทำ  นาข้าว มาปลูกปาล์มน้ำมันที่มีผลตอบแทนสูงกว่า โดยจากการประเมินภาพรวมของโครงการจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจของเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันในคาบสมุทรสทิงพระ ประเมินจากผลผลิตเฉลี่ย 2,618 กก./ไร่ ราคา 6 บาท/กก. รายได้เท่ากับ 15,708 บาท/ไร่/ปี ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับเกษตรกรได้มีรายได้สูงขึ้นและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจติดตามการดำเนินงานของศูนย์ควบคุมการบินหาดใหญ่ (บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด : บวท.) และกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้แก่ ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช และท่าอากาศยานชุมพร

  • เร่งให้จัดทำแผนแม่บทในการแก้ไขปัญหาทางกายภาพ เพิ่มขีดความสามาถในการรองรับอากาศยาน โดยมีแผนสร้างทางขับขนานใหม่ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2578
  • เพิ่มขีดความสามารถการใช้งานทางวิ่งโดยลดเวลาการใช้งานทางวิ่ง/ทางขับ ทำงานร่วมกับท่าอากาศยานหาดใหญ่ สายการบินและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ
  • กำชับ บวท. เร่งรัดการดำเนินงานแผนพัฒนาบุคลากรและโครงการสำคัญเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการบินภูมิภาคให้แล้วเสร็จตามแผน ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม ATC ภายในปี 2568 โครงการจัดหา Digital Remote Tower ณ สนามบินหาดใหญ่ ตรัง นราธิวาส ภายในปี 2570 และโครงการศึกษาการจัดตั้งที่ขึ้น/ลง ชั่วคราวบนพื้นน้ำ และการให้บริการ Seaplane บริเวณแหลมตาชี  ปัตตานี ภายในปี 2569 – 2570
  • การดำเนินงานของกรมท่าอากาศยาน ได้แก่ ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช และท่าอากาศยานชุมพร ให้เพิ่มศักยภาพรองรับปริมาณเที่ยวบินและนักท่องเที่ยว หลังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงจัดพื้นที่ให้บริการผู้โดยสารให้คล่องตัว จัดระเบียบบริการขนส่งสาธารณะภายในท่าอากาศยาน และจัดกิจกรรมภายในท่าอากาศยานตามแนวคิด “สนามบินมีชีวิต” ประชาสัมพันธ์จุดเด่นการท่องเที่ยวและการสร้างอัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัด

รมช.คมนาคม กล่าวว่า ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อภาคการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นและพื้นที่โดยรอบท่าอากาศยานให้เติบโต อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะได้รับการส่งเสริมให้ขยายตัวมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการสร้างงานในหลากหลายสาขา เช่น การโรงแรม การบริการ การขนส่ง ฯลฯ โดยเน้นการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และเป็นกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ มุ่งสู่การเป็นฮับการบินตามนโยบายของรัฐบาล

นอกจากนี้ นางมนพร ยังได้ลงพื้นที่ติดตามโครงการพัฒนาปรับปรุงท่าเรือน้ำลึกสงขลา และโครงการขุดลอกร่องน้ำสงขลาของกรมเจ้าท่า ดำเนินการโดยบริษัท เจ้าพระยาท่าเรือสากล จำกัด สำหรับแนวทางการพัฒนาท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลา เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของภาคใต้ตอนล่าง มีบทบาทในการส่งเสริมการค้า การลงทุน และการขนส่งสินค้าของภูมิภาค การพัฒนาท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

จากการรับฟังแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างท่าเรือน้ำลึกคือ เพิ่มเครนขนส่งสินค้าหน้าท่าเรือ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถรองรับปริมาณสินค้าที่เพิ่มขึ้น ช่วยลดเวลาในการขนถ่ายสินค้า
ทำให้เรือสามารถเข้าและออกจากท่าเรือได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการและลดต้นทุนการขนส่งโดยรวม ส่วนการขุดลอกร่องน้ำ เป็นกระบวนการที่สำคัญในการรักษาความลึกของร่องน้ำ เพื่อให้เรือขนาดใหญ่สามารถเข้าและออกจากท่าเรือได้อย่างปลอดภัย การขุดลอกร่องน้ำอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุและเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินเรือ การจัดการตะกอนจากการขุดลอกอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลายังควรครอบคลุมถึงด้านอื่นๆ ด้วย เช่น ปรับปรุงพื้นที่ลานกองเก็บสินค้าให้มีพื้นที่เพียงพอ มีการจัดการที่เป็นระบบ เพื่อรองรับปริมาณสินค้าที่เพิ่มขึ้น การพัฒนาท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลา ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จะช่วยให้ท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลา เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าที่สำคัญของภูมิภาค มีบทบาทในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ด้วย

ณ อุทยานเขาเล่ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นำคณะสื่อมวลชนในกิจกรรม Press tour เยี่ยมชมศึกษาดูแนวทางการพัฒนาและยกระดับแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่บริเวณอุทยานเขาเล่ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและศึกษาธรรมชาติที่น่าสนใจมีจุดชมวิว “ทะเลหมอก” ธรรมชาติที่งดงาม และมีจุดชมวิว 360 องศา คือ ยอดเขาหัวล้าน ยอดเขาเขียว เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวคนไทย ทั้งนักปีนเขา นักเดินป่า เพื่อให้การขับเคลื่อนงานการท่องเที่ยวของเทศบาลเมืองสะเดาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ต้องเร่งยกระดับในการพัฒนาการท่องเที่ยวในทุกๆ ด้าน ซึ่งโครงการพัฒนาและปรับภูมิทัศน์พุทธอุทยานเขาเล่ ถือเป็นโครงการที่สำคัญที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ และสามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชนและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของอำเภอสะเดาในภาพรวม และยังจะเป็นสถานที่เพื่อให้ประชาชนได้พักผ่อนหย่อนใจ รวมถึงใช้เป็นสถานที่ทางศาสนาในการประกอบศาสนพิธีต่างๆ ของชุมชน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จากการประมาณค่าก่อสร้าง โครงการฯ พุทธอุทยานเขาเล่ คาดว่าจะใช้งบประมาณ ทั้งสิ้น 99 ล้านบาท ซึ่งตำแหน่งที่ตั้งโครงการฯ สามารถเชื่อมโยงพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามายังพื้นที่โครงการประมาณร้อยละ 5 ของจำนวนผู้เยี่ยมเยือนทั้งหมดต่อวันเท่ากับ 1,064 คน ดังนั้น ในอนาคตพื้นที่โครงการมีเป้าหมายรองรับนักท่องเที่ยวประมาณ 1,500 คนต่อวัน

ทีมโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ ณ ด่านปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา เพื่อศึกษาข้อมูลแนวทางรองรับรถไฟรางคู่ จาก ปาดังเบซาร์ – หาดใหญ่ และติดตามสถานการณ์การเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียและชาติอื่นๆ โดยจังหวัดสงขลา มีศักยภาพสูงรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางด้วยรถไฟ โดยเฉพาะจากประเทศมาเลเซีย KTM Berhad (การรถไฟมาลายา) ได้เปิดให้บริการรถไฟขบวนพิเศษ “MY Sawasdee” ตั้งแต่ปี 2565 บนเส้นทาง กัวลาลัมเปอร์-หาดใหญ่-กัวลาลัมเปอร์ ได้รับความนิยมสูงจากนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย โดยในปี 2567 ที่ผ่านมา KTM Berhad ได้จัดเดินรถขบวนพิเศษดังกล่าวจำนวน 16 เที่ยว รองรับผู้โดยสารกว่า 6,000 คน

  • ในปี 2568 มีแผนเพิ่มจำนวนเที่ยวเป็น 28 เที่ยว แบ่งเป็น เส้นทางกัวลาลัมเปอร์-หาดใหญ่-กัวลาลัมเปอร์ 25 เที่ยว และเส้นทางกัวลาลัมเปอร์-สุราษฎร์ธานี-กัวลาลัมเปอร์ 3 เที่ยว คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในพื้นที่สงขลาและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียนิยมแวะแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดก่อนเดินทางกลับ เช่น ย่านเมืองเก่าสงขลา หาดสมิหลา เจดีย์สแตนเลส ตลาดน้ำคลองแห ตลาดกิมหยง และแหล่งชอปปิงชื่อดังอื่นๆ
  • จากข้อมูลของด่านตรวจคนเข้าเมือง จ.สงขลา มาเลเซียเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาไทยมากที่สุด ปี 2567 มีจำนวนสูงถึง 2,479,427 คน เดือน ม.ค. 68 นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเดินทางเข้ามาถึง 222,988 คน
  • สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในพื้นที่หาดใหญ่ จ.สงขลา ได้แก่ เคเบิ้ลคาร์ สวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่ เจดีย์สแตนเลส หาดสมิหลา เขาตังกวน ย่านเมืองเก่าสงขลา วัดพะโคะ ตลาดน้ำคลองแห รวมทั้งยังมีแหล่งชอปปิ้ง เช่น ตลาดพลาซ่า ตลาดกิมหยง และตลาดนัดกลางคืนหน้าโรงแรมลี การ์เดนส์ พลาซ่า หาดใหญ่ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลหาดใหญ่ และตลาดกรีนเวย์ เป็นต้น

“มูลค่าการค้า” ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ มีมูลค่าการค้ารวม 154,741.88 ล้านบาท โดยสินค้า 5 อันดับแรกที่ส่งออกมากที่สุด ได้แก่ 1. ยางธรรมชาติ 2. ยางสังเคราะห์ 3. ไม้ที่เลื่อยหรือถากตามยาว ฝานหรือลอก 4. ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของยานยนต์ และ 5. เครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติและหน่วยต่าง ๆ สำหรับสถิติจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รายได้ศุลกากรจัดเก็บรวมทั้งหมด จำนวน  2,943 ล้านบาท และข้อมูลล่าสุดไตรมาสแรกของปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (1 ต.ค. 67-13 ก.พ. 68) จัดเก็บได้แล้วประมาณ 530 ล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง