นายกฯ ประชุมติดตามการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 สั่งการให้ทำต่อเนื่องตลอดทั้งปี บูรณาการทุกฝ่ายขับเคลื่อนทุกมาตรการเข้ม

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวง อธิบดีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมด้วย

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้รายงานถึงผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ว่า จากข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญและเป็นห่วงผลกระทบที่เกิดจาก PM2.5 นั้น ตนในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการเพื่อการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ ได้บูรณาการทำงานร่วมกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะกำกับดูแลการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ บูรณาการงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการแก้ไขฝุ่น PM2.5 ส่งผลให้ปัญหาฝุ่นขณะนี้คลี่คลายลง แต่ช่วงนี้คาดว่าจะมีไฟป่ามากขึ้นซึ่งจะเป็นปัญหาที่ต้องมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดของทุกหน่วยงานนายกรัฐมนตรีรับฟังผลการดำเนินงานผ่านมาตรการต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เช่น สถานการณ์ไฟป่า สถานการณ์
ฝุ่นละออง PM2.5 และจุดความร้อน รวมถึงการติดตามสถานการณ์จุดความร้อนและพื้นที่เผาไหม้

  • นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่าต้องมีการเตรียมการแผนงานต่าง ๆ ในการแก้ปัญหาแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ของปีหน้า เพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น ต้องขับเคลื่อนการทำงานอย่างเข้มข้นในเรื่องของมาตรการต่าง ๆ ที่วางไว้
  • มอบหมายให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กำชับผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด ควบคุมการลักลอบการเผา และเน้นย้ำให้ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่เผาพื้นที่การเกษตร โดยให้บูรณาการร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย
  • มอบให้นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในเรื่องของการเผาและรายงานให้ทราบเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง
  • มอบหมายให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ควบคุมเรื่องของไฟป่า ดูแลการเผาป่าในพื้นที่ต่างๆ ทั้งที่เกิดจากธรรมชาติและเหตุการณ์ที่คนทำขึ้นอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำอีก พร้อมทั้งประสานกับกองทัพบกและกองทัพอากาศ ร่วมกันตรวจการและสนับสนุนเครื่องมือ หากมีเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ยังขาดอยู่ ในปีหน้าขอให้เสนอเรื่องให้รัฐบาลพิจารณาว่า มีอะไรที่จะสนับสนุนเพิ่มเติมได้บ้าง นอกจากนี้ ขอให้เร่งสร้างการรับรู้กับประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง ติดตามการแจ้งข้อมูลข่าวสารต่างๆ ในกรณี ที่พบเห็นการเผาหรือกิจกรรมใดๆ ที่ก่อให้เกิด PM2.5 เพิ่มเติมมากขึ้น

  • มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังคงมาตรการเรื่องการงดซื้อสินค้าจากการเผาและขอให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ควบคุมฝุ่นที่เกิดจากกิจกรรมในกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้รับข้อเสนอที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะดำเนินการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ไปพิจารณาและหารือร่วมกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอีกครั้ง

สำหรับการดำเนินการต่างๆ เหล่านี้ เพื่อเตรียมการให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ฝุ่นในปีหน้า ให้ดียิ่งขึ้นกว่าปีนี้ และให้ปัญหาลดระดับความรุนแรงลง รวมทั้งสั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศหารือร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ไขปัญหานี้ด้วย ในการประชุมครั้งต่อไป นายกรัฐมนตรีได้ให้ทุกหน่วยงานเตรียมแผนงานที่จะดำเนินการในปีหน้า และสิ่งที่ยังขาดอยู่เพื่อปีหน้าจะได้ทำได้ดีขึ้น โดยให้รวบรวมข้อมูลแล้วนำเสนอให้พิจารณาต่อไป

นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลาง/เลขานุการกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลทำให้เห็นว่าสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ทั่วประเทศดีขึ้น แต่ยังคงต้องมีการเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป เนื่องจากยังมีบางพื้นที่ที่ยังมีค่าฝุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐาน

ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ยาวไปจนถึงเดือนพฤษภาคม อากาศที่ร้อนจัดและแห้งแล้งทำให้โอกาสเกิดไฟป่าเพิ่มสูงขึ้น จึงขอให้จังหวัดติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ไม่ลดความเข้มข้นการดำเนินงานลง

ขอให้มีการถอดบทเรียนหาแนวทางที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับพื้นที่เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ที่อาจจะกลับมารุนแรงอีกครั้งในช่วงฤดูร้อน

การประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้ประชาชนรับทราบถึงความจำเป็นในการดำเนินงานของภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 และกระตุ้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5

นางศุภราพร จักรมานนท์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะประธาน การประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กล่าวว่า การคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในห้วงถัดไปพบว่าสถานการณ์ฝุ่นมีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากมีมวลอากาศเย็นและกระแสลมพัดผ่าน ทำให้เกิดฝนตกในหลายพื้นที่ของประเทศ และการระบายอากาศโดยรวมดีขึ้น ซึ่งสถานการณ์จะดีขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 โดยอาจมีช่วงวันที่ 22 – 23 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ค่าฝุ่นอาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากกระแสลมเปลี่ยนแปลง ก่อนค่าฝุ่นจะลดลงและกลับมาดีขึ้นในช่วงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กของประเทศมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต้องขอขอบคุณจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จิตอาสา อาสาสมัคร ที่ร่วมกันดำเนินการตามมาตรการและข้อสั่งการเพื่อแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงขอบคุณประชาชนที่ให้ความร่วมมือในการหยุดเผาและหยุดพฤติกรรมอื่นที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 จนสถานการณ์ฝุ่นดีขึ้น

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการและยกระดับ 6 มาตรการสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างเร่งด่วนและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติตามข้อสั่งการอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง

1. มาตรการด้านการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนสถานการณ์อย่างทันท่วงที ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เพื่อแจ้งเตือนภัยไปยังประชาชนในรูปแบบที่เข้าใจง่าย สนับสนุนข้อมูลและคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์เพื่อให้วางแผนการแก้ไขปัญหาล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ รวมถึงประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์ แนวทางการปฏิบัติตนเมื่ออยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย

2. มาตรการป้องกันปราบปรามและบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมการเผาอย่างเด็ดขาด ให้หน่วยงานทำงานทั้งเชิงรุกและรับเพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ลดการเกิดฝุ่นจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ อย่างครอบคลุม โดยแบ่งการจัดการปัญหาเป็น 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ป่า พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่เมือง รวมถึงให้ความสำคัญกับการจัดการหมอกควันข้ามแดน

3. มาตรการลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนให้มีน้อยที่สุด ยังคงเน้นการออกหน่วยบริการประชาชน การจัดหาอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น และการเตรียมพื้นที่ปลอดภัยและห้องปลอดฝุ่นไว้บริการประชาชนอย่างเหมาะสมและเพียงพอและเพิ่มการประสานหน่วยงานเอกชนและหน่วยงานราชการให้ปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบ อาทิ การ Work from Home การตรวจสภาพรถยนต์ไม่ให้ควันดำ การลดการใช้ยานยนต์ที่มีการสันดาปและก่อให้เกิดควัน

4. มาตรการการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานอย่างเข้มข้น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการแบบเบ็ดเสร็จด้วยรูปแบบ Single Command โดยมีหน่วยงานในพื้นที่ร่วมสนับสนุนข้อมูล อุปกรณ์ เครื่องจักรกล ตลอดจนปฏิบัติตามข้อสั่งการและนำมาตรการต่างๆ ไปบังคับใช้อย่างเคร่งครัด

5. มาตรการสนับสนุนงบประมาณ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งรัดกระบวนการพิจารณางบประมาณเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นให้แก่หน่วยงานที่ขอรับการสนับสนุนเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ให้ทันต่อสถานการณ์

6. มาตรการขับเคลื่อนกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ จะเน้นการติดตามสถานการณ์และผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาล่วงหน้า และให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที โดยกำหนดให้มีการจัดประชุมร่วมกันทุกภาคส่วนเป็นประจำทุกวันเพื่อรายงานสถานการณ์และผลการปฏิบัติงาน พร้อมกับการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารร่วม (JIC) สื่อสารข้อมูลสถานการณ์และประชาสัมพันธ์ข้อแนะนำในการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องเป็นประจำจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง