จากกรณีที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าว พบเรือประมงต่างชาติของเวียดนาม รุกล้ำเข้ามาทำการประมงในเขตน่านน้ำไทยนับ 10 ลำ โดยเรือประมงดังกล่าวมีพฤติกรรมขัดขืนและวิ่งเข้าชนเรือหลวงเทพาจนพังเสียหาย โดยต่อมาศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ ศรชล. แถลงข่าวในเบื้องต้นว่าจับเรือได้ 1 ลำ พร้อมผู้ต้องหา 4 คน ส่วนที่เหลือหลบหนีไปได้ อย่างไรก็ตามกระแสสังคมได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงประสิทธิภาพและความเชื่อมั่นในการรักษาน่านน้ำของไทย เปรียบเทียบกับกรณีเรือประมงไทยที่รุกล้ำน่านน้ำในเมียนมา
นาวาเอก กุลชาติ พงษ์ศรี ผู้ช่วยโฆษกศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) และโฆษกศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 1 (ศรชล.ภาค 1) ชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวนั้น ศรชล. ได้พบความเคลื่อนไหวในพื้นที่ตั้งแต่ 22 ก.พ. ที่ผ่านมาและได้ปฏิบัติการจับกุมโดยใช้ความร่วมมือระหว่าง กองทัพเรือภาคที่ 1 ศรชล. ภาค 1 กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งตามภารกิจหลักในการ ป้องกันภัย 9 ด้านของ ศรชล. มีหน้าที่ดูแลความมั่นคง รักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในพื้นที่อย่างเต็มที่ โดยยืนยันว่าจะไม่ยอมให้เรือประมงต่างชาติรุกล้ำ เข้ามาแย่งชิงทรัพยากรในการทำการประมงของประเทศไทย
กลุ่มเรือประมงดังกล่าวนั้นบุกรุกในพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะของไทยและพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา โดยจะเข้ามาทำประมงในห้วงเวลากลางคืน และจะออกจากพื้นที่วิ่งลงใต้ไปจอดพักคอยในเวลากลางวัน เพื่อรอทำการประมงในห้วงกลางคืนของทุกวัน ทั้งนี้การกระทำผิดของเรือประมงต่างชาติครั้งนี้ถือเป็นการเข้าเมืองผิดกฎหมายและในขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินคดี โดยคดีดังกล่าว ถือเป็นคดีอาญาที่ 25/2568 มีการยึดทรัพย์ของกลางเลขที่ 7/2568 ฐานความผิดแบ่งเป็นผู้ถูกจับที่ 1 สัญชาติเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ควบคุมเรือมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิการประมงในเขตการประมงไทย พ.ศ.2482 มาตรา 7 (1) ประกอบมาตรา 11 ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ร่วมกันทำให้เรือของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวชำรุด ตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา 22 ส่วนผู้ถูกจับที่ 2 – 4 สัญชาติเวียดนาม ซึ่งเป็นลูกเรือ มีความผิดฐานเป็นคนต่างด้าวร่วมทำหน้าที่เป็นลูกเรือโดยมาฝ่าฝืนพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิการประมงในเขตการประมงไทย พ.ศ.2482 มาตรา 5 ทวิประกอบ มาตรา 11 ทวิ ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน ตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และร่วมกันทำให้เรือของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวชำรุด ตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา 22
สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเรือหลวงเทพา นาวาเอก กุลชาติ พงษ์ศรี กล่าวว่ามีรายละเอียด ดังนี้
- ตัวเรือเหนือแนวน้ำกราบขวามีรอยยุบและแตกบริเวณห้องควบคุมเครื่องจักรใหญ่กราบขวา
- เสาราวเหล็กข้างหักชำรุดบริเวณหน้าห้องเครื่องซักผ้ากราบขวา
- แท่นวางแพชูชีพหมายเลข 3 หักชำรุดและแพชูชีพแตกชำรุดบริเวณดาดฟ้าปืนกลกราบขวา
- เสาผ้าใบท้ายเรือหักชำรุด ท่อรับน้ำจืดหักชำรุดบริเวณท้ายเรือกราบซ้าย
- เสาราวลวดหักชำรุดบริเวณท้ายเรือกราบซ้าย
- เสาราวลวดหักชำรุด บริเวณดาดฟ้าปืนกลกราบขวา
- เครนยกของหลุดลงน้ำ บริเวณท้ายเรือกราบขวา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการประเมินความเสียหายจากกรมอู่ทหารเรือ เพื่อดำเนินการซ่อมส่วนที่ได้รับความเสียหาย
สำหรับการซ่อม กองทัพเรือ มี “ฐานส่งกำลังบำรุงทหารเรือตราด ทัพเรือภาคที่ 1” ที่มีขีดความสามารถในการส่งกำลังบำรุงและการซ่อมเบื้องต้นในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมี “ชุดซ่อมบำรุงเคลื่อนที่เร็ว” จากกรมอู่ทหารเรือ สามารถเดินทางไปซ่อมได้โดยที่เรือไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามารับการซ่อมที่ กองโรงงานฐานทัพเรือสัตหีบ หรืออู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า (อจปร.อร.) ทั้งนี้ จากการประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นจะเกี่ยวข้องกับตัวเรือเป็นหลัก ซึ่งเรือจะมีระบบขับเคลื่อน (คจญ.) ระบบศูนย์ยุทธการ ระบบอาวุธ ระบบเดินเรือ โดยระบบหลักๆของเรือไม่ได้รับความเสียหายยังสามารถใช้ราชการได้ดี ทำให้เรือหลวงเทพายังสามารถปฏิบัติภารกิจได้ ซึ่งในระหว่างนี้ ศรชล.ภาค.1 และกองทัพเรือ โดยทัพเรือภาคที่ 1 จะเพิ่มการลาดตระเวน ค้นหา พิสูจน์ทราบ เรือประมงที่รุกล้ำน่านน้ำไทยในพื้นที่ โดยการใช้เครือข่ายด้านการข่าวในพื้นที่ทั้งไทยอาสาป้องกันชาติในทะเล เครือข่ายมดดำนาวีและงานด้านการข่าวอื่นๆ เมื่อมีการตรวจพบเรือต้องสงสัยและยืนยันได้ว่าเป็นเรือประมง ต่างชาติหรือการ กระทำความผิดอื่นใดในพื้นที่รับผิดชอบ จะบูรณาการกำลังร่วมกันทั้งของ ศรชล.ภาค.1,หมู่เรือลาดตระเวนชายแดน(มชด) และทัพเรือภาคที่ 1(ทรภ.1) เข้าดำเนินการตรวจค้นและจับกุมต่อไป
นาวาเอก กุลชาติ พงษ์ศรี ย้ำว่า การปฏิบัติดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของ พลเรือเอก จิรพล ว่องวิทย์ รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือผู้บัญชาการทหารเรือ ในการทำหน้าที่ดูแลรักษาความมั่นคง รักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในพื้นที่อย่างเต็มที่ โดยเน้นการปฏิบัติงานด้านการข่าว และการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งความสำเร็จในการจับกุมดังกล่าวเป็นผลจากการที่ ทัพเรือภาคที่ 1 ประสานการปฏิบัติตั้งแต่ด้านการข่าวและจัดกำลังทางเรือและอากาศนาวี ลาดตระเวน เฝ้าตรวจและคุ้มครองผลประโยชน์ของชาติทางทะเลอย่างต่อเนื่อง เน้นย้ำการป้องกันการรุกล้ำน่านน้ำไทยของเรือประมงต่างชาติที่เข้ามาทำการประมงโดยผิดกฎหมาย