ว่าที่ร้อยเอก ฤทธิกรณ์ นุ่นลอย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน เปิดเผยคลิปวิดีโอหาดูยากให้กับผู้สื่อข่าว เป็นภาพที่เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการดำน้ำอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ทำการสำรวจและติดตามปรากฏการณ์ปะการังปล่อยไข่ (Coral Spawning) ของปะการังเขากวาง (Acropora sp.) ที่บริเวณหน้าหาดเล็ก เกาะเมียง หรือเกาะสี่ ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้ปีละ 1 ครั้ง ซึ่งปะการังเเต่ละโคโลนีปล่อยไข่ จะใช้เวลาเพียงสั้นๆ ประมาณ 5-15 นาทีเท่านั้น เรียกว่าเป็นภาพที่หาดูยากมาก นับเป็นเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นเพียงปีละครั้งเท่านั้น
“ปะการังปล่อยไข่” เกิดขึ้นเพียงปีละครั้ง เมื่ออุณหภูมิของน้ำทะเลอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ปะการังจะปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ซึ่งมีทั้งไข่และอสุจิ รวมอยู่ด้วยกันออกสู่ท้องทะเล สำหรับการปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ในลักษณะนี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการปฏิสนธิระหว่างไข่และอสุจิ เซลล์สืบพันธุ์ที่เต็มไปด้วยสารประกอบไขมันที่เรียกว่าลิพิด จะค่อยๆ ลอยขึ้นสู่ผิวน้ำในมหาสมุทร ทำให้เกิดกระบวนการปฏิสนธิขึ้นเมื่อกระบวนการปฏิสนธิเสร็จสิ้น จะเกิดการพัฒนาเป็นตัวอ่อนของปะการังที่เรียกว่า พลานูลา ซึ่งจะล่องลอยอยู่ในมหาสมุทรเป็นระยะเวลาหลายวัน หรือหลายสัปดาห์ ก่อนที่จะลงเกาะที่พื้นมหาสมุทรและพัฒนาเป็นแนวปะการังต่อไปในอนาคต
สำหรับการปล่อยไข่ของปะการัง เป็นส่วนสำคัญในวงจรชีวิตของปะการังและระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการังในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อันเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีชื่อเสียงระดับโลกของประเทศไทย