นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังรับฟังรายงานผลการตรวจสอบอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. จากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้ความมั่นใจกับประชาชนว่ากฎหมายที่ออกมาในการสร้างอาคารและตึกต่างๆ สามารถรองรับแผ่นดินไหวได้ แต่การสร้างตึกเหล่านั้น ก็ต้องทำตามกฎหมายที่กำหนดไว้
และจากการพูดคุยได้ข้อสงสัยหลายเรื่อง ซึ่งเป็นข้อสงสัยที่สำคัญ อีกอย่างที่ต้องทำคือ ไซด์งานที่เกิดเหตุยังต้องใช้เวลาในการขนย้ายซากอาคาร โดยได้พูดคุยกับกระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร ได้รับรายงานว่า จะต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือน เพื่อเคลียร์สถานที่ต่างๆ
และการประชุมคณะกรรมการเมื่อช่วงเช้าได้ข้อสรุปว่า จะใช้ 4 สถาบันการศึกษาและกรมโยธาธิการและผังเมือง ทำโมเดลจำลองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เพื่อให้รับรู้ถึงเหตุผลที่ทำให้ตึกถล่มมีอะไรบ้าง เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชนและรัฐบาลได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ซึ่งการวิเคราะห์ในการในการจัดทำโมเดลของแต่ละสถาบันจะใช้เวลาประมาณ 90 วัน เพื่อความแน่ชัดทางคณะกรรมการจะใช้เวลา 90 วัน ในการทำโมเดลแต่ละที่ เพื่อให้เกิดความร่วมมือและความโปร่งใส
พร้อมย้ำว่า กฎหมายที่ออกมามีความครอบคลุม แม้จะเกิดแผ่นดินไหวแต่หลายตึกไม่พังถล่ม มีเพียงตึกของ สตง. เพียงตึกเดียวเท่านั้น เพราะไม่ได้ทำตามกฎหมายที่กำหนด
ส่วนข้อสงสัยที่ได้รับมาตอนนี้ ขอให้รอเกิดความชัดเจนก่อนและเมื่อเคลียร์ไซด์ก่อสร้าง 1 เดือน จะได้ข้อมูลที่เพิ่มเติมจาก ที่เกิดเหตุ นอกจากนี้จะทบทวนกระบวนการตรวจสอบเรื่องของตึก อาคารใหม่ทั้งหมด ทั้งของเอกชนและราชการ ว่า การขออนุมัติที่ถูกต้อง ปลอดภัย และใช่กระบวนการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันหรือไม่ เพราะทั้งสองเรื่องนี้สามารถเพิ่มในเรื่องแผ่นดินไหวเข้าไปได้
ดังนั้น การทบทวนกระบวนการเหล่านี้จะทำให้เกิดความคล่องตัวและตรงประเด็นมากขึ้น ขณะเดียวกัน จะเพิ่มมาตรการอย่างไรให้ตึกที่ก่อสร้างในอนาคตไม่เกิดเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้ขึ้นอีก
นายกฯ ย้ำว่า ขณะที่เหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างจะเป็นหนึ่งในวัสดุที่เกี่ยวข้องในเรื่องของปัจจัยอย่างแน่นอน ดังนั้นทั้ง 5 หน่วยงานจะมาช่วยกัน ว่า มีสิ่งใดบ้างที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ ส่วนเหล็กมีผลทำให้โครงสร้างของอาคารพังถล่มใช่หรือไม่นั้น ขอให้คณะกรรมการที่เป็นวิชาชีพเป็นผู้ให้รายละเอียด แต่ยอมรับว่า มีหลายปัจจัยที่เป็นข้อสงสัยได้ พร้อมยืนยันว่า เรื่องนี้จะต้องมีผู้รับผิดชอบ ซึ่งสิ่งใดที่ทำผิดมาตรฐาน ผิดกระบวนการ ถือเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย
ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าบริษัทผู้รับเหมาวิ่งเต้นกดดัน เพื่อให้รัฐมนตรีอุตสาหกรรมออกจากตำแหน่ง หลังเข้าไปตรวจสอบ เรื่องนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อาจจะไม่ถูกต้องเรื่องของข้อกฎหมายและอำนาจ รวมถึงเรื่องการวิ่งเต้นถือเป็นเรื่องใหญ่ ไม่มีใครสนับสนุนอยู่แล้ว เบื้องต้นไม่ได้พูดคุยกับบริษัท อิตาเลียนไทย และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 แต่ถ้าเกี่ยวข้องกับกระบวนการก็ต้องพูดคุย
ด้านนายเป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การตรวจสอบ จะทำการรวบรวมคุณภาพเหล็กคอนกรีตแบบวีดีโอเทปที่มีการประเมินและทำแบบจำลองคอมพิวเตอร์ เพื่อการใช้แบบจำลอง จะทำให้เข้าใจ กระบวนการของตึกที่พังทลาย คาดว่าต้องใช้เวลาประเมิน 90 วัน ส่วนเหตุผลที่คณะทำงานไม่กล้าสรุป เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาครบกระบวนการ ที่จะรู้ว่ามีสาเหตุหลักมาจากส่วนใด
ขณะที่ นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า ในส่วนโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า ขณะนี้ได้ตรวจเฉพาะอาคารในพื้นที่กรุงเทพฯจำนวน 559 อาคาร 191 หน่วยงาน แล้ว พบว่าผลการตรวจสอบมีเพียง 2 หน่วยงานที่มีความเสียหายรุนแรงและห้ามใช้อาคาร คือ อาคารกรมสรรพากรและอาคารสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งได้ปิดการใช้ ส่วนที่โรงพยาบาลราชวิถี จากอาคารพื้นที่สีแดง ล่าสุดผู้เชี่ยวชาญเข้าซ่อมแซมและเป็นพื้นที่สีเหลือง ที่มีบางส่วนสามารถใช้ได้ ส่วนอาคารทั่วประเทศมีทั้งหมดกว่า 7,000 มีอาคารเสียหายไม่ถึง 1%
ขณะที่อาคารภาคเอกชน คอนโดมิเนียม โรงแรม ห้างสรรพสินค้า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สั่งการให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประสานให้ผู้ประกอบการ ทำการตรวจสอบอาคารอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับประชาชน