นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานและมอบนโยบาย “ส่งตรงโอกาสถึงชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน” ภายใต้โครงการสนับสนุน เสริมสร้าง ศักยภาพกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอย่างมั่นคง โดยมีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เข้าร่วมด้วย
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีรับฟังการบรรยายพร้อมชมวีดิทัศน์ที่มาแนวคิดการจัดงาน โครงการ SML “ส่งตรงโอกาสถึงชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน” ซึ่งรัฐบาล โดยสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เปิดโครงการ “ส่งตรงโอกาสถึงชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน” ภายใต้โครงการสนับสนุน เสริมสร้างศักยภาพกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอย่างมั่นคง ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งพัฒนาต่อยอดมาจากแนวคิดโครงการพัฒนาศักยภาพหมู่บ้านและชุมชน (SML) มุ่งเน้นการส่งเสริมการมีส่วนของประชาชนในการบริหารจัดการงบประมาณโดยชุมชน ครอบคลุมกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศกว่า 79,610 แห่ง เพื่อพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
นายกรัฐมนตรี กล่าวมอบนโยบายโครงการ SML “ส่งตรงโอกาสถึงชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน” ภายใต้โครงการสนับสนุน เสริมสร้าง ศักยภาพกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอย่างมั่นคง ว่าเป็นอีกวันสำคัญที่ได้มาร่วมกันยืนยันว่าประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าได้อย่างเข้มแข็ง เพราะว่าถ้าชุมชนเข้มแข็ง ประเทศไทยจะเข้มแข็งไปด้วย ทั้งนี้ การทำให้ชุมชนต่างๆ เข้มแข็งมากขึ้นได้นั้น ก็คือการเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนมีสิทธิ์ร่วมกันตัดสินใจเพื่อชุมชนของตัวเอง คือสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะรัฐบาลตั้งใจกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งพี่น้องประชาชนในที่ต่างๆ จะรู้ปัญหาของตัวเองดีที่สุด รัฐบาลเป็นเพียงผู้สนับสนุนเท่านั้น การที่ประชาชนในแต่ละชุมชนมีโอกาสร่วมกันตัดสินใจร่วมกันทำประชาคมว่าสิ่งใดสำคัญที่สุดสำหรับชุมชนของตัวเองนั้น คือทางออกทางแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดและเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการเห็น
กองทุนหมู่บ้านเริ่มต้นเมื่อปี 2544 โดยรัฐบาลของพรรคไทยรักไทย ซึ่งปีนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 24 แล้ว ได้เห็นบทบาทของกองทุนที่ช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากฐานรากสร้างโอกาสในเรื่องของอาชีพเพิ่มขึ้นให้กับพี่น้องประชาชน สามารถแก้ปัญหาหลักๆ ของประชาชนทั่วไปได้ ปัจจุบันมีกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองกว่า 79,610 แห่ง มีสมาชิกกว่า 13 ล้านคน และมีเงินทุนหมุนเวียนรวมกันกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งในวันนี้มีโครงการสนับสนุน เสริมสร้างศักยภาพกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอย่างมั่นคง หรือ โครงการ SML
หัวใจของโครงการนี้ ไม่ใช่แค่การแจกเงินให้ชุมชน แต่สามารถมองเห็นว่าโครงการเล็กๆ มีผลต่อประชาชน ซึ่งสำคัญจริงๆ โดยเริ่มจากการดูจำนวนของประชาชนในแต่ละหมู่บ้านก่อน เพื่อที่จะกำหนดงบประมาณในการช่วยเหลือ โดยกำหนดงบประมาณ 2 แสน 3 แสน และ 4 แสนบาท ซึ่งเงินเหล่านี้คนในหมู่บ้านสามารถรวมตัวทำประชาคม ร่วมกันโหวตว่าต้องการโครงการใด โครงการไหนหรือนโยบายใดที่จะพัฒนาชุมชนได้จริงๆ อาทิ การทำให้น้ำสะอาดพร้อมบริโภค การติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ความปลอดภัยของชุมชน ถือว่าเป็นสิ่งที่คนในหมู่บ้านต้องมารวมตัวกันทำประชาคมแล้วก็เลือกว่าอะไรที่ดีที่สุดสำหรับชุมชนของตน ถือเป็นการตอบโจทย์เรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ เป็นโอกาสให้ชุมชนเล็กๆ ได้ช่วยกันผลักดันเศรษฐกิจในจุดเล็กๆ เพิ่มขึ้น จนกลายเป็นจุดที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระดับประเทศ
นายกรัฐมนตรี ระบุว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกๆ ชุมชนจะสามารถหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับชุมชนของตัวเองได้อย่างดีและมั่นคงต่อไป รัฐบาลพร้อมที่จะส่งตรงโอกาสถึงชุมชนโดยชุมชนเพื่อชุมชน แน่นอนว่านี่คือจุดเริ่มต้นอีกครั้งที่จะทำให้ชุมชนแต่ละที่แข็งแรงยิ่งขึ้น และก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงพร้อมๆ กัน โอกาสนี้ ขอบคุณทีมงานที่ร่วมกันทำโครงการดีๆ แบบนี้มาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจนวันนี้ได้กลับมาทำ SML กันอีกครั้ง ขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลก็จะเป็นผู้สนับสนุนที่ดีให้กับประชาชนทุกคน เพื่อที่จะได้มีฐานะ มีความกินดีอยู่ดี มีอาชีพ จนสามารถดูแลครอบครัวของตนเองได้ดียิ่งขึ้นต่อไปอย่างมั่นคง
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานคณะกรรมการหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) กล่าวถึงวัตถุประสงค์การเปิดโครงการ SML ว่า ในปีงบประมาณ 2568 สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ โดยรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ 11,392,200,000 บาท มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งเพิ่มศักยภาพการสร้างรายได้ขยายโอกาสให้กับหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้เกิดความยั่งยืน ด้วยกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมในการดำเนินการร่วมกันสังเคราะห์ระหว่างชุมชนกับหมู่บ้านและชุมชนกับชุมชน ใน 2 ประการสำคัญคือ
1. เพื่อสร้างการรับรู้การดำเนินงานโครงการฯ ให้คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และภาคีพันธมิตรที่เกี่ยวข้องมีความรู้ความเข้าใจถึงระเบียบวิธีปฏิบัติและการดำเนินงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานโครงการ สนับสนุนเสริมสร้างศักยภาพกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอย่างมั่นคง
2. เพื่อเตรียมความพร้อมการดำเนินงานโครงการสนับสนุนเสริมสร้างศักยภาพกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอย่างมั่นคง คณะกรรมการกองทุนและภาคีพันธมิตรที่เกี่ยวข้องขยายผลการประชาสัมพันธ์
สร้างการรับรู้ให้กองทุนหมู่บ้านได้รับทราบถึงแนวทางในการดำเนินงาน
นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานความเป็นมาของโครงการ SML ว่า กว่า 20 ปีที่แล้ว เป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งของนโยบายที่สำคัญและตอบโจทย์ความต้องการของพี่น้องประชาชนในชุมชนอย่างแท้จริง เริ่มขึ้นในสมัยรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้พบปะพูดคุยรับฟังปัญหากับพี่น้องประชาชน จากปัญหาความต้องการซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาพื้นฐานและใช้งบประมาณไม่มาก แต่สิ่งที่สะท้อนเหล่านั้นคืองบประมาณส่งถึงชุมชนตามขนาดของหมู่บ้าน โดยให้พี่น้องประชาชนในหมู่บ้านชุมชนได้ระดมความคิดเห็นกันแล้วก็เสนอโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ของตนเอง ตามหลักประชาธิปไตย โดยที่ไม่ได้ถูกกำหนดมาจากรัฐบาล ถูกกำหนดโดยพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ดังนั้นโครงการ SML เป็นโครงการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนอย่างตรงจุดทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ เพื่อที่จะเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในชุมชนปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับสมาชิกในหมู่บ้าน ในกองทุนฯ ทั้งนี้ โครงการ SML ไม่ใช่โครงการกู้ยืมหรือปล่อยสินเชื่อรายบุคคล แต่เป็นการส่งตรงงบประมาณให้กับหมูบ้านหรือชุมชน เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาส่วนรวม ในการสร้างอาชีพของตนเอง ถือเป็นหัวใจของโครงการฯ ต่อมาในปี 2555 ภายใต้การนำของอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้นำโครงการฯ มาสานต่อเสริมความแข็งแกร่งงบประมาณ ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมโดยเฉพาะประชาคม ทำให้เกิดระบบบริหารจัดการ เมื่อได้เครื่องมือที่เหมาะสมชุมชนสามารถที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ด้วยตนเอง และเป็นการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่พัฒนาอย่างยั่งยืน และในปี 2568 ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ได้ฟื้นโครงการฯ ผ่านโครงการสนับสนุน เสริมสร้างศักยภาพกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอย่างมั่นคง ด้วยงบประมาณ 11,392,200,000 บาท เพื่อให้ชุมชนทั่วประเทศได้มีโอกาสในการคิดและทำสิ่งที่จำเป็นที่ตนเองต้องการอีกครั้ง โดยยึดหลักความต้องการของประชาชนเป็นที่ตั้ง เปิดโอกาสให้ทุกคนร่วมพัฒนาอย่างแท้จริง โดยที่รัฐบาลทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุน สร้างการมีส่วนร่วมกับพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน เป็นการส่งตรงโอกาสถึงชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชนอย่างแท้จริง
หลักเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณ
จากการประชุมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2568 มีมติเห็นชอบ จัดสรรเงินให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ดังนี้
1. ขนาดหมู่บ้านและชุมชนเมือง ขนาด S ประชากร ไม่เกิน 500 คน จัดสรรเงิน 200,000 บาท
2. ขนาดหมู่บ้านและชุมชนเมือง ขนาด M ประชากร 501 – 1,000 คน จัดสรรเงิน 300,000 บาท
3. ขนาดหมู่บ้านและชุมชนเมือง ขนาด L ประชากร 1,001 คนขึ้นไป จัดสรรเงิน 400,000 บาท
คุณสมบัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ที่ประสงค์ขอรับงบประมาณตามโครงการ ดังนี้
1. เป็นกองทุนหมู่บ้านที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล
2. เป็นกองทุนหมู่บ้านที่ส่งงบการเงินรอบปีบัญชีล่าสุดและรอบปีบัญชีก่อนหน้าให้สำนักงานต่อเนื่อง
2 ปี (ปี 2566-2567)
3. มีคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านที่ได้รับการคัดเลือกและรับรองให้เป็นคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและอยู่ในวาระการดำรงตำแหน่งโดยถูกต้องตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ว่าด้วยการจัดตั้งและบริหารกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2551
หลักเกณฑ์การจัดประชุมประชาคม กองทุนหมู่บ้านที่มีคุณสมบัติและมีความประสงค์ขอรับจัดสรรงบประมาณโครงการ ต้องจัดให้มีการประชุมประชาคม เพื่อนำเสนอโครงการตามวัตถุประสงค์ โดยองค์ประชุมประชาคมให้ประกอบด้วย
1. ผู้แทนครัวเรือนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด
2. สมาชิกกองทุนหมู่บ้านไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกกองทุนหมู่บ้านทั้งหมด โดยผู้แทนครัวเรือนและสมาชิกกองทุนหมู่บ้านสามารถเป็นบุคคลเดียวกันได้