นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ได้แก่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติกรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยมีนางจอม นิมล (H.E. Mrs. Cham Nimul) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ในฐานะรัฐมนตรีเกียรติยศ พร้อมคณะฝ่ายกัมพูชาให้การต้อนรับ จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ณ วิมานสันติภาพ โดยนายกรัฐมนตรีและสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนด (Samdech Moha Borvor Thipadei HUN Manet) นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาได้ร่วมหารือเต็มคณะ
นายกรัฐมนตรีขอบคุณสำหรับการต้อนรับที่อบอุ่นจากนายกรัฐมนตรีกัมพูชาและรัฐบาลกัมพูชา ในโอกาสการเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 75 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปีนี้ พร้อมย้ำว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญต่อมิตรภาพและความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมกับกัมพูชา เชื่อมั่นว่าท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจในระดับโลก ไทยและกัมพูชาในฐานะเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดจะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้น และใช้โอกาสนี้ผลักดันความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างกันให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
โอกาสนี้ ผู้นำทั้งสองได้หารือประเด็นความสัมพันธ์และความร่วมมือที่สำคัญระหว่างกัน ดังนี้
1. ความสัมพันธ์ทวิภาคี ทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับสูงระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ และมีการจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 75 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันตลอดทั้งปี
และพร้อมร่วมกันขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเสนอให้ทั้งสองฝ่ายเป็นประธานร่วมกันในพิธีเปิดสะพานมิตรภาพไทย – กัมพูชาแห่งแรก (บ้านหนองเอี่ยน – สตึงบท) อย่างเป็นทางการในปลายปีนี้
2. ความมั่นคง นายกรัฐมนตรีเสนอให้หน่วยงานทหารและความมั่นคงของทั้งสองประเทศมีการหารือร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจ ป้องกันความเข้าใจผิดและรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในพื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะเพิ่มพูนความร่วมมือกับกัมพูชา เพื่อสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะการยกระดับความร่วมมือเพื่อปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ (Online Scams) ระหว่างหน่วยงานตำรวจและฝ่ายปกครอง โดยผ่านการแบ่งปันพยานหลักฐาน การป้องกันไม่ให้มีการนำสัญญาณอินเทอร์เน็ตและโทรคมนาคมไปใช้ในกิจกรรมผิดกฎหมาย เพิ่มมาตรการควบคุมบริเวณชายแดนและป้องกันการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย รวมถึงการยกระดับความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน ผ่านการพัฒนาระบบติดตามและเฝ้าระวังร่วมกัน ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างกัน โดยเฉพาะด้านการตรวจวัด PM2.5 และการทำเกษตรปลอดการเผา (Zero burn Farming)
3. เศรษฐกิจ
การค้าและการลงทุน ทั้งสองฝ่ายยินดีที่การค้าระหว่างกันในปี 2567 มีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเห็นพ้องร่วมกัน ที่จะวางแนวทางเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน โอกาสนี้ไทยและกัมพูชาจะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหอการค้าของทั้งสองประเทศด้วย ทั้งนี้ ไทยและกัมพูชา ยังเห็นพ้องให้มีการเร่งรัดการประชุม Joint Trade Commission ระหว่างกันด้วยและส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดน รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้กับการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนไทยในกัมพูชา ตลอดจนความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของภูมิภาคให้สามารถรับมือกับความท้าทายจากภายนอก
การพัฒนาพื้นที่ชายแดน นายกรัฐมนตรีเห็นถึงศักยภาพในการเติบโตและการพัฒนาพื้นที่ชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา เสนอให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันวางแนวทางเชื่อมโยงเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนของทั้งสองประเทศ พร้อมเร่งรัดการจัดตั้งกลไกร่วม (Joint Mechanism) ภายใต้คณะกรรมการชายแดนทั่วไป (General Border Committee: GBC) เพื่อเร่งรัดการเก็บกู้ทุ่นระเบิดบริเวณชายแดนไทย – กัมพูชาให้เร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่
ความเชื่อมโยง ให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันพัฒนาบริการขนส่งสินค้าทางรางระหว่างสองประเทศ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการขนส่ง ตลอดจนให้มีการรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามแดนทางถนน เพื่อให้รถยนต์ส่วนบุคคลสามารถข้ามพรมแดนได้อย่างสะดวก รวมถึงเร่งรัดการพัฒนาและปรับปรุงโครงการทางหลวงหมายเลข 67 และ 68 ของกัมพูชา ซึ่งจะเป็นเส้นทางเชื่อมโยงการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างกัน
การท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายยังมีศักยภาพที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างกันได้อีกมาก อาทิ การปรับปรุงความตกลงว่าด้วยการข้ามแดน เพื่อให้สามารถพำนักอยู่ในประเทศได้นานขึ้น การเพิ่มบัตรผ่านแดนชั่วคราว (Temporary Border Pass) รวมถึงกัมพูชายินดีเดินหน้าตามแนวคิด Six Countries, One Destination จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวข้ามแดน โดยอาจเริ่มที่การท่องเที่ยวชายฝั่งไทย – กัมพูชา – เวียดนาม ด้วย
แรงงาน ไทยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของแรงงานกัมพูชาในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และรัฐบาลได้ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมการขออนุญาตกลับเข้ามาในราชอาณาจักร (Re – Entry Permit) สำหรับแรงงานกัมพูชาที่ต้องการเดินทางกลับประเทศในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งหน่วยงานด้านแรงงานของทั้งสองประเทศจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แน่ใจว่าแรงงานกัมพูชาได้รับการจ้างงานผ่านช่องทางที่ถูกกฎหมาย เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่าง ๆ
4. ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ไทยพร้อมให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแก่กัมพูชาอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยเฉพาะด้านการศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยนายกรัฐมนตรีย้ำการจัดทำแผนงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ระยะ 3 ปี ฉบับต่อไปให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และยืนยันว่า ไทยพร้อมสนับสนุนการก่อสร้างอาคารเรียนภาควิชาภาษาไทย ณ มหาวิทยาลัยภูมินท์พนมเปญ และอาคารอบรมของศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานไทย – กัมพูชา รวมทั้งทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะสนับสนุนความร่วมมือด้าน soft power ซึ่งจะช่วยกระชับความสัมพันธ์และมิตรภาพในระดับประชาชนกับประชาชนด้วย
5. ความร่วมมือในระดับภูมิภาค นายกรัฐมนตรี เห็นว่า อาเซียนควรเสริมสร้างการบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาคให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือกับความท้าทายจากภายนอก โดยไทยต้องการให้การค้าและการลงทุนภายในอาเซียนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับหุ้นส่วนระดับภูมิภาค โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และอินเดีย นอกจากนี้ ไทยพร้อมร่วมมือกับกัมพูชา เพื่อเสริมสร้างการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจภายในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์เชื่อมโยงกับจีนและภูมิภาคเอเชียใต้
ในตอนท้าย ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อสถานการณ์ในเมียนมา โดยเห็นพ้องกันว่าการมีปฏิสัมพันธ์กับเมียนมาที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นอาจนำไปสู่พัฒนาการในเชิงบวกที่สอดคล้องกับฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน โดยไทยได้ให้ความช่วยเหลือการแพทย์และสนับสนุนการฟื้นฟูในเมียนมาจากสถานการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น และพร้อมร่วมมือกับกัมพูชาเพื่อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในเมียนมามีการพูดคุยกันเพื่อหาทางออกด้วยสันติวิธี
นายกรัฐมนตรี และ นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลง จำนวน 7 ฉบับ ได้แก่
1. บันทึกความตกลงว่าด้วยกรรมสิทธิ์ การใช้ การบริหาร และการบำรุงรักษาสะพานมิตรภาพไทย – กัมพูชา (บ้านหนองเอี่ยน – สตึงบท) (Agreement between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the Kingdom of Cambodia on the Management, Maintenance, and Usage of Thailand – Cambodia Friendship Bridge (Ban Nong Ian – Stung Bot))
2. บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงสิ่งแวดล้อมราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยความร่วมมือด้านมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมข้ามแดน (Memorandum of Understanding between the Ministry of Natural Resources and Environment of the Kingdom of Thailand and the Ministry of Environment of the Kingdom of Cambodia On Transboundary Environmental Pollution Cooperation)
3. หนังสือแลกเปลี่ยนเพื่อปรับเปลี่ยนสาระสำคัญของความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานกัมพูชา – ไทย (Exchange of Notes between Thailand International Cooperation Agency, Ministry of Foreign Affairs of the Kingdom of Thailand and Directorate General of Technical Vocational Education and Training on Revision of Agreement for the Establishment of the Cambodian – Thai Skill Development Center)
4. บันทึกข้อตกลงด้านการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา (Agreement on the Employment Workers between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the Kingdom of Cambodia)
5. บันทึกความเข้าใจระหว่างไทยกับกัมพูชาว่าด้วยความร่วมมือเรื่องแรงงานและการจัดทำข้อตกลง ด้านการจ้างงานไทย – กัมพูชา (Memorandum of Understanding between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the Kingdom of Cambodia on Labour Cooperation)
6. บันทึกการหารือ สำหรับการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ราชอาณาจักรกัมพูชา สำหรับงานออกแบบรายละเอียดโครงการปรับปรุงถนนหมายเลข 57 (บ้านผักกาด – บ้านปรม จังหวัดไพลิน – ถนนหมายเลข 5 จังหวัดพระตะบอง) ราชอาณาจักรกัมพูชา (Record of Discussion between the Neighbouring Countries Economic Development Cooperation Agency (Public Organisation) of the Kingdom of Thailand and the Ministry of Public Works and Transport of the Kingdom of Cambodia for the Technical Assistance on the Detailed Design for the Improvement of the National Road No.57 (Section of Battambang-Prom International Border Checkpoint) Project)
7. ความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการก่อสร้างสะพานข้ามพรมแดนแห่งใหม่ ณ จุดผ่านแดนถาวรบ้านผักกาดอำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี (Agreement between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the Kingdom of Cambodia on the Construction of the New Border Bridge at Nation Border Check Point Ban Pak Kard, Pong Nam Ron District, Chanthaburi Province)
จากนั้น นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาเป็นประธานในพิธีเปิดตัวตราสัญลักษณ์ครบรอบ 75 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – กัมพูชา และการแถลงข่าวร่วมกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยินดีที่ได้ร่วมกับสมเด็จมหาบวรธิบดีฮุน มาแนด เปิดตัวตราสัญลักษณ์เพื่อเฉลิมฉลองวาระดังกล่าวอย่างเป็นทางการ การหารือในครั้งนี้เป็นกันเองและสร้างสรรค์ และต่างแสดงความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะกระชับความร่วมมือ บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ การเคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน โดยได้หารือกันในประเด็นสำคัญ ดังนี้
1) การยืนยันถึงความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างกัน โดยยินดีที่ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม เพื่อให้ความเป็นหุ้นส่วนดังกล่าวก่อประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมให้แก่ประชาชนของทั้งสองประเทศ รวมถึงยินดีต่อการเปิดสถานกงสุลใหญ่ไทยที่จังหวัดเสียมราฐ และการเปิดสถานกงสุลใหญ่กัมพูชาที่จังหวัดสงขลาในอนาคตอันใกล้
2) การเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคง โดยสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือทางทหารให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในทุกระดับ เพื่อรักษาไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพตามแนวชายแดนระหว่างสองประเทศ นายกรัฐมนตรี ได้ขอบคุณนายกรัฐมนตรีกัมพูชา สำหรับความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างหน่วยงานตำรวจในการปราบปรามแก๊งหลอกลวงออนไลน์ และจะส่งเสริมความร่วมมืออย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อขจัดเครือข่ายอาชญากรรมให้หมดจากพื้นที่ชายแดน พร้อมแสดงความเชื่อมั่นว่าการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยมลพิษสิ่งแวดล้อมข้ามแดนในครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือในการรับมือกับมลพิษฝุ่น PM2.5 ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการพัฒนาขีดความสามารถของหน่วยงานของทั้งสองประเทศ
3) การเร่งรัดการพัฒนาพื้นที่ชายแดน โดยไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมอย่างไม่เป็นทางการที่พื้่นที่ชายแดน ในโอกาสเปิดสะพานมิตรภาพไทย – กัมพูชา อย่างเป็นทางการ รวมถึงจะเร่งรัดการเก็บกู้ทุ่นระเบิดตามแนวชายแดน และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ตลอดจนเร่งเจรจาความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางถนน เพื่อให้รถยนต์ส่วนบุคคลสามารถข้ามแดนได้ รวมทั้งพัฒนาบริการขนส่งสินค้าข้ามแดนทางราง เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมโยงสองประเทศ และในภูมิภาคต่อไป
4) การกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และตั้งเป้าที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน จาก 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ค.ศ. 2027 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณกัมพูชาที่สนับสนุนนักลงทุนไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบัน เป็นกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 9 ในกัมพูชา นอกจากนี้ สองฝ่ายเห็นพ้องประสานงานกันภายในกรอบอาเซียน เพื่อส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค รวมทั้งเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
5) การเสริมสร้างความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว และขับเคลื่อนข้อริเริ่ม “หกประเทศ หนึ่งจุดหมายปลายทาง” ให้มีความคืบหน้า รวมทั้งจะปรับปรุงความตกลงว่าด้วยการข้ามแดนเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางข้ามแดนเพื่อการท่องเที่ยว
6) การส่งเสริมให้มีการจ้างแรงงานชาวกัมพูชาในประเทศไทยผ่านช่องทางที่ถูกกฎหมายเท่านั้น เพื่อให้แรงงานสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เหมาะสม
7) การเสริมสร้างมิตรภาพและความเข้าใจระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ซึ่งได้มีการลงนามในเอกสารเพื่อจัดตั้งศูนย์พัฒนาทักษะแรงงานที่ปูนพนม โดยจะจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 75 ปี ความสัมพันธ์ไทย – กัมพูชา ตลอดทั้งปีนี้ เพื่อสะท้อนมิติต่างๆ ของมิตรภาพอันยาวนาน
นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ยังได้เดินทางไปวางพวงมาลา ณ วิมานเอกราช (Independence Monument) โดยมีผู้แทนกระทรวงกลาโหมกัมพูชาให้การต้อนรับ วิมานเอกราชตั้งอยู่ใจกลางกรุงพนมเปญ โดยถือเป็นอนุสาวรีย์ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของกัมพูชา สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2501 เพื่อรำลึกถึงการประกาศเอกราชของกัมพูชา โดยอนุสาวรีย์มีความงามทางสถาปัตยกรรมโดยถอดแบบจากนครวัด ซึ่งมีลักษณะคล้ายสถูปทรงดอกบัว
ปัจจุบันวิมานเอกราชยังเป็นหนึ่งในสถานที่พักผ่อนและสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของกรุงพนมเปญ
นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะ ได้เดินทางไปวางพวงมาลา ถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ พระบรมรัตนโกศ (The Monument of PREAH BOROM RATANAK KAUDH The Late King-Father of Cambodia) โดยมีผู้แทนกระทรวงพระราชวังแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาให้การต้อนรับ ทั้งนี้ อนุสรณ์สถานแห่งนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2556 เพื่ออุทิศแด่อดีตพระมหากษัตริย์พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของสวนวิมานเอกราช โดยเป็นสถานที่สำหรับสักการะอดีตพระมหากษัตริย์ และวันที่ 15 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันครบรอบการเสด็จสวรรคต จะมีชาวกัมพูชาเข้ามาสักการะเป็นจำนวนมาก
นายกรัฐมนตรี พบหารือกับสมเด็จมหารัฐสภาธิการธิบดี ควน โซะดารี (Samdech Maha Rathsapheathika Thipadei Khuon Sudary) ประธานสภาแห่งชาติ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวชื่นชมสมเด็จมหารัฐสภาธิการธิบดี ควน โซะดารี ซึ่งนับเป็นสตรีคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญนี้ พร้อมชื่นชมบทบาทในการส่งเสริมสตรีและเด็กผู้หญิงในกัมพูชาให้ได้รับการศึกษา การฝึกอบรม และสร้างโอกาสการเป็นผู้นำให้กับสตรีมากขึ้น โดยมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมบทบาทของสตรีระหว่างสองประเทศ นายกรัฐมนตรี ระบุว่าพร้อมริเริ่มและสนับสนุนความร่วมมือระหว่างไทยกับกัมพูชาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเด็กผู้หญิงและสตรีอย่างเต็มที่
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า จะใช้โอกาสครบรอบ 75 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปีนี้ เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภาไทย – กัมพูชา ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น และยินดีที่ในปีที่ผ่านมา มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างประธานรัฐสภาของทั้งสองประเทศ โดยนายกรัฐมนตรียังต้องการริเริ่มและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกรัฐสภารุ่นใหม่และสมาชิกสตรีของรัฐสภาทั้งสองประเทศให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ยินดีที่ได้หารือกับทุกภาคส่วนสำคัญของกัมพูชา และได้รับผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในหลายประเด็น โดยเฉพาะในการหารือกับสมเด็จฯ ฮุน มาแนด ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสองประเทศในทุกมิติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ที่เน้นการสร้างความกินดีอยู่ดีของประชาชน การส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน ความเชื่อมโยง การท่องเที่ยว ขณะที่ด้านความมั่นคง สองประเทศเห็นพ้องที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาข้ามแดนที่กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะปัญหา online scams ซึ่งประธานรัฐสภากัมพูชาได้แสดงความยินดีที่การเยือนของนายกรัฐมนตรีช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นและพร้อมสนับสนุนความร่วมมือเหล่านี้ ให้มีความคืบหน้าต่อไป
นายกรัฐมนตรี ยังได้เข้าเยี่ยมคารวะสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน (Samdech Akka Moha Sena Padei Techo HUN SEN) ประธานวุฒิสภาและประธานองคมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา โดยนายกรัฐมนตรีขอบคุณสมเด็จฯ ฮุน เซน สำหรับการเข้าเยี่ยมคารวะในครั้งนี้ และการต้อนรับที่อบอุ่น และรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้มาเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการและได้เข้าพบหารือกับสมเด็จฯ ฮุน เซน ถือเป็นโอกาสอันดีในการแลกเปลี่ยนแนวความคิดและประสบการณ์ระหว่างกัน โดยไทยและกัมพูชามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมาอย่างยาวนาน ทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับสูงระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการเยือนในครั้งนี้ของนายกรัฐมนตรี ถือเป็นการเยือนกัมพูชาครั้งที่ 2 ของนายกรัฐมนตรีไทย นับตั้งแต่สมเด็จฯ ฮุน มาแนด เข้ารับตำแหน่ง และยังเป็นส่วนหนึ่งของการฉลองโอกาสครบรอบ 75 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – กัมพูชา
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีและสมเด็จฯ ฮุน เซน ได้หารือประเด็นความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกัน โดยย้ำความมุ่งมั่นที่จะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และพร้อมทำงานร่วมกับรัฐบาลกัมพูชาอย่างใกล้ชิด เพื่อเสริมสร้างสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ทั้งสองประเทศ ตลอดจนร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทั้งในด้านการค้าและการลงทุน เพื่อรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน
โดยนายกรัฐมนตรีขอรับการสนับสนุนจากสมเด็จฯ ฮุน เซน ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาต่อไป เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ที่ดี ความปลอดภัย และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประชาชนทั้งสองประเทศ ซึ่งสมเด็จฯ ฮุน เซน พร้อมให้การสนับสนุนและร่วมมือกับไทย เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกันต่อไป
ในตอนท้าย ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอื่นๆ ต่อสถานการณ์ในภูมิภาคและเน้นย้ำความสำคัญของการกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆ