นายกฯ นำทีมประชุม ครม.สัญจร จ.นครพนม ขับเคลื่อนนโยบายพื้นที่อีสานตอนบน “สกลนคร – นครพนม – มุกดาหาร”

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี สัญจร ในวันที่ 29 เมษายน 2568 ที่จังหวัดนครพนม ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีดำริให้รัฐมนตรีทุกกระทรวง ลงพื้นที่ตรวจราชการและติดตามงานในทุกมิติในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคอีสาน ในวันที่ 27 – 28 เมษายน 2568 ก่อนการเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรอย่างเป็นทางการ

โดย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเดินทางลงพื้นที่จังหวัดสกลนครและนครพนม เพื่อตรวจราชการและติดตามผลการดำเนินงานของส่วนราชการต่างๆ ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร) ในวันที่ 28 เมษายน 2568 ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2568 ในวันที่ 29 เมษายน 2568 ที่หอประชุม อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยนครพนม จังหวัดนครพนม

สำหรับกำหนดการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 28 เมษายน 2568 เวลา 08.45 น. นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะ ออกเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ ไปยังสนามบินกองทัพบก ค่ายกฤษณ์สีวะรา ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมืองสกลนคร จ.สกลนคร และเดินทางต่อไปยังสวนสาธารณะดอนเกิน  อ.เมืองสกลนคร จ.สกลนคร เพื่อติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนแผนพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่บึงหนองหารและการบริหารจัดการน้ำ

จากนั้น นายกรัฐมนตรีจะไปศูนย์หัตถกรรมวัดธาตุประสิทธิ์ อ.นาหว้า จ.นครพนม เพื่อเยี่ยมชมศูนย์หัตถกรรมวัดธาตุประสิทธิ์ “นาหว้าโมเดล” ตามแนวพระดำริ “Sustainable Fashion : แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” จากนั้นจะเป็นประธานการประชุมติดตามการแก้ไขปัญหายาเสพติดข้ามแดนในพื้นที่ ที่หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขงนครพนม อ.เมืองนครพนม และในช่วงเย็น นายกรัฐมนตรีและคณะจะร่วมสักการะพญาศรีสัตตนาคราช พร้อมจุดเรือไฟบกที่ลานพนมนาคา ริมแม่น้ำโขง อ.เมืองนครพนม

วันที่ 29 เมษายน 2568 เวลาประมาณ 10.00 น. นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2568 ที่หอประชุมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยนครพนม หลังเสร็จสิ้นการประชุมนายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปที่ด่านศุลกากรนครพนม ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำโขงตรงข้ามประเทศลาว เพื่อติดตามสถานการณ์การค้าชายแดนในพื้นที่ เนื่องจากด่านศุลกากรนครพนม มีจุดผ่านแดนถาวรทั้งหมด 2 แห่ง คือ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน ลาว ) ท่าเทียบเรือการท่องเที่ยวเทศบาลนครพนมรวมทั้งจุดผ่อนปรนการค้าอีก 4 แห่ง ได้แก่ จุดผ่อนปรน อ.ท่าอุเทน จุดผ่อนปรนบ้านดอนแพง จุดผ่อนปรน  อ.ธาตุพนม และจุดผ่อนปรนบ้านหนาดท่า

นายจิรายุ ระบุว่า การลงพื้นที่ภาคอีสานของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าของโครงการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ทุกมิติ ทั้งการค้าขายระหว่างประเทศ การท่องเที่ยว การพัฒนาเมืองเนื่องจากจังหวัดนครพนม และมุกดาหาร เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูงเป็นจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับประเทศลาว ที่มีเส้นทางการคมนาคมหลักที่สามารถเชื่อมโยงไปยังประเทศเวียดนามตอนกลางที่เมืองดานังได้ ทั้งนี้ การลงพื้นที่ของคณะรัฐมนตรี จะทำให้รัฐบาลสามารถเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาต่อยอดทุกมิติและแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อให้จังหวัดสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การค้าการลงทุน รวมถึงการแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งนี้ เมื่อปัญหายาเสพติดลดลงคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ก็จะดีขึ้น

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้ การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง โดยในปี 2568 รัฐบาลได้ผลักดันเป็นปีทองแห่งการท่องเที่ยว พร้อมปรับรูปแบบเมืองรองการท่องเที่ยวเป็น “เมืองน่าเที่ยว” ทั่วไทย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 จังหวัด คือ นครพนม สกลนคร และมุกดาหาร ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวและประเพณี เพื่อสร้างซอฟต์พาวเวอร์ให้ประเทศไทย ชูโรง 3 เทศกาลช่วงออกพรรษา สร้างความคึกคักและความต่อเนื่องด้วยประเพณีอันงดงาม ได้แก่ การยกระดับเทศกาล “ไหลเรือไฟ” สู่มหกรรมเรือไฟโลก นำเสนอคุณค่าวัฒนธรรมไทยสู่สายตาชาวโลก และงานแห่ปราสาทผึ้ง สืบสานวัฒนธรรมที่โดดเด่นจากขี้ผึ้งธรรมชาติ รวมถึงเทศกาลแข่งเรือยาวโบราณ และประเพณีแข่งเรือยาวออกพรรษา เชื่อมสายสัมพันธ์สองฝั่งโขง ไทย – สปป.ลาว นอกจากนั้น รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตด้านสาธารณสุขในภาคอีสานตอนบน โดยได้อนุมัติจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม เพื่อผลิตแพทย์ที่มีคุณภาพ รองรับความต้องการของชุมชนในภาคอีสานตอนบน และแก้ปัญหาความขาดแคลนแพทย์ของชุมชน

นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน รองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวและประชาชนในกลุ่มจังหวัดสนุก ให้เดินทางได้สะดวกครบทุกมิติ ทั้งทางอากาศ ทางถนน และทางราง ดังนี้

1. การคมนาคมทางอากาศ เพิ่มเส้นทางการบินมายังท่าอากาศยานนครพนม และสกลนคร เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวของจังหวัดนครพนมและจังหวัดใกล้เคียง พร้อมศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้าง
ท่าอากาศยานมุกดาหาร คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568

2. การคมนาคมทางราง ดำเนินการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงบ้านไผ่ – มุกดาหาร – นครพนม ระยะทาง 355 กม. ให้เปิดบริการได้ในปี 2571 ซึ่งจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 3.8 ล้านคนต่อปี และรองรับปริมาณการขนส่งสินค้ากว่า 700,000 ตันต่อปี รวมถึงมีโครงการรถไฟสายใหม่ในอนาคต 3 โครงการ คือ ช่วงอุดรธานี – สกลนคร – นครพนม ระยะทาง 247 กม. ช่วงหนองคาย – บึงกาฬ – นครพนม ระยะทาง 316 กม. ช่วงมุกดาหาร – อำนาจเจริญ – อุบลราชธานี ระยะทาง 173 กม. เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงระบบขนส่งทางรางของประชาชน นอกจากนั้น ยังดำเนินการก่อสร้างศูนย์การขนส่งสินค้าชายแดนจังหวัดนครพนม ให้เปิดบริการได้ในปี 2568 เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทางถนนระหว่างประเทศบนเส้นทาง R12 เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างไทย สปป.ลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้ พร้อมทั้งรองรับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งระหว่างทางถนนและทางราง ให้เป็นศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ที่ให้บริการแบบ One Stop Service

3. การคมนาคมทางถนน ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จหลายโครงการในจังหวัดนครพนม สกลนคร และมุกดาหาร รวมถึงมีโครงการก่อสร้างเพิ่มเติมอีกกว่า 20 โครงการ เพื่อเสริมความเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดและประเทศเพื่อนบ้าน

รัฐบาลมีความตั้งใจในการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว คมนาคม และสาธารณสุข เพื่อสร้างความสะดวกสบาย คุณภาพชีวิตที่ดี สร้างรายได้ กระจายโอกาส และยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง

ในการประชุม ครม.สัญจร ในวันที่ 29 เมษายน 2568 จังหวัดนครพนม เตรียมเสนอโครงการยกระดับเทศกาลเรือไฟไทยสู่เรือไฟโลก โดยกิจกรรมหลัก ประกอบด้วย

1. การแสดงแสง สี เสียง สื่อผสมประกอบม่านน้ำพลุรักษ์โลก (ไลท์ แอนด์ ซาวด์) บอกเล่าความเป็นมางานประเพณีไหลเรือไฟนครพนม 1 เดียวในโลก “แสงไฟแห่งศรัทธา”

2. กิจกรรมเทศกาลไฟ เรือไฟบกอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง Nakhon Phanom Illuminated Boat Carnival “1 City 1 DNA”

3. การจัดทำเรือไฟเฉลิมพระเกียรติ 70 พรรษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “เทิดพระเกียรติ พระปรีชาเจ้าฟ้าวิศิษฐ์ศิลปิน”

4. กิจกรรมไหลเรือไฟโบราณ สักการะบูชาพระธาตุพนม เชื่อมวัฒนธรรมสองฝั่งโขง

5. การประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางดิจิทัลในประเทศและต่างประเทศ เช่น เว็บไซต์ท่องเที่ยว วิดีโอสารคดี และโซเชียลมีเดีย เป็นต้น

6. กิจกรรมประกวดคลิปนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับงานไหลเรือไฟ “Creative Media Nakhon Phanom Illuminated Boat”

7. กิจกรรมมหกรรมไม้ไผ่

  • กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเรียนรู้การทำเรือไฟนครพนม “จากลำไม้ไผ่
    สู่เรือไฟ 1 เดียวในโลก”
  • การแสดงศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย “ดนตรีไม้ไผ่” และประกวดดนตรีพื้นบ้านอีสาน
  • การแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่และอาหารถิ่น
  • กิจกรรมเสวนา “ไม้ไผ่เรือไฟนครพนม” จากภูมิปัญญาสู่สากล

ในโอกาสการประชุม ครม.สัญจร และการผลักดันเทศกาลไหลเรือไฟไทยสู่เรือไฟโลก จังหวัดนครพนม ได้จัดแสดงเรือไฟบก เป็นครั้งแรก ณ ลานพนมนาคา เพื่อให้นายกรัฐมนตรี และ ครม.ได้เห็นโครงสร้างของเรือไฟ อย่างใกล้ชิด ในวันที่ 28 เมษายน 2568 ซึ่งแสดงถึงพลังความสามัคคีของคนในชุมชน ที่ร่วมมือร่วมใจกันทุกภาคส่วน ก่อนที่จะเป็นเรือไฟที่งดงาม ในทุกวันออกพรรษาของทุกปี โดยเรือไฟที่จัดแสดงในครั้งนี้ เป็นเรือไฟจาก        อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ซึ่งมีความหวังว่า หากได้รับงบประมาณผลักดันเทศกาลนี้สู่ระดับโลก จะเพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ จ.นครพนมและพื้นที่ใกล้เคียงในเส้นทางท่องเที่ยว และจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน

ในการประชุม ครม.สัญจร วันที่ 29 เมษายน 2568 จังหวัดมุกดาหาร โดยนายวรญาณ บุญณราช ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร เตรียมเสนอแผนงานโครงการที่จะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ณ จังหวัดนครพนม ดังนี้

1. โครงการยกระดับการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสู่การเชื่อมโยงระดับนานาชาติ งบประมาณ 50,000,000 บาท โดยปรับปรุงห้องประชุมแก้วมุกดาหาร อาคารศาลากลาง จังหวัดมุกดาหาร ให้เป็นห้องรับรอง และปรับปรุงห้องประชุมด้านล่างอาคารหอประชุม 250 ปี ให้เป็นห้องประชุมขนาดเล็ก เพื่อรับรองแขกระดับนานาชาติ เนื่องจากจังหวัดมุกดาหารตั้งอยู่แนวเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก (East West Economic Corridor) เชื่อมโยง เส้นทางคมนาคมขนส่ง 4 ประเทศ ได้แก่ พม่า ไทย ลาว และเวียดนาม และยังสามารถเดินทางต่อไปยังประเทศจีนได้สะดวก นอกจากนั้น ยังมีการสถาปนาเมืองคู่แฝด และสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องกับประเทศต่างๆ ได้แก่ ลาว เวียดนาม และจีน โดยในห้วง 3 ปีที่ผ่านมา มีคณะผู้นำจากต่างประเทศมาเยี่ยมเยือนและร่วมกิจกรรมกับจังหวัดมุกดาหาร จำนวน 73 ครั้ง และในอนาคต จังหวัดกำหนดจัดกิจกรรม Business Matching และ Business Forum กับนักธุรกิจต่าง ๆ ได้แก่ ไทย จีน ลาว เวียดนาม พม่า และกัมพูชา โดยกำหนดจัดในสถานที่ราชการ แต่จังหวัดมุกดาหารยังขาดสถานที่ที่จะรองรับการประชุมหรือรับรองแขกระดับนานาชาติได้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นเร่งด่วน อย่างยิ่งที่จะเสนอโครงการดังกล่าว

2. โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณปากห้วยมุกและพื้นที่ต่อเนื่อง อ.เมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร งบประมาณ 50,000,000 บาท โดยการสร้างสะพานหรือ Skywalk และปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณจุดชมวิว
ซึ่งจังหวัดมุกดาหารจะพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็น Landmark ที่สำคัญของจังหวัด เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น

3. โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณพื้นที่หอแก้วมุกดาหารและพื้นที่ต่อเนื่อง งบประมาณ 50,000,000 บาท โดยการก่อสร้างอาคารลานจอดรถยนต์ พื้นที่สวนพักผ่อน และปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบหอแก้วมุกดาหาร 

4. โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่สาธารณะบริเวณแก่งกะเบาและพื้นที่ต่อเนื่อง งบประมาณ 120,000,000 บาท โดยการก่อสร้างอาคารลานจอดรถ ลานบริการนักท่องเที่ยว ลานกิจกรรมชุมชน และเส้นทางการสัญจร บริเวณแก่งกะเบา

5. โครงการยกระดับศูนย์การแพทย์เฉพาะทางและโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital & Excellent Center) งบประมาณ 113,433,500 บาท โดยการก่อสร้างอาคารจอดรถ 10 ชั้น จัดซื้อรถบริจาคโลหิต พร้อมอุปกรณ์ และจัดซื้อรถเอกซเรย์เคลื่อนที่แบบภาพดิจิตอล

โดยทุกโครงการมีความพร้อม ทั้งแบบรูปรายการ พื้นที่ดำเนินการ ตลอดจนบุคลากรและสามารถดำเนินโครงการได้แล้วเสร็จ ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568

ข่าวที่เกี่ยวข้อง