นายกฯ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ-นาหว้าโมเดล-แก้ปัญหายาเสพติด-ส่งเสริมการท่องเที่ยว “ครม.สัญจรอีสานตอนบน”

ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดนครพนม นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 27 – 28 เมษายน 2568 เพื่อติดตามการบริหารงานและรับฟังปัญหาในทุกมิติ และจะนำปัญหาในพื้นที่ของแต่ละกระทรวงเข้ามาหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ในวันที่ 29 เมษายน 2568

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่บึงหนองหาร และการบริหารจัดการน้ำ ณ สวนสาธารณะดอนเกิน ตำบลท่าแร่ อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร โดยมีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชูศักดิ์ รู้ยิ่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

โดยนายกรัฐมนตรีได้รับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำหนองหาร จากนายชูศักดิ์ รู้ยิ่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ซึ่งการบริหารจัดการน้ำในหนองหาร จังหวัดสกลนคร มีคณะทำงานบริหารจัดการน้ำ
มีกรมชลประทานและกรมประมงเป็นฝ่ายเลขานุการร่วมกันบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามเกณฑ์การควบคุมน้ำ (Rule Curve) ของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำและน้ำท่วมในเขตชุมชนรอบหนองหาร โดยเฉพาะเทศบาลนครสกลนคร หากมีปริมาณน้ำมากจะตัดยอดน้ำผ่านร่องช้างเผือกในอัตรา 45 ลบ.ม.ต่อวินาที

จากนั้น นายกรัฐมนตรีรับฟังบรรยายแผนพัฒนาหนองหาร ระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ. 2563–2572) จากเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งแผนพัฒนาครอบคลุม 5 ด้าน ได้แก่ 1) การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2) ความมั่นคงด้านน้ำเพื่อการเกษตร 3) การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4) การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และ 5) การบริหารจัดการ

โดยนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนแผนพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่หนองหารและการจัดการน้ำ ซึ่งจะเป็นแผนยุทธศาสตร์และโครงการสำคัญในการรองรับน้ำหลากในฤดูฝน และกักเก็บน้ำฤดูแล้ง และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติได้ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างและปรับภูมิทัศน์พุทธอุทยานหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต รวมถึงโครงการจากภาคเอกชน อาทิ โครงการก่อสร้างสะพานทางเดิน-วิ่ง และเส้นทางจักรยานรอบหนองหาร โครงการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวแบบครบวงจรทะเลสาบหนองหาร และโครงการอุทยานหนองหารเฉลิมพระเกียรติสู่เวชศาสตร์การเกษตรและชีวนวัตกรรมสร้างสรรค์

สำหรับหนองหาร จังหวัดสกลนคร เป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีลำน้ำไหลเข้าจากรอบทิศ 21 สาย ครอบคลุมพื้นที่กว่า 76,322 ไร่ หรือ 123 ตารางกิโลเมตร โดยมีพื้นที่ได้รับประโยชน์รวมทั้งสิ้น 1,044,375 ไร่ ครอบคลุม 33 ตำบล ได้แก่ จังหวัดสกลนคร 13 ตำบล และจังหวัดนครพนม 20 ตำบล มีประชากรที่ใช้ประโยชน์จากหนองหาร จำนวน 240,327 คน หรือ 80,750 ครัวเรือน

นายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมศูนย์หัตถกรรมวัดธาตุประสิทธิ์ “นาหว้าโมเดล” ตามแนวพระราชดำริ “Sustainable Fashion : แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” ณ ศูนย์หัตถกรรมวัดธาตุประสิทธิ์ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม โดยมีคณะนางรำลูกพระธาตุ แต่งกายด้วยชุด “ผ้ามุกนครพนม” ซึ่งเป็นผ้าท้องถิ่น เป็นลายผ้าเอกลักษณ์ ประจำจังหวัดนครพนมให้การต้อนรับ พร้อมมอบผ้าขาวม้าลวดลายตราใหญ่ ย้อมสีครามธรรมชาติของกลุ่มนาหว้าโมเดลให้กับนายกรัฐมนตรีที่ลงพื้นตรวจราชการและถือว่าเป็นการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ตามนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล รวมทั้งเป็นการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดนครพนม ทั้งในรูปแบบหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล หรือ OTOP ในแต่ละพื้นที่อีกด้วย

จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้สักการะพระธาตุประสิทธิ์ ซึ่งเป็นพระธาตุประจำวันคนเกิดวันพฤหัสบดี ซึ่งตรงกับวันเกิดของนายกรัฐมนตรี วันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2529 โดยมีความเชื่อกันว่าผู้ที่ได้ไปนมัสการจะได้รับอานิสงส์ให้มีผลสัมฤทธิ์ในการปฏิบัติงาน พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีเข้ากราบนมัสการพระมหาสมัคร วรปุณฺโณ ป.ธ.9 รองเจ้าคณะจังหวัดนครพนม รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดธาตุประสิทธิ์
เพื่อความเป็นสิริมงคล

ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้พบปะประชาชน พร้อมกล่าวชื่นชม ชาวนาหว้าที่สวมใส่ชุดผ้าท้องถิ่นอย่างสวยงามมารอต้อนรับอย่างอบอุ่น ซึ่งชุมชนนาหว้า ถือเป็นต้นแบบของการสืบสานโครงการผ้าพื้นบ้าน เป็นโครงการที่ช่วยเหลือประชาชนได้อย่างต่อเนื่องและเป็นโครงการที่ได้สืบสานต่อยอดโครงการของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทำให้พี่น้องประชาชนได้รับประโยชน์ อย่างต่อเนื่องจนมาถึงปัจจุบัน ในฐานะนายกรัฐมนตรีในนามของรัฐบาลพร้อมจะสนับสนุนโครงการต่างๆ ที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามการแก้ไขปัญหายาเสพติดข้ามแดนในพื้นที่ ณ หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขงนครพนม ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม โดยนายกรัฐมนตรี ได้รับฟังรายงานจากนายปราชญา อุ่นเพชรวรากร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ถึงแผนปฏิบัติการสกัดกั้นยาเสพติดและปราบปรามตามมาตรการ “Seal Stop Safe” โดยผนึกกำลัง 51 อำเภอชายแดน และโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุข ตามต้นแบบธวัชบุรีโมเดล พร้อมรับชมวิดีทัศน์ผลการดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหาพื้นที่จังหวัดนครพนม จากนั้น แม่ทัพภาคที่ 2 และ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 24 (นบ.ยส.24) ได้สรุปผลการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปิดล้อมตรวจค้น จับกุม ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 จนถึงปัจจุบัน รวมมูลค่าทั้งสิ้น 7,171,815,610 บาท
เมื่อเปรียบเทียบกับผลการดำเนินงานตลอดปีงบประมาณที่ผ่านมา ในปี 2568 (1 ต.ค. 67 – เม.ย. 68) สามารถตรวจยึดจับกุมยาบ้าได้ 104,955,437 เม็ด เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 332.04 หรือ 3.3 เท่า เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนยาไอซ์ ในปี 2568 (1 ต.ค 67 – เม.ย. 68) สามารถตรวจยึดจับกุมได้ 4,084 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 8,068 หรือ 80 เท่า เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ กลไกการขับเคลื่อน นบ.ยส.24 ในส่วนด่านสกัดกั้นและปราบปราม ได้ร่วมกับส่วนราชการภายในจังหวัด ทั้ง 20 จังหวัด ขับเคลื่อน 6 มาตรการตามนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ 1) มาตรการสกัดกั้น 2) มาตรการประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน 3) มาตรการบูรณาการ 4) มาตรการปราบปราม 5) มาตรการป้องกัน และ 6) มาตรการบำบัดรักษา โดยผลการดำเนินงานการคัดกรอง Re X-ray ประชากรกลุ่ม ทร.14 จำนวน 551,645 คน เป็นประชากรอายุ 12 – 65 ปี ที่อาศัยอยู่จริง จำนวน 327,432 คน พบการคัดกรองสะสมจำนวน 275,483 คน คิดเป็นร้อยละ 84.13 พบผู้เสพยาเสพติดจำนวน 6,220 คน คิดเป็นร้อยละ 2.25 และไม่พบผู้เสพจำนวน 269,263 คน คิดเป็นร้อยละ 97.75

ด้านเลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวถึงการสนับสนุน นบ.ยส.24 ว่า สถานการณ์การสกัดกั้นยาเสพติดที่ดำเนินการอย่างเข้มข้นสามารถจับกุมผู้กระทำผิดตามแนวชายแดนได้อย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยจิตเวชจากการใช้ยาเสพติด พบว่าในปีงบประมาณ 2567 มีรายงานข่าว จำนวน 670 ข่าว ขณะที่ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568) มีรายงานข่าวเพียง 87 ข่าว เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างสองปีดังกล่าว พบว่ามีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด และสิ่งสำคัญของมาตรการสกัดกั้นยาเสพติดที่เข้มข้น จากการสอบถามในพื้นที่แนวชายแดนพบว่า ยาเสพติด โดยเฉพาะ “ยาบ้า” มีราคาสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (อยู่ที่เม็ดละ 40-100 บาท) และหาซื้อได้ยากขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สะท้อนถึงผลสัมฤทธิ์ของการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดที่ดำเนินการต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ภายหลังรับฟังผลการสรุปสถานการณ์การแก้ไขปัญหายาเสพติดข้ามแดนในพื้นที่ นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณทุกหน่วยงานที่บูรณาการความร่วมมือ ป้องกัน สกัดกั้น และปราบปรามอย่างจริงจัง จนเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม และระบุว่า จากการได้หารือกับผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทราบว่าการขนส่งมีหลายรูปแบบมากยิ่งขึ้น ขอให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องเตรียมรับมือในเรื่องนี้ รวมถึงให้ความสำคัญกับการจัดหาอุปกรณ์เสริมที่จำเป็นและมีประสิทธิภาพสำหรับการตรวจเอ็กซเรย์และสแกน เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ในการป้องกันและสกัดกั้น ไม่ให้ยาเสพติดเล็ดลอดเข้าสู่ชุมชน

นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญควบคู่กันไป คือ ด้านการศึกษา เนื่องจากปัจจุบันยาเสพติดมีรูปแบบแปลกใหม่ ทำให้เด็กสามารถเข้าถึงได้ง่าย ทำให้เยาวชนเกิดความอยากทดลอง ดังนั้น สถาบันการศึกษาต่าง ๆ จำเป็นต้องปลูกฝังเรื่องความร้ายแรงของยาเสพติด และต้องขยายผลให้เยาวชนทราบอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ ขอให้ทุกหน่วยงานให้โอกาสให้แก่ผู้ติดยาเสพติด (ผู้ป่วย) เพื่อให้สามารถกลับคืนเข้าสู่สังคมได้ เพราะทุกคนต้องการโอกาส ไม่ว่าจะพลาดน้อยหรือมาก ส่วนการบำบัดรักษาและดูแล ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการอบรมเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในด้านนี้ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในการรับมือกับผู้เสพยาเสพติด ทั้งในด้านการสร้างความอดทน การให้กำลังใจ และการพัฒนาทักษะการดูแลผู้ป่วยอย่างเหมาะสม

ในช่วงค่ำ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ได้ร่วมสักการะพญาศรีสัตตนาคราช เพื่อความเป็นสิริมงคล จากนั้นได้ร่วมกิจกรรมจุดเรือไฟโบราณ และชมเรือไฟบก ณ ลานพนมนาคา จังหวัดนครพนม ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวมุ่งหวังในการใช้ทุนทางวัฒนธรรมเพื่อยกระดับเทศกาลไหลเรือไฟ ให้นานาชาติรู้จัก โดยมีเป้าหมายให้เทศกาลไหลเรือไฟ เป็นเทศกาลเรือไฟระดับโลกในอนาคต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง