นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างสายทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทราด้านใต้ (สะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง) พื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา นับเป็นโครงการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราและภาคตะวันออก ปัจจุบันสภาพการจราจรบนทางหลวงหมายเลข 365 สายทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทรา มีปริมาณ 80,000 คันต่อวัน เป็นรถบรรทุก 30% เดิมมีขนาด 4 ช่องจราจร (ไป-กลับ)
ต่อมา กรมทางหลวงได้ทำการก่อสร้างขยายทางหลวงเป็นขนาด 10 ช่องจราจร (ไป-กลับ) แต่สะพานข้ามแม่น้ำบางปะกงยังมีแค่ 4 ช่องจราจร ส่งผลให้เกิดจุดคอขวดที่บริเวณทางขึ้นลงสะพาน การจราจรติดขัดอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน รถติดสะสมเป็นทางยาว ทำให้ผู้ใช้ทางต้องเสียเวลาในการเดินทางมากขึ้นหลายเท่าตัว ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางและการขนส่งสินค้า เพิ่มต้นทุนโลจิสติกส์และเพิ่มมลพิษทางอากาศ ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่
ด้วยความสำคัญนี้ กรมทางหลวง โดยสำนักก่อสร้างสะพาน จึงได้ดำเนินการโครงการฯ เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดในตัวเมือง เชื่อมโยงโครงข่ายทางหลวงสายสำคัญ พร้อมทั้งสนับสนุนการเดินทางและการขนส่งสินค้าให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพด้านโลจิสติกส์ของประเทศ ลดระยะเวลาเดินทางในตัวเมืองฉะเชิงเทราและจังหวัดใกล้เคียง ยกระดับคุณภาพชีวิต สนับสนุนการค้าการลงทุนใน EEC
โดยมีลักษณะการก่อสร้างงานโยธา ก่อสร้างสะพานคอนกรีตอัดแรง ด้านทางหลักขนาด 3 ช่องจราจร ความกว้าง 13.50 เมตร ความยาว 420 เมตร จำนวน 2 แห่ง (ขาไปและขากลับ) ผิวจราจรแอสฟัลท์คอนกรีตก่อสร้างสะพานคอนกรีตอัดแรง ด้านคู่ขนานขนาด 2 ช่องจราจร ความกว้าง 10 เมตร ความยาว 420 เมตร จำนวน 2 แห่ง (ขาไปและขากลับ) พร้อมงานวางท่อระบายน้ำและระบบระบายน้ำ
ปัจจุบัน โครงการฯ กำลังดำเนินการในส่วนที่เหลือ ได้แก่ ทางเท้าคอนกรีต งานติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง งานตีเส้นจราจร ติดตั้งป้ายจราจร และอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ซึ่งจะแล้วเสร็จสมบูรณ์และเปิดใช้บริการในเดือนกรกฎาคม 2568 เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะนำมาซึ่งประโยชน์มากมายแก่ประชาชนและเศรษฐกิจของจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยจะช่วยให้การคมนาคมขนส่งมีความคล่องตัวและรวดเร็วขึ้น รองรับปริมาณจราจรที่เพิ่มขึ้นในอนาคตและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่
โครงการนี้ ยังเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเชื่อมโยงกับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะช่วยดึงดูดการลงทุนและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ นับเป็นการบรรลุเป้าหมายสำคัญของกรมทางหลวงในการพัฒนาประสิทธิภาพระบบขนส่งของประเทศ