ครม.อนุมัติงบฯ 400 ล้านบาท พัฒนากลุ่มจังหวัดอีสานตอนบน 2 รวม 9 โครงการ

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบ ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้

1. รับทราบผลการประชุมบูรณาการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (นครพนม สกลนคร และมุกดาหาร) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน 2568 และวันจันทร์ที่ 28 เมษายน 2568

2. เห็นชอบในหลักการโครงการของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 จำนวน 4 โครงการ กรอบวงเงิน 200,000,000 บาท โดยให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดขอรับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และให้สำนักงบประมาณพิจารณาความพร้อม ความคุ้มค่าของโครงการและความเหมาะสมของวงเงินตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

3. เห็นชอบในหลักการของโครงการที่เป็นข้อเสนอของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดฯ ของภาคเอกชน (กรอ.กลุ่มจังหวัด) จำนวน 5 โครงการ กรอบวงเงิน 200,000,000 บาท โดยให้ส่วนราชการที่เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการขอรับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเร่งจัดทำข้อเสนอโครงการโดยให้ความสำคัญกับความคุ้มค่า และผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณอย่างรอบคอบ

4. มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาโครงการที่เป็นข้อเสนอของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดฯ ของภาคเอกชน (กรอ.กลุ่มจังหวัด) ในส่วนที่เหลือจำนวน 21 โครงการ เพื่อบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติราชการประจำปีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและขอรับการจัดสรรงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป

5. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมติที่ประชุม ไปพิจารณาเร่งรัดดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดต่อไป

6. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รายงานผลการดำเนินการให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต่อไป

สาระสำคัญ

1. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนดจัดประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2568 ณ จังหวัดนครพนม และติดตามการตรวจราชการกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (นครพนม สกลนคร และมุกดาหาร) ระหว่างวันที่ 28 – 29 เมษายน 2568 และมอบหมายให้ สศช. ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักงบประมาณเป็นฝ่ายเลขานุการจัดการประชุมบูรณาการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (นครพนม สกลนคร และมุกดาหาร) เพื่อเสนอประเด็นและวาระการพัฒนากลุ่มจังหวัดต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ณ จังหวัดนครพนม

2. ในช่วงระหว่างวันที่ 4 – 28 เมษายน 2568 สศช. ร่วมกับสำนักงบประมาณและกระทรวงมหาดไทยได้ประสานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดและภาคเอกชนในการพิจารณากลั่นกรองโครงการที่เป็นความต้องการของพื้นที่ โดยในช่วงระหว่างวันที่ 8 – 9 เมษายน 2568 สศช. ร่วมกับสำนักงบประมาณและกระทรวงมหาดไทยได้ลงพื้นที่ประชุมหารือเพื่อพิจารณาโครงการตามความต้องการของพื้นที่ที่มีความพร้อมและสามารถดำเนินการได้ทันที

3. สศช. ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและสำนักงบประมาณได้จัดการประชุมบูรณาการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (นครพนม สกลนคร และมุกดาหาร) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน 2568 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล และวันจันทร์ที่ 25 เมษายน 2568 ณ ห้องประชุมพระธาตุพนม ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครพนม (หลังใหม่) โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมฯ และมีผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้แทนสถาบันภาคเอกชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 ได้แก่ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) (สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (YEC) เข้าร่วมประชุมฯ โดยข้อเสนอประเด็นและวาระการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 สรุปได้ ดังนี้

3.1 ข้อเสนอโครงการที่มีความพร้อมและดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 ปีของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 จำนวน 4 โครงการ กรอบวงเงิน 200,000,000 บาท ดังนี้

3.1.1 โครงการพัฒนาพื้นที่และปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณริมแม่น้ำโขงเหนือเมืองนครพนมและพื้นที่ต่อเนื่อง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ระยะที่ 1 วงเงิน 50,000,000 บาท

3.1.2 โครงการสกลจังซั่นเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ วงเงิน 50,000,000 บาท

3.1.3 โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอุทยานธรณีวิทยาและไดโนเสาร์ “Geo Park Center at
Tha Uthen” วงเงิน 50,000,000 บาท

3.1.4 โครงการยกระดับการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสู่การเชื่อมโยงระดับนานาชาติ วงเงิน 50,000,000 บาท

มติที่ประชุม เห็นชอบในหลักการโครงการของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 จำนวน 4 โครงการ กรอบวงเงิน 200,000,000 บาท โดยให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดขอรับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นและให้สำนักงบประมาณพิจารณาความพร้อมความคุ้มค่าของโครงการและความเหมาะสมของวงเงินตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

3.2 ข้อเสนอการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 ของภาคเอกชน (กรอ.กลุ่มจังหวัด) จำนวน 26 โครงการ ดังนี้

3.2.1 ข้อเสนอการพัฒนากลุ่มจังหวัดฯ จำนวน 2 เรื่อง 2 โครงการ ดังนี้ 1) ขอรับการสนับสนุนการดำเนินโครงการ จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาและยกระดับกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 สู่การเป็นเมืองมหานครแห่งพฤกษเวช เพื่อรองรับการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขงเชิงสุขภาพ 2) ขอให้เร่งรัด/ขอรับการสนับสนุนผลักดันเชิงนโยบาย จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษานานาชาติ

3.2.2 ข้อเสนอการพัฒนาจังหวัดสกลนคร จำนวน 2 เรื่อง 4 โครงการ ดังนี้ 1) ขอรับการสนับสนุนการดำเนินโครงการ จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการงานปรับปรุงผิวแอสฟัลต์ ติดตั้งและปรับปรุงไฟฟ้าแสงสว่าง บนทางหลวง ทางหลวงหมายเลข 2339 ตอน ศรีวิชา – กวนบุ่น ระหว่าง กม. 8+000 – กม. 35+500 เป็นช่วง ๆ ทางหลวงหมายเลข 2347 ตอน ธาตุนาเวง – สกลนคร ระหว่าง กม. 2+300 – กม. 5+200  2) ขอให้เร่งรัด/ขอรับการสนับสนุนผลักดันเชิงนโยบาย จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย (1) โครงการยกระดับโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยสกลนครหลวงปู่แฟ๊บ สุภัทโท และเครือข่ายสู่ความเป็นเลิศในการดูแลผู้สูงอายุ และผู้ป่วย NCDs (โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง) ด้วยการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร (2) โครงการก่อสร้างและปรับภูมิทัศน์พุทธอุทยานหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และ (3) โครงการศูนย์การเรียนรู้การผลิตโคขุนโพนยางคำแบบครบวงจร

3.2.3 ข้อเสนอการพัฒนาจังหวัดนครพนม จำนวน 2 เรื่อง 16 โครงการ ดังนี้ 1) ขอรับการสนับสนุนการดำเนินโครงการ จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย (1) โครงการสร้างอัตลักษณ์เมือง (DNA) และ Marketing ภายใต้ 5 Must (Visit, Eat, Shop, Mu, Rest) และ (2) โครงการยกระดับเทศกาลเรือไฟไทยสู่เรือไฟโลก 2) ขอให้เร่งรัด/ขอรับการสนับสนุนผลักดันเชิงนโยบาย จำนวน 14 โครงการ ประกอบด้วย (1) โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสียในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองนครพนม (2) โครงการ “นครพนมเมืองแห่งความปลอดภัยและทันสมัย (Smart Safety City) เพื่อความน่าอยู่และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” (3) โครงการพัฒนาพื้นที่และปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณริมแม่น้ำโขงเหนือเมืองนครพนมและพื้นที่ต่อเนื่อง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ระยะที่ 2 (4) โครงการพัฒนาพื้นที่และปรับปรุงภูมิทัศน์อ่างเก็บน้ำหนองญาติ และพื้นที่ต่อเนื่อง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม (5) โครงการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม (6) โครงการก่อสร้างถนนเลียบแม่น้ำโขง สายนาคาวิถี 2 ตอน จากธาตุพนม ถึง ถนนสวรรค์ชายโขง ระยะทางรวม 51.10 กม. (7) โครงการ ก่อสร้างเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง ทางหลวงหมายเลข 2028 สาย อ.กุสุมาลย์ – อ.ท่าอุเทน ระยะทาง 31.31 กิโลเมตร (8) โครงการก่อสร้างเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง ทางหลวงหมายเลข 2033 สายนาแก – หนองญาติ ระยะทาง 50.994 กิโลเมตร (9) โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟบนถนนสายเชื่อมศูนย์ซ่อมอากาศยาน – ศูนย์กลางการค้าส่งชายแดน บริเวณสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม (10) โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมศูนย์ซ่อมอากาศยาน – ศูนย์กลางการค้าส่งชายแดน บริเวณสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 ตอนที่ 2. อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม (11) โครงการก่อสร้างถนนสายแยก ทล.22 – ทล.212 อำเภอเมือง, ปลาปาก จังหวัดนครพนม (12) โครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้และศูนย์รวบรวมโคเนื้อเพื่อการส่งออก “Stockyard” (13) โครงการสร้างเศรษฐกิจกลุ่มสนุกด้วยอุตสาหกรรมแปรรูปข้าวมูลค่าสูง “SNUK RICE PLUS” (SNUK RICE+) และ (14) โครงการยกระดับอุตสาหกรรมแปรรูปโคเนื้อกลุ่มจังหวัดสนุก “สนุก Beef Valley”

3.2.4 ข้อเสนอการพัฒนาจังหวัดมุกดาหาร จำนวน 2 เรื่อง จำนวน 4 โครงการ ดังนี้ 1) ขอรับการสนับสนุนการดำเนินโครงการ จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวตลาดและประชาสัมพันธ์ กลุ่มจังหวัดสนุก (เที่ยวสนุก สุขสบาย) ปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณปากห้วยมุกและพื้นที่ต่อเนื่อง อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร 2) ขอให้เร่งรัด/ขอรับการสนับสนุนผลักดันเชิงนโยบาย จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย (1) โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวตลาดและประชาสัมพันธ์กลุ่มจังหวัดสนุก (เที่ยวสนุกสุขสบาย) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณพื้นที่หอแก้วมุกดาหารและพื้นที่ต่อเนื่อง ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร (2) โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวตลาดและประชาสัมพันธ์กลุ่มจังหวัดสนุก (เที่ยวสนุก สุขสบาย) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่สาธารณะบริเวณแก่งกะเบาและพื้นที่ต่อเนื่อง ตำบลป่งขาม อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร และ (3) โครงการยกระดับศูนย์การแพทย์เฉพาะทางและโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital & Excellent Center)

3.3 การพิจารณาข้อเสนอของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดฯ ของภาคเอกชน (กรอ.กลุ่มจังหวัด) จำนวน 26 โครงการ โดย สศช. สำนักงบประมาณ จังหวัดและกลุ่มจังหวัดฯ และภาคเอกชน พบว่า ข้อเสนอกลุ่มจังหวัดฯ ของภาคเอกชนที่มีความพร้อมดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 ปี จำนวน 5 โครงการ กรอบวงเงิน 200,000,000 บาท ดังนี้

3.3.1 โครงการพัฒนาและยกระดับกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 สู่การเป็นเมืองมหานครแห่งพฤกษเวชเพื่อรองรับการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขงเชิงสุขภาพ วงเงิน 50,000,000 บาท

3.3.2 โครงการงานปรับปรุงผิวแอสฟัลต์ ติดตั้งและปรับปรุงไฟฟ้าแสงสว่าง บนทางหลวง  ทางหลวงหมายเลข 2339 ตอน ศรีวิชา – กวนบุ่น ระหว่าง กม. 8+000 – กม. 35+500 เป็นช่วง ๆ ทางหลวงหมายเลข 2347 ตอน ธาตุนาเวง – สกลนคร ระหว่าง กม. 2+300 – กม. 5+200 วงเงิน 50,000,000 บาท

3.3.3 โครงการสร้างอัตลักษณ์เมือง (DNA) และ Marketing ภายใต้  5 Must (Visit, Eat, Shop, Mu, Rest) วงเงิน 20,000,000 บาท

3.3.4 โครงการยกระดับเทศกาลเรือไฟไทยสู่เรือไฟโลก วงเงิน 30,000,000 บาท

3.3.5 โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวตลาดและประชาสัมพันธ์กลุ่มจังหวัดสนุก (เที่ยวสนุก สุขสบาย) ปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณปากห้วยมุกและพื้นที่ต่อเนื่องอำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร วงเงิน 50,000,000 บาท

มติที่ประชุม

(1) เห็นชอบในหลักการของโครงการที่เป็นข้อเสนอของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดฯ ของภาคเอกชน (กรอ.กลุ่มจังหวัด) จำนวน 5 โครงการ กรอบวงเงิน 200,000,000 บาท โดยให้ส่วนราชการที่เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการขอรับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเร่งจัดทำข้อเสนอโครงการ โดยให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าและผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณอย่างรอบคอบ

(2) มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาโครงการที่เป็นข้อเสนอของจังหวัด และกลุ่มจังหวัดฯ ของภาคเอกชน (กรอ.กลุ่มจังหวัด) ในส่วนที่เหลือจำนวน 21 โครงการ เพื่อบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติราชการประจำปีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและขอรับการจัดสรรงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป

3.4 ในการประชุมหารือระหว่างนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กับผู้ว่าราชการจังหวัดและภาคเอกชนในพื้นที่จังหวัดและกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (นครพนม สกลนคร และมุกดาหาร) เมื่อวันจันทร์ที่ 28 เมษายน 2568 ณ ห้องประชุมพระธาตุพนม ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครพนม (หลังใหม่) มีข้อเสนอเพิ่มเติมจากกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (YEC) และภาคเอกชน ดังนี้

3.4.1 ประเด็นข้อเสนอขอรับการสนับสนุนของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (YEC) จำนวน 4 เรื่อง ดังนี้
(1) โครงการเที่ยวสนุกไปให้สุดด้วยการสแกน “Story Digital Sign” จังหวัดนครพนม (2) โครงการนครพนม ทรายทองเฟส “Sai Thong Fest” (3) โครงการเทศกาล สง คราม “Songkram Festival” จังหวัดสกลนคร และ (4) โครงการเทศกาลดอกไม้ไฟแสงนาคาแห่งมุกดาหาร

มติที่ประชุม มอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ร่วมกันผลักดันข้อเสนอดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ เพื่อสร้างกิจกรรมใหม่ด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ต่อไป

3.4.2 ประเด็นข้อเสนอขอรับการสนับสนุนของภาคเอกชน จำนวน 2 เรื่อง ดังนี้ (1) เร่งรัดดำเนินโครงการท่าอากาศยานมุกดาหาร โดยในระยะแรกให้ใช้ประโยชน์จากสนามบินสะหวันนะเขต สปป.ลาว ในการเดินทางมายังจังหวัดมุกดาหารและพื้นที่ใกล้เคียง และ (2) เร่งรัดการพัฒนาเส้นทางหมายเลข 12 (R12) ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ที่เชื่อมโยงประเทศไทย สปป.ลาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐประชาชนจีน

มติที่ประชุม มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาเร่งรัดดำเนินการต่อไป

ประโยชน์ที่จะได้รับ

คณะรัฐมนตรีรับทราบและให้ความเห็นชอบการดำเนินงานตามผลการประชุมฯ ซึ่งเป็นมาตรการที่ช่วยสนับสนุนและพัฒนากลุ่มจังหวัดฯ ไปสู่เป้าหมาย “เชื่อมโยงอนุภูมิภาคและจุดหมายการพักผ่อนริมโขง (GMS Gateway & Mekong Tourism Restination)” โดยการพัฒนาศักยภาพและปัจจัยแวดล้อมด้านการท่องเที่ยวริมแม่น้ำโขงเชื่อมโยงวัฒนธรรมชุมชน (Cultural and Mekong Tourism) การยกระดับการเกษตรสู่เกษตรมูลค่าสูงอย่างยั่งยืน (High-value Agriculture) การพัฒนาขีดความสามารถโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Connectivity) การเสริมสร้างทักษะแรงงานและความปลอดภัยในพื้นที่ชายแดน (Labor Skill Enhancement & Border Security) และการยกระดับการบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตให้ชุมชนในพื้นที่ได้ดีขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง