รับข้อเรียกร้องผู้ใช้แรงงาน ยืนยันขับเคลื่อนนโยบายแรงงานมีทักษะ เข้าถึงงาน ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี

สภาองค์การลูกจ้าง 20 สภา สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย และศูนย์ประสานแรงงานนอกระบบ ร่วมกับกระทรวงแรงงาน จัดกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติ จัดพิธีถวายภัตตาหารเช้าแด่พระภิกษุสงฆ์เพื่อเสริมสิริมงคลให้แก่พี่น้องแรงงาน จากนั้นตั้งขบวนที่แยก จปร. ถนนราชดำเนินนอก เพื่อไปเวทีหลักที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร รวมระยะทางกว่า 1.4 กิโลเมตร

โดยกิจกรรมในจุดนี้ มีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นตัวแทนนายกฯ รับข้อเรียกร้องจากผู้นำแรงงาน 9 ข้อ ส่วนใหญ่เป็นข้อเรียกร้องเดิมจากปีก่อน เช่น รัฐบาลต้องเร่งรัดการรับรองอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิ์ในการรวมตัว และการร่วมเจรจาต่อรอง ให้รัฐบาลตรากฎหมายให้มีการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง เพื่อเป็นหลักประกันในการทำงานของลูกจ้าง ให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม เช่น ปรับฐานการรับเงินบำนาญ ให้มีรายรับไม่น้อยกว่า 5,000 บาท เมื่อผู้ประกันตนรับบำนาญแล้ว ให้คงสิทธิรักษาพยาบาลตลอดชีวิต

นายพิพัฒน์ เน้นย้ำว่า รัฐบาลดำเนินนโยบายมุ่งเน้นทุกคนต้องมีงานทำ มีทักษะ มีหลักประกันและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ผ่านการดำเนินงานต่างๆ ของกระทรวงแรงงาน ยืนยันว่าข้อเรียกร้องต่างๆ ที่นำเสนอรัฐบาลพร้อมรับฟังและให้ความสำคัญในการพิจารณาขับเคลื่อนอย่างจริงจัง

ขณะที่บริเวณหน้ากระทรวงคมนาคม ทางพรรคก้าวไกล นำกลุ่มแรงงานร่วมขบวนทำกิจกรรมวันแรงงาน นำโดยนายเซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ เพื่อรณรงค์ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฉบับพรรคประชาชน แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ ทำงาน พักผ่อน ใช้ชีวิต เช่น ปรับเวลาทำงานไม่เกิน 40 วันต่อสัปดาห์ เพิ่มวันหยุดประจำปีจาก 6 วันเป็น 10 วัน หลังจากนั้นก็ไปร่วมขบวนที่ลานคนเมือง โดยขอให้รัฐบาลรักษาสัญญาที่จะดูแลคุณภาพชีวิตของแรงงานให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามที่หาเสียงไว้และการประกาศว่าจะปรับขึ้นค่าจ้าง 400 บาท ควรที่จะปรับขึ้นให้เท่ากันทั้งประเทศ ให้สอดคล้องกับค่าครองชีพมากกว่าการปรับขึ้นบางกลุ่มอาชีพบางจังหวัด

ส่วนที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทางสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) จัดกิจกรรมวันแรงงาน ชูป้ายข้อความ พร้อมเครื่องขยายเสียง เดินขบวนไปยื่นข้อเรียกร้องถึงนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามทวงถามข้อเรียกร้องเดิมที่ยังคงค้างอยู่ 15 ข้อ และข้อเรียกร้องใหม่เร่งด่วน 6 ข้อ อาทิ ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 492 บาทเท่ากันทั่วประเทศ รัฐต้องลดรายจ่ายของประชาชน ควบคุมราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ให้สิทธิ์ลาคลอด 180 วันตามมาตรฐานสากลและคัดค้าน พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง