ลดค่าไฟ สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและลดภาระค่าครองชีพ

นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมครั้งที่ 16/2568 (ครั้งที่ 958) วันที่ 30 เมษายน 2568 กกพ.ได้พิจารณาข้อเสนอการปรับค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (ค่า Ft) ประจำเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2568 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีกำหนดค่าเป้าหมายของค่าไฟฟ้าไว้ให้ไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วย และมีมติให้ปรับค่า Ft จากเดิม 36.72 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 19.72 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยลดลงจาก 4.15 บาทต่อหน่วย เป็น 3.98 บาทต่อหน่วย หรือลดลงประมาณ 17 สตางค์ต่อหน่วย 

สำหรับแนวทางการปรับลดค่าไฟ ในงวดพฤษภาคม-สิงหาคม 2568 กกพ. พิจารณาจากปัจจัยสองส่วนหลักคือ 1.ต้องการให้ค่าไฟอยู่ในระดับเหมาะสมกับสภาวะวิกฤตเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและลดภาระค่าครองชีพ และ 2 ต้องสามารถลดภาระทางการเงิน ภาระดอกเบี้ย ดูแลผลกระทบต่อเครดิตเรตติ้งของ กฟผ. ควบคู่กันไปด้วย 

ทั้งนี้ การปรับลดค่าไฟลง 17 สตางค์ เหลือ 3.98 บาทต่อหน่วย เป็นการปรับลดจากค่าไฟ 4.15 บาทต่อหน่วย โดยเรียกคืนของผลประโยชน์ส่วนเกิน (Claw Back) ประมาณ 12,200 ล้านบาท แนวทางนี้ กฟผ. ยังคงได้รับการชำระคืนค่าเชื้อเพลิงคงค้างใกล้เคียงจำนวนตามเป้าหมายเดิมที่วางไว้ ที่ 20.33 สตางค์ต่อหน่วย หรือเป็นเงินรวม 14,590 ล้านบาท

ส่วนที่ผ่านมา กฟผ. คงค้างหนี้สะสม อยู่ประมาณ 1 แสนล้าน นายพูลพัฒน์  เปิดเผยว่า ปัจจุบันเหลือเงินคงค้างลดลง ประมาณ 71,000 ล้านบาท ดังนั้น กฟผ. ต้องดูแลประชาชน ด้วยการแบกรับภาระหนี้ ถ้าไม่ได้รับการจ่ายหนี้จะมีผลกระทบเรตติ้งเครดิต กระทบทางด้านการเงิน สุดท้ายประชาชนก็ต้องจ่ายในอนาคตอยู่ดีและยังเป็นอัตราดอกเบี้ยที่มีผลตามมา

อย่างไรก็ตาม กกพ. ได้ตรวจสอบและรับรองจำนวนเงินที่ได้จากการเรียกคืนประโยชน์ส่วนเกินของการไฟฟ้า มาได้ทั้งสิ้นประมาณ 20,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 7,800 ล้านบาท สำรองไว้สำหรับการดูแลค่าไฟฟ้าในระยะต่อไป ซึ่ง กกพ. มองว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังคงผันผวนและมีความไม่แน่นอน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง