คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในกรอบวงเงิน 172.50 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่เฉลิมพระเกียรติ ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน (โครงการรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ฯ) ในพื้นที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จำนวน 5 แห่ง ในลักษณะโครงการนำร่องของมหาวิทยาลัยมหิดล ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุของความพิการระยะยาวและความจำเสื่อมจากการคำนวณดัชนีการสูญเสียปีสุขภาวะ พบว่าภาวะโรคหลอดเลือดสมอง อยู่ใน 3 อันดับแรกของดัชนีการสูญเสียปีสุขภาวะของคนไทย และจากสถิติของสำนักงานหลักประกันสุขภาพในปี 2560-2565 พบว่า มีผู้ป่วยหลอดเลือดสมองเพิ่มสูงขึ้นจาก 278.49 ต่อแสนประชากร อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปในปี 2560 เป็น 330.72 ต่อแสนประชากรอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปในปี 2565 ประกอบกับสถิติของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในปี 2566 พบว่า มีผู้ป่วยหลอดเลือดสมองมากถึง 349,126 ราย เสียชีวิต 36,214 ราย และจากรายงานกลุ่มตัวอย่างกว่า 1,000 ราย ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลัน พบว่า ได้รับการรักษาและออกจากโรงพยาบาลด้วยอาการพิการถึงร้อยละ 70 และเสียชีวิตร้อยละ 5 ดังนั้น การพัฒนาระบบทางการแพทย์เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาโดยการให้ยาสลายลิ่มเลือดหรือใส่สายสวนเพื่อเปิดหลอดเลือดสมองในระยะเฉียบพลันได้อย่างรวดเร็วที่สุดเพื่อลดความพิการ จึงมีความสำคัญและจำเป็น โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลซึ่งยังมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษา รวมถึงการขาดแคลนประสาทแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์และระบบส่งต่อผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ริเริ่มจัดทำโครงการรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ ที่เชื่อมต่อระบบปรึกษาทางไกลและการส่งต่อผู้ป่วยแบบครบวงจรซึ่งเป็นรถพยาบาลที่ประกอบด้วย เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan) ระบบปรึกษาทางไกลและเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจร่างกายทางระบบประสาท เพื่อช่วยวางแผนการรักษาก่อนที่จะถึงโรงพยาบาลและวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดสมองบนรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ พร้อมทั้งเชื่อมต่อระบบปรึกษาทางไกลจากประสาทแพทย์ และมีการส่งต่อผู้ป่วยแบบครบวงจรได้ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศที่มีเครือข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ต โดยโครงการนำร่องดังกล่าวเริ่มเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567) พบว่า มีผู้รับบริการแล้วกว่า 2,200 ราย ในพื้นที่ 9 จังหวัด จากทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งสามารถลดระยะเวลาในการรักษาได้ร้อยละ 50 เพิ่มโอกาสการได้รับยาสลายลิ่มเลือดและหรือการเปิดหลอดเลือดด้วยสายสวนสูงถึง 3 เท่า และผู้ป่วยหายจากความพิการสูงถึง 2 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษารูปแบบเดิม (กลุ่มผู้ป่วยที่เดินทางเข้ารับการรักษาด้วยรถฉุกเฉินทั่วไปหรือมาด้วยตนเอง) ดังนั้น การรักษารูปแบบรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่สามารถลดความสูญเสียต่อผู้ป่วยและครอบครัว รวมถึงลดภาระในการดูแลผู้ป่วยพิการได้ในระยะยาว
2. เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มูลนิธิสมเด็จพระยุพราช และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ร่วมกับศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีแผนการให้บริการรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ไปยังโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จำนวน 21 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยมีชีวิตรอดจากโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันหรืออัมพาตได้ทันเวลาและเพิ่มโอกาสในการหายจากความพิการได้
3. อว. นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในกรอบวงเงิน 172.50 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่เฉลิมพระเกียรติ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันในพื้นที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจำนวน 5 แห่ง (จังหวัดหนองคาย สกลนคร อุบลราชธานี สระแก้ว และสุราษฎร์ธานี) (5 คัน) ลักษณะโครงการนำร่องกรอบวงเงินงบประมาณ 172.50 ล้านบาท [ส่วนที่เหลือจะของบประมาณเพื่อดำเนินการเพิ่มเติมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ในพื้นที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช อีกจำนวน 16 แห่ง (16 คัน) กรอบวงเงินงบประมาณ 552.00 ล้านบาท รวมทั้งโครงการ 21 แห่ง (คัน) ทั่วประเทศ ซึ่งสำนักงบประมาณ (สงป.) ได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว โดยนายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้ อว. โดยมหาวิทยาลัยมหิดล ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในกรอบวงเงิน 172.50 ล้านบาท โดยให้เบิกจ่ายในงบเงินอุดหนุน ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป เพื่อดำเนินโครงการรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ฯ ในพื้นที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 5 แห่ง ในลักษณะโครงการนำร่องและให้มีการติดตามประเมินผลโครงการดังกล่าวก่อนเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามขั้นตอนต่อไป
โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว จังหวัดน่าน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เปิดโครงการรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่เฉลิมพระเกียรติเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันในพื้นที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่งทั่วประเทศ โดยมีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ผู้บริหารมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ผู้บริหาร/เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว และหน่วยงาน/องค์กรสนับสนุนร่วมงาน พร้อมมีการประชุมหารือแผนและทิศทางความร่วมมือการดำเนินงานและปฏิบัติงานรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาระบบบริการโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 72 พรรษา
นพ.โอภาส กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตและความพิการที่สำคัญของประเทศไทยและทั่วโลก โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโรคนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนเพื่อลดการเสียชีวิตและทุพพลภาพ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ร่วมกับ 3 กระทรวง 2 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, กระทรวงมหาดไทย, มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดทำโครงการรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่เฉลิมพระเกียรติเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันในพื้นที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านโรคหลอดเลือดสมองที่ได้มาตรฐาน ลดอัตราความพิการและอัตราตายจากโรคหลอดเลือดสมอง และส่งเสริมการใช้ทรัพยากรร่วมกันของเขตสุขภาพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างทันท่วงที โดยเริ่มต้นการรักษาผู้ป่วยตั้งแต่บนรถ ก่อนส่งต่อไปยังโรงพยาบาลแม่ข่าย ทำให้ลดความรุนแรงของโรคและป้องกันภาวะทุพพลภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ เริ่มนำร่องที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว จังหวัดน่าน เป็นแห่งแรกในการดำเนินโครงการ ทั้งนี้ระหว่างปี 2564-2567 โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว มีผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง รวมถึงที่รับส่งต่อมาจากโรงพยาบาลสายเหนือ เฉลี่ยปีละประมาณ 200 ราย
สำหรับแผนการจัดสรรรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ (Mobile Stroke Unit) แบ่งเป็น 3 ระยะ
- ระยะแรก ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 7 แห่ง คือ ปัว สระแก้ว เดชอุดม สว่างแดนดิน ท่าบ่อ บ้านดุง และธาตุพนม
- ระยะที่ 2 ที่ กุฉินารายณ์ เวียงสระ ฉวาง เลิงนกทา กระนวน และนครไทย
- ระยะที่ 3 ที่ ตะพานหิน สายบุรี หล่มเก่า จอมบึง เชียงของ เด่นชัย ยะหา และด่านซ้าย ครอบคลุมทั้ง 21 แห่ง ทั่วประเทศ
ทั้งนี้ รถได้รับการออกแบบให้เป็นรถพยาบาลฉุกเฉินที่ติดตั้งเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) สามารถสแกนสมองผู้ป่วยและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหลอดเลือดสมอง ผ่านระบบปรึกษาทางไกลเครือข่ายความเร็วสูง 4G/5G ช่วยในการตัดสินใจให้การรักษาได้แบบเรียลไทม์ พร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในระยะเฉียบพลันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีจุดนัดรับส่งต่อผู้ป่วยตามพิกัดที่กำหนดไว้ ช่วยให้เข้าถึงผู้ป่วยอย่างรวดเร็วและให้การรักษาได้ทันท่วงที
หมายเหตุ : ดัชนีการสูญเสียปีสุขภาวะ* หมายถึง ข้อมูลและเครื่องชี้วัดที่สามารถสะท้อนปัญหาทางสุขภาพที่แท้จริง โดยดัชนีการสูญเสียปีสุขภาวะ และอายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาวะ DALYs (Disability-Adjusted Life Years) และ HALE (Health Adjusted Life Expectancy) เป็นเครื่องชี้วัดการสูญเสียด้านสุขภาพของประชากรที่ครอบคลุมทั้งการสูญเสียของสุขภาพจากการตายและการเจ็บป่วยหรือมีชีวิตอยู่อย่างพิการ จะช่วยสะท้อนปัญหาทางสุขภาพของประชากร