โรคต้อหิน โรคที่ขั้วประสาทตาถูกทำลาย เกิดจากความดันลูกตาที่สูงมากขึ้น จนทำให้รู้สึกว่าลูกตาแข็งเหมือนหิน จึงเป็นที่มาของชื่อโรค
อาการของโรคต้อหินในระยะแรกๆ จะไม่ค่อยชัดเจน มักไม่แสดงอาการ เนื่องจากความดันลูกตาค่อยๆ สูงขึ้นแบบไม่เฉียบพลัน เมื่อเป็นมากขึ้นจะเริ่มมีอาการตามัวจากรอบๆ ลานสายตาแคบลง การมองเห็นโดยรวมลดลง จนในที่สุดอาจสูญเสียการมองเห็นทั้งหมดแบบถาวร
สาเหตุหลักคือ ความดันลูกตาที่สูงขึ้น แต่จะมีโรคต้อหินบางประเภทที่ความดันลูกตาไม่สูงได้ โดยทั่วไปโรคต้อหินแบบที่มีความดันตาสูงขึ้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดมุมเปิดและชนิดมุมปิด ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงคือ อายุมากกว่า 40 ปี มีประวัติครอบครัวเป็นต้อหิน ความดันตาสูง เคยมีอาการบาดเจ็บ หรืออุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับดวงตาและปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น สายตายาวหรือสั้นมากเกินไป กระจกตาบาง โรคบาหวาน ไมเกรน อย่างไรก็ตาม สำหรับความดันลูกตาที่สูงขึ้น อาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด หรือเป็นไปตามวัยได้
โรคต้อหินรักษาได้โดยการรักษาภาวะต้นเหตุที่ทำให้ความดันลูกตาสูงขึ้น และการลดความดันลูกตาด้วยการใช้ยาหยอดตา ยารับประทาน หรือการเลเซอร์ที่ตา แต่หากได้ผลไม่ดี อาจต้องลดความดันลูกตาด้วยการผ่าตัด อย่างไรก็ตามเป้าหมายในการรักษาโรคต้อหินคือ หยุดการดำเนินของโรคไม่ให้โรคแย่ลง แต่อาจไม่สามารถฟื้นฟูขั้วประสาทตาส่วนที่เสียไปแล้วให้กลับมาเป็นปกติเหมือนเดิมได้ โรคต้อหินสามารถป้องกันได้โดยการหมั่นตรวจสุขภาพตาประจำปี ระมัดระวังไม่ให้ดวงตาเกิดการบาดเจ็บจากการถูกกระแทก ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ หรือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคต้อหิน เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานควรรักษาระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ต้อหินไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่จุดมุ่งหมายของการรักษาคือ ลดความดันลูกตา ซึ่งทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับชนิดของต้อหิน สิ่งสำคัญคือ ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคและใช้ยาตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น