นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า “โรคลิ้นหัวใจ” คือโรคเกิดขึ้นกับลิ้นหัวใจเอออร์ติก แบ่งอาการออกเป็นแบบที่ 1 คือ ลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ ลิ้นหัวใจมีลักษณะแคบลงเปิดไม่สุดและกีดขวางการไหลเวียนปกติของเลือด แบบที่ 2 ลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่ว ลิ้นหัวใจปิดไม่สนิทและมีเลือดไหลย้อนกลับห้องหัวใจ สถิติจากกระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยสะสมด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่า 2 แสน 5 หมื่นราย และเสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าวนี้มากถึง 4 หมื่นราย
นอกจากนี้ ข้อมูลทางการแพทย์บ่งชี้ว่าอุบัติการณ์ของโรคหัวใจ โดยเฉพาะโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มผู้สูงอายุ มีอาการ เช่น เหนื่อยง่าย หน้ามืดเป็นลม มีอาการใจสั่นหรือเจ็บหน้าอก ข้อเท้า เท้าบวม และหัวใจเต้นผิดปกติ หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบมาพบแพทย์ เพราะหากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
ทั้งนี้ หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนลิ้นหัวใจ แพทย์จะมีการพิจารณาในการเลือกชนิดของลิ้นหัวใจเทียมที่เหมาะสมสำหรับที่จะใส่ทดแทนลิ้นหัวใจเดิม ซึ่งจะให้เลือกด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ ลิ้นหัวใจชนิดโลหะ และลิ้นหัวใจชนิดเนื้อเยื่อ ซึ่งจะมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายแตกต่างกันไป โดยจะพิจารณาเปลี่ยนลิ้นหัวใจตามมาตรฐานสากล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422