4 พ.ค. วันฉัตรมงคล รัฐบาลเชิญชวนพสกนิกรร่วมใจถวายพระพรชัยมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ความเป็นมาของวันฉัตรมงคล

วันฉัตรมงคลเป็นวันที่ระลึกในการครบรอบปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับพระบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทยโดยสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี สำหรับพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยปรากฏหลักฐานในหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แต่พระราชพิธีฉัตรมงคล เริ่มมีครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริว่า วันที่พระองค์ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกนั้น เป็นมหามงคลสมัยซึ่งประเทศทั้งปวงที่มีพระเจ้าแผ่นดินย่อมนับถือวันนั้นเป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลกาล แต่ในกรุงสยามมิได้มีการนักขัตฤกษ์อันใด ครั้งนี้วันบรมราชาภิเษกของพระองค์ ตรงกับสมัยที่เจ้าพนักงานได้สมโภชเครื่องราชูปโภคแต่เดิมมา ควรที่จะมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตรให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ จึงได้ทรงพระราชดำริจัดการพระราชกุศล พระราชทานชื่อว่า “ฉัตรมงคล” นี้ขึ้น

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระราชพิธีฉัตรมงคลจัดขึ้นทุกวันที่ 5 พฤษภาคม เพราะทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 และทางราชการถือเป็นวันหยุดตามประเพณีวันหนึ่งของประเทศไทย ต่อมาในรัชกาลที่ 10 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตั้งการพระราชพิธีนี้ขึ้นในวันที่ 4 – 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 โดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการจัดขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 และในปีถัดไปจึงถือให้วันที่ 4 พฤษภาคม เป็นวันฉัตรมงคล ทางราชการถือเป็นวันหยุดตามประเพณีวันหนึ่งของประเทศไทย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พสกนิกรชาวไทยจึงได้ถือเอาวันที่ 4 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันฉัตรมงคล
เพื่อน้อมรำลึกถึงวันสำคัญนี้

วันฉัตรมงคล ถือเป็นวันสำคัญที่เจ้าพนักงานทั้งฝ่ายในและฝ่ายหน้าจะต้องทำหน้าที่รักษาเครื่องราชูปโภคและพระราชนิเวศน์ ตั้งเครื่องสังเวย เครื่องประโคม และร้อยดอกไม้ประดับบูชา รวมถึงจัดพิธีสวดมนต์ เป็นเสมือนการระลึกถึงและเชิดชูพระเกียรติการครบรอบปีที่รับพระบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีอีกด้วย

ในพระราชพิธีฉัตรมงคล จะมีพิธีจัดสมโภชเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในพระบรมมหาราชวัง โดยเจ้าพนักงานอัญเชิญเครื่องมงคลสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์ ขึ้นประดิษฐานบนพระแท่นใต้ “พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร” เป็นฉัตรผ้าขาว 9 ชั้น มีระบาย 3 ชั้น ขลิบทองแผ่ลวด จากนั้นพระราชครูหัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีฉัตรมงคล พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์เย็น

สำหรับเครื่องสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์ ประกอบด้วย

  • พระมหาพิชัยมงกุฎ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ทำด้วยทองคำหนัก 7.3 กิโลกรัม และได้ประดับเพชร

“พระมหาวิเชียรมณี” ที่ยอดมงกุฎในสมัยรัชกาลที่ 4 ถือเป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะในการปราบดาภิเษกของพระมหากษัตริย์

  • พระแสงขรรค์ชัยศรี หรืออาวุธที่มีลักษณะเป็นมีดยาวคล้ายดาบ มีคมทั้ง 2 ด้าน ตรงกลางทั้งด้านหน้า

และด้านหลังเป็นสันนูนคล้ายคมหอก ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งพระอาญาสิทธิ์ในการปกครองแผ่นดิน ในทางพุทธศาสนายังหมายถึงพระปัญญาที่แหลมคมอีกด้วย

  • ธารพระกร ทำจากไม้ชัยพฤกษ์อันเป็นมงคล สื่อความหมายถึงชัยชนะ
  • วาลวิชนี หรือ พัดและแส้ รัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้างขึ้น พัดเป็นใบตาลปิดทองทั้ง 2 ด้าน ขอบขลิบทองคำ

ด้ามทำด้วยทองลงยา ต่อมารัชกาลที่ 4 ทรงพระราชดำริให้เรียกตามภาษาพระบาลีว่า “วาลวิชนี” เป็นเครื่องโบกทำด้วยขนหางจามรี และขนหางช้างเผือก ในเวลาต่อมา เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ใช้ควบคู่กับพัดใบตาล ซึ่งเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ตามคติอินเดีย

  • ฉลองพระบาทเชิงงอน เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ตามแบบอินเดียโบราณ ทำด้วยทองคำลงยาราชาวดี

ฝังเพชร และพราหมณ์เป็นผู้สวมถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

กิจกรรมที่ถือปฏิบัติเนื่องในวันฉัตรมงคล

ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ ร่วมทำบุญตักบาตร ประกอบพิธีทางศาสนาถวายเป็นพระราชกุศล น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยมงคลพร้อมเพรียงกัน กล่าวคำถวายอาศิรวาทราชสดุดี ถวายชัยมงคลให้ทรงพระเกษมสำราญ ทรงเจริญพระชนมายุยิ่งยืนนาน เมื่อวันฉัตรมงคลเวียนมาบรรจบครบรอบอีกหนึ่งครา ในวันที่ 4 พฤษภาคม พสกนิกรชาวไทยทั้งหลายจึงควรรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอันมีคุณอนันต์แก่ปวงชนชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันอาทิตย์ที่ 4 พฤษภาคม 2568 เวลา 09.15 น. นายกรัฐมนตรี จะถวายราชสักการะสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ณ ปราสาทพระเทพบิดร และถวายสักการะพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง จากนั้น เวลา 10.00 น. นายกรัฐมนตรี เฝ้าฯ รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในการพระราชพิธีฉัตรมงคล พุทธศักราช 2568 ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง

จากนั้น ในช่วงค่ำ รัฐบาลได้จัดงานสโมสรสันนิบาตเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันฉัตรมงคล เวลา 19.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
จะเป็นประธานในงานสโมสรสันนิบาตฯ

ทั้งนี้ รัฐบาลได้เชิญคณะองคมนตรี อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานองค์กรตามรัฐธรรมนูญ คณะรัฐมนตรี องค์กรตามรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) สมาชิกวุฒิสภา (สว.) หัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการการเมืองในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เอกอัครราชทูต กงสุลกิตติมศักดิ์ต่างประเทศประจำประเทศไทย กงสุลอาชีพ องค์การระหว่างประเทศภายใต้องค์การสหประชาชาติ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย และประธานสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย พร้อมคู่สมรส เข้าร่วมในงานสโมสรสันนิบาตฯ

สำหรับการจัดงานสโมสรสันนิบาตฯ จะมีการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ตั้งแต่เวลา 18.50 น. เป็นต้นไป รัฐบาล ขอเชิญชวน พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าได้ร่วมกันเฉลิมพระเกียรติและถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวันฉัตรมงคล 4 พฤษภาคม 2568 โดยพร้อมเพรียงกัน

สำนักพระราชวัง ขอเชิญชวนประชาชนร่วมเจริญอริยมรรค “สัมมาทิฏฐิ” ระลึกถึงพระรัตนตรัย ด้วยบทว่า พุทโธ เม นาโถ (พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า) ธัมโม เม นาโถ (พระธรรมเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า) สังโฆ เม นาโถ (พระสงฆ์เป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า) (โดยให้ระลึกย้ำๆ ซ้ำๆ ต่อเนื่องได้ในทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน) ถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวันฉัตรมงคล วันที่ 4 พฤษภาคม 2568 ตั้งแต่บัดนี้ – 7 พฤษภาคม 2568 เวลา 08.00 น. ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดผ่านทางแอปพลิเคชัน สมาธิเสบียงบุญ” ได้ทั้ง PLAY STORE และ APP STORE

กระทรวงมหาดไทย ขอให้หน่วยงานในสังกัดจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสวันฉัตรมงคล วันที่ 4 พฤษภาคม 2568 ดังนี้

1. จัดตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมเครื่องราชสักการะ บริเวณอาคารสำนักงาน ตลอดเดือนพฤษภาคม 2568

2. จัดตกแต่งสถานที่ประดับพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประดับธงชาติไทยคู่กับธงอักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. พร้อมทั้งประดับผ้าระบายสีเหลืองร่วมกับผ้าระบายสีขาวบริเวณรั้วอาคารสำนักงาน ตลอดเดือนพฤษภาคม 2568 และประดับไฟบริเวณอาคารสำนักงานให้สวยงามในระยะเวลาที่เห็นสมควร

3. จัดทำคำถวายพระพรชัยมงคลพร้อมพระบรมฉายาลักษณ์ และสมุดลงนามถวายพระพรชัยมงคลอิเล็กทรอนิกส์บนหน้าหลักของเว็บไซต์ของหน่วยงาน ตลอดเดือนพฤษภาคม 2568

4. เชิญชวนผู้บริหารและบุคลากรในสังกัด ร่วมลงนามถวายพระพรชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันฉัตรมงคล ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ของหน่วยงาน

ทั้งนี้ ในการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันฉัตรมงคล วันที่ 4 พฤษภาคมของทุกปี ขอให้หน่วยงานใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมดังกล่าวข้างต้น เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรม

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม แจ้งว่า ในวันอาทิตย์ที่ 4 พฤษภาคม 2568 ซึ่งตรงกับวันฉัตรมงคล เป็นวันหยุดราชการประจำปีตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี กทพ. ได้ยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษ รวม 3 สายทาง ประกอบด้วย ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) จำนวน 20 ด่าน ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) จำนวน 31 ด่าน และทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน-ปากเกร็ด) จำนวน 10 ด่าน ตั้งแต่เวลา 00.01 – 24.00 น.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง