นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ยืนยันในโอกาสที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นำตัวแทนเด็กๆ จากโครงการ Thailand Zero Dropout ที่ได้รับการช่วยเหลือให้กลับสู่เส้นทางการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น มีทางเลือก ตอบโจทย์ชีวิต เข้าพบในงานวันเด็กแห่งชาติ 2568 ที่จัดขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า รัฐบาลพร้อมผลักดันนโยบาย “Thailand Zero Dropout” มุ่งเน้นให้เด็กทุกคนได้เรียน โดยจะขยายผลการค้นหา ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา ให้มีทางเลือกที่ตอบโจทย์ชีวิต และโอกาสพัฒนาเต็มศักยภาพ ควบคู่ไปกับการทำงานเพื่อมีรายได้เสริมในระหว่างการศึกษา เพื่อให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่แห่งโอกาสสำหรับทุกคนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม ซึ่งในปี 2568 นี้ รัฐบาลได้ขยายผลการค้นหาและช่วยเหลือเด็กและเยาวชน ที่หลุดจากระบบการศึกษา จาก 25 จังหวัด ในปี 2567 เป็น 77 จังหวัดทั่วประเทศ ให้สมกับที่ประเทศไทยเป็นพื้นที่แห่งโอกาสของทุกคนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมอย่างแท้จริง
ศธ. Kick off : โครงการพาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง ระยะที่ 2 “นำการเรียนไปให้น้อง”
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธี Kick off : โครงการพาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง (OBEC Zero Dropout) ระยะที่ 2 “นำการเรียนไปให้น้อง” และการประชุมเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน “เรียนดี มีความสุข : กลับมาเรียนอย่างมั่นใจ เริ่มเทอมใหม่อย่างมีความสุข” โดยมี นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดร.พีระพันธ์ เหมะรัต เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ และผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมด้วยนายไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ผู้บริหารการศึกษาและบุคลากรทุกสังกัดกว่า 500 คน เข้าร่วม ณ หอประชุมคุรุสภา และร่วมประชุมออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom ถ่ายทอดสดทาง OBEC Channel ของ สพฐ.
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการตั้งเป้าหมายที่จะลดจำนวนเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาให้เป็นศูนย์ ถือเป็นความท้าทายที่สำคัญ โดยที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ ได้เร่งติดตามการดำเนินงานในทุกจังหวัดให้ครบ 100% เพื่อนำผลการติดตามมาวิเคราะห์และช่วยเหลือเด็กได้อย่างเต็มที่ ให้เด็กทุกคนสามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ขณะนี้สามารถค้นหาติดตามเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาครอบคลุม 77 จังหวัด ในทุกเขตพื้นที่ครบ 100% แล้ว และในการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2568 จะดำเนินการระยะที่ 2 คือ นำการเรียนไปให้น้อง โดยมีการนำระบบ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาแบบยืดหยุ่น มีทั้งการเรียนในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย เพราะเด็กแต่ละคนมีความจำเป็นที่แตกต่างกัน ดังนั้น เราจะนำการศึกษาไปหาเด็กๆ ตามนโยบาย เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา “Anywhere Anytime”
กระทรวงศึกษาธิการ ยังคงดำเนินการให้เด็กยังอยู่ในระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยจะเสริมสร้างความร่วมมือกับผู้ปกครอง ครูและชุมชน เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิทางการศึกษาและการสนับสนุนตามความต้องการอย่างเหมาะสม เพื่อให้เด็กทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม โดยต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ส่วนแนวทางในการพัฒนาเพื่อให้สถานศึกษาจัดการเรียนให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน มีการนำนวัตกรรมโรงเรียนมือถือ (Mobile School) ที่ทำให้ผู้เรียน เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา โดยเชื่อมโยงการเรียนรู้กับชุมชน ผู้ประกอบการ ภาคเอกชน เพื่อให้สามารถเก็บหน่วยกิตได้ ส่งเสริมการมีรายได้ระหว่างเรียนและเพื่อให้โอกาสในการกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมในทุกเขตพื้นที่
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวด้วยว่า สำหรับการเปิดภาคเรียนที่ 1/2568 ขอให้สถานศึกษาทุกแห่ง ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ดูแลและดำเนินการเตรียมความพร้อมในทุกมิติ ทั้งความพร้อมด้านการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งอาคารสถานที่และสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียน ด้านความปลอดภัยของผู้เรียนทั้งในและนอกสถานศึกษา เตรียมแผนเผชิญเหตุรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความพร้อมในการดำเนินโครงการ ต่างๆ ที่เป็นสวัสดิการ สวัสดิภาพและปัจจัยพื้นฐานของผู้เรียน เช่น การเตรียมความพร้อมในการจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายการศึกษา โครงการอาหารกลางวัน/อาหารเสริม (นม) บริการน้ำดื่มสะอาด การดูแลรักษาความปลอดภัยเรื่องจราจร รถรับ-ส่งนักเรียน ความรุนแรงหรือยาเสพติด
ในสถานศึกษา เพราะเราให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้เรียนทุกคน ให้มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะชีวิต และมีคุณธรรมจริยธรรมที่เหมาะสม พร้อมเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างมั่นใจ
ขอบคุณความร่วมมือของทุกฝ่าย รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” และสิ่งสำคัญคือ “ความร่วมมือพัฒนาการศึกษา” ที่พวกเราจะทำให้เกิดขึ้นร่วมกัน มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ด้วยการทำงานเป็นทีมและจะประสบผลสำเร็จได้หากพวกเราทุกคน “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” เพื่อปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศ ให้คนไทย “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” และประเทศ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ต่อไป
ด้านนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงความสำเร็จของนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ว่าที่ผ่านมาทั้งการพัฒนาระบบ TRS (Teacher Rotation System ระบบการย้ายข้าราชการครูผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์) ระบบการโยกย้ายที่มีความเป็นธรรม การช่วยเหลือเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา Zero dropout ที่สำรวจครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว และการสอบเทียบวัดระดับความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้วยระบบดิจิทัล (Digital Testing) ที่ผ่านมาได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งผลสอบสามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพหรือศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นได้ เป็นนโยบายการจัดการศึกษาที่เท่าเทียม พัฒนาคนไทยทุกคนในทุกช่วงวัย ให้ผู้เรียน “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” สร้างความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มคุณภาพการศึกษา
นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เน้นย้ำเรื่องการสื่อสารให้ถูกต้อง ครบถ้วน เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดของเรื่องนั้น ๆ และขอเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการศึกษา ร่วมกัน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” สร้างทรัพยากรมนุษย์ ที่มีค่าที่สุดของประเทศนี้ไปด้วยกัน
ขณะที่ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า Thailand Zero Dropout เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” OBEC Zero Dropout จะสามารถตอบสนองความต้องการของนักเรียนและผู้ปกครองที่มีความจำเป็นแตกต่างกันได้ โดย “นำการเรียนไปให้น้อง” จะจัดสำหรับนักเรียนที่มีความจำเป็นเฉพาะไม่สามารถกลับเข้ามาเรียนในระบบได้ โรงเรียนจะนำการเรียนไปให้นักเรียนได้เรียนที่บ้าน หรือเรียนออนไลน์ เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย โดยปัจจุบันมีการนำร่องนำการเรียนไปให้น้องในรูปแบบต่างๆ เช่น โรงเรียนมือถือ เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา, ห้องเรียน/บวรสร้างโอกาส, ห้องเรียนเคลื่อนที่ ห้องเรียนสาขา, เครดิตแบงก์/เทียบโอนหน่วยกิต และเปลี่ยนบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู โดยครูประจำชั้น ครูฝ่ายวิชาการ ร่วมจัดหาสื่อการเรียนรู้ นำแบบฝึกใบงานไปให้นักเรียนที่บ้าน ผู้ปกครองช่วยสอนและทำกิจกรรมร่วมกับนักเรียน มีการประเมินนักเรียนจากคลิปวิดีโอ ที่ผู้ปกครองส่งให้ เป็นต้น
สำหรับการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2568 เนื่องด้วยเดือนพฤษภาคมของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่สถานศึกษาทั่วประเทศเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนใหม่ จึงมีการมอบนโยบายและสร้างการเปิดภาคเรียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากการผนึกกำลังร่วมกันของหน่วยงานสังกัดกระทรวงศึกษาธิการทุกสังกัด ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) รวมถึงภาคีสำคัญ คือ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อให้ผู้บริหารการศึกษาทุกสังกัด ทุกระดับ ได้รับทราบนโยบาย ทิศทาง เป้าหมายการขับเคลื่อนการศึกษาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารระดับสูง เพื่อให้การดำเนินงานด้านการจัดการศึกษาในภาคเรียนใหม่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งติดตามความพร้อมของสถานศึกษาในทุกมิติ อาทิ ด้านความปลอดภัย หลักสูตร บุคลากร และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศ โดยมีวาระสำคัญสำหรับปีการศึกษา 2568 คือ “เรียนดี มีความสุข : กลับมาเรียนอย่างมั่นใจ เริ่มเทอมใหม่อย่างมีความสุข” เพื่อมุ่งสร้างโอกาสทางการศึกษา ให้ผู้เรียนทุกคน “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” อย่างยั่งยืนต่อไป