ประกาศเฝ้าระวัง “โรคแอนแทรกซ์”
ประกาศอำเภอดอนตาล เรื่องมาตรการควบคุมโรค (ฉบับที่ 1) ด้วยปรากฏว่าได้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ในตำบลเหล่าหมี อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร โดยมีการสัมผัสโค กระบือ รับประทานเนื้อวัวและมีอาการไข้และตุ่มบริเวณผิวหนัง จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลดอนตาล เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2568 ทางโรงพยาบาลดอนตาลได้มีการส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมุกดาหาร และเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 30 เมษายน สันนิษฐานเบื้องต้นว่า มีการติดเชื้อโรคแอนแทรกซ์ นายชาคริต ชุมจันทร์ นายอำเภอดอนตาล ได้แจ้งที่ประชุมประจำเดือนร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่อำเภอดอนตาล เพื่อให้การควบคุมโรคและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโรคแอนแทรกซ์ จึงได้กำหนดมาตรการควบคุมโรค ดังนี้
1. ห้ามฆ่าสัตว์ โดยเฉพาะ โค กระบือ ในห้วงงานบุญประเพณีบุญเดือนหก (บุญบั้งไฟ) ทุกกรณี
2. โรงพยาบาลดอนตาล สาธารณสุขอำเภอดอนตาล และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเหล่าหมี ได้เปิดศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค เพื่อบริการประชาชนในการตรวจเชื้อโรคแอนแทรกซ์ ดังนี้ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเหล่าหมี ศาลาประชาคม หมู่ที่ 1 บ้านเหล่าหมี
3. ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) สำรวจประชาชนในพื้นที่เสี่ยง และให้บันทึกข้อมูลลงในระบบของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นการเฝ้าระวังในการแพร่ระบาดของโรคแอนแทรกช์
4. การเฝ้าระวังการติดเชื้อของโค กระบือ และแพะ มอบหมายให้ปศุสัตว์อำเภอดอนตาลดำเนินการ
5. ให้กำนัน – ผู้ใหญ่บ้าน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ทราบ ลักษณะอาการของการติดเชื้อโรคแอนแทรกซ์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค หากประชาชนท่านใดมีอาการดังกล่าว ให้มาตรวจหาเชื้อได้ที่ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค
6. ให้กำนัน – ผู้ใหญ่บ้าน ประชาสัมพันธ์หากพบโค กระบือและแพะ ที่มีอาการ มีไข้สูง ไม่กินหญ้า
แต่ยืนเคี้ยวเอื้อง มีน้ำลายปนเลือดไหลออกมา หายใจลำบาก ยืนโซเซ กล้ามเนื้อกระตุก ชัก ให้กักขังสัตว์ดังกล่าว และแจ้งปศุสัตว์อำเภอดอนตาลเข้ามาตรวจสอบโดยทันที
7. ให้มีการตั้งจุดตรวจ/จุดสกัด ในการลักลอบขน โค กระบือและแพะ ออกจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคแอนแทรกซ์
8. ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป ปศุสัตว์อำเภอดอนตาล จะทำการฉีดวัคซีนโค กระบือและแพะ ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดโรคแอนแทรกซ์ จึงห้ามไม่ให้ประชาชนในพื้นที่ ที่มีการฉีดวัคซีน
ทำการฆ่าหรือชำแหละโค กระบือ และแพะ ในเวลา 21 วัน นับตั้งแต่มีการฉีดวัคซีน
กรมควบคุมโรค เตือน! ประชาชนเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ดิบ หลังพบผู้เสียชีวิต “โรคแอนแทรกซ์” 1 ราย
ย้ำอย่าตื่นตระหนก
นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรณีพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) 1 ราย ในจังหวัดมุกดาหาร ผู้ป่วยเป็นเพศชาย อายุ 53 ปี มีโรคประจำตัวเป็นโรคเบาหวาน อาชีพรับจ้างก่อสร้าง เริ่มมีตุ่มแผลขึ้นบริเวณมือข้างขวา เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568 และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล วันที่ 27 เมษายน 2568 ด้วยอาการแผลที่มือเริ่มมีสีดำชัดเจนขึ้น ต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ข้างขวาโต มีอาการหน้ามืด ชักเกร็ง และเสียชีวิตในวันที่ 30 เมษายน 2568 ขณะเข้ารับการรักษาแพทย์สงสัยโรคแอนแทรกซ์ จึงเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสถาบันบำราศนราดูร ผลพบเชื้อ Bacillus anthracis
จากการสอบสวนโรคเบื้องต้นคาดว่า ปัจจัยเสี่ยงมาจากการชําแหละโคในงานบุญผ้าป่า และมีการนำเนื้อโคที่ชําแหละไปแจกจ่ายให้รับประทานกันภายในหมู่บ้าน เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 ทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรค กรมควบคุมโรค ร่วมกับทีมสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และทีมปศุสัตว์ได้ลงพื้นที่สอบสวนโรคเบื้องต้นพบผู้สัมผัสจำนวน 247 คน แบ่งเป็นผู้ที่ชำแหละโค 28 คน และผู้ที่บริโภคเนื้อโคดิบ 219 คน ได้ให้ยาในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง อยู่ระหว่างดำเนินมาตรการป้องกันการควบคุมโรคในพื้นที่
(4 พ.ค. 68) เวลา 14.00 น. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมุกดาหาร รายงานสถานการณ์ผู้ป่วย
โรคแอนแทรกซ์ จังหวัดมุกดาหาร พบผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ 1 ราย สะสมรวม 3 ราย เสียชีวิต 1 ราย อยู่ระหว่างรักษา 2 ราย (รพ.มุกดาหาร และ รพ.ดอนตาล แห่งละ 1 ราย) ผู้สัมผัส สิ้นสุดระยะเวลาเฝ้าระวังโรค 538 ราย (จากผู้สัมผัสทั้งหมด 636 ราย) เพราะผลระยะฟักตัวทางผิวหนังและทางเดินอาหาร 7 วัน ส่วนอีก 98 ราย อยู่ในระยะเฝ้าระวังโรคทางผิวหนังและทางเดินอาหา
โรคแอนแทรกซ์ โรคติดต่อร้ายแรงจากสัตว์สู่คน
โรคแอนแทรกซ์ เป็นโรคติดต่อร้ายแรงจากสัตว์สู่คน ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bacillus anthracis พบได้ทั่วไปตามธรรมชาติโดยเฉพาะในดิน น้ำ และวัสดุจากพืช สัตว์ เชื้อทนความร้อน และเย็นได้ดี สามารถอยู่ในดินได้นานกว่า 10 ปี แหล่งรังโรคหลักของเชื้อคือ สัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น โค กระบือ แพะ และแกะ ซึ่งสามารถแพร่เชื้อสู่คนได้โดยตรง การติดเชื้อ ในคนส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ที่ติดเชื้อ เช่น การชำแหละเนื้อสัตว์ การบริโภคเนื้อสัตว์ดิบหรือปรุงไม่สุก หรือการสัมผัสกับหนังสัตว์หรือขนสัตว์ที่มีเชื้อ หลังได้รับเชื้อประมาณ 1 – 5 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องรุนแรง มีแผลคล้ายบุหรี่จี้ หายใจขัด หายใจลำบาก หากมีอาการรุนแรงมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 80
การติดต่อ
- การรับประทานเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์ที่มีเชื้อ
- การสัมผัสสัตว์ที่ป่วยหรือตายผิดปกติ
- ติดจากการหายใจฝุ่นดินที่มีสปอร์เชื้อเข้าไป
- สัตว์พาหะ คือ โค กระบือ แพะ แกะ
ระยะฟักตัว
- ระยะฟักตัวของโรค 1 – 5 วัน หรืออาจนานถึง 60 วัน
อาการ
- มีไข้
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดท้องรุนแรง
- มีแผลคล้ายบุหรี่จี้
- หายใจขัด หายใจลำบาก
กลุ่มเสี่ยง
- คนชำแหละสัตว์
- คนที่ชอบกินเนื้อดิบ
- สัตวแพทย์ สัตวบาล
- คนเลี้ยงสัตว์
- คนทำงานในโรงหนัง ขน หรือ กระดูกสัตว์ป่น
การป้องกัน
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสโค กระบือ แพะ แกะ
- ล้างมือ ชำระล้างร่างกาย หลังสัมผัสสัตว์
- เลือกบริโภคเนื้อสัตว์ที่ได้รับการรับรองอาหารปลอดภัย
- หากพบสัตว์ป่วยตายผิดปกติ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทันที ห้ามชำแหละซากสัตว์
- หากมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์
โดยข้อมูลจาก กองระบาดวิทยา พบผู้ป่วยในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2543 รวม 15 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต (พิจิตร 14 ราย และพิษณุโลก 1 ราย) ซึ่งการระบาดที่จังหวัดพิจิตรมีความเป็นไปได้ว่าสัตว์ได้รับเชื้อก่อนที่จะเคลื่อนย้ายเข้าพื้นที่จังหวัด ส่วนในจังหวัดพิษณุโลก พบว่า ผู้ชำแหละมีบาดแผล โดยนำซากแพะเข้ามาชำแหละรับประทานเอง
ล่าสุดในปี พ.ศ. 2560 พบผู้ป่วย 2 ราย ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ทั้งคู่ได้ชำแหละซากแพะที่นำมาจากประเทศเมียนมาโดยถลกหนังแพะด้วยมือเปล่า ส่วนสถานการณ์ในประเทศที่มีพื้นที่ติดชายแดนไทย เมื่อปี พ.ศ. 2567 ประเทศลาวพบผู้ติดเชื้อแอนแทรกซ์ รวม 129 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย และเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ประเทศเวียดนาม พบการระบาดโรคแอนแทรกซ์ จำนวน 3 เหตุการณ์ พบผู้ป่วยรวม 13 ราย และผู้สัมผัสอีก 132 ราย จากการรับประทานเนื้อโคและกระบือเช่นกัน
หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422