นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่บูรณาการทำงานร่วมกัน ทำให้สามารถลดอัตราค่าไฟฟ้าลงได้สำเร็จ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ซึ่งส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าในรอบเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2568 ลงเหลือ 3.98 บาทต่อหน่วย ตามประกาศล่าสุดของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จากเดิม ที่มติ กกพ. ประกาศราคาค่าไฟรอบ พฤษภาคม – สิงหาคม 2568 ไว้ที่ 4.15 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติกำหนดเป้าหมายชัดเจนให้ปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับรอบเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2568 ลงเหลือไม่เกินหน่วยละ 3.99 บาท พร้อมมอบหมายให้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงงาน ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำงานร่วมกับ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการให้ภารกิจการลดค่าไฟครั้งนี้บรรลุตามเป้าหมาย และได้มอบหมายให้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กำกับดูแล คณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (บอร์ด กฟผ.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้ลดราคาค่าไฟฟ้าลงตามเป้าหมายดังกล่าว
นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติให้ กฟผ. และบอร์ด กฟผ. รวมทั้ง กกพ. ร่วมดำเนินการใน 3 ข้อต่อไปนี้ให้เสร็จภายใน 45 วัน นับตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติ ดังนี้
1. หาแนวทางแก้ไขปัญหาสัญญาซื้อขายไฟฟ้า PPA (Power Purchase Agreement คือ ข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างภาครัฐและเอกชนที่ผลิตไฟฟ้าขึ้นมาใช้เอง) ในรูปแบบการให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และรูปแบบการให้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (Feed-in Tariff: FiT) รวมถึงการแก้ไขเงื่อนไขที่กำหนดให้สัญญาดังกล่าวมีอายุสัญญาต่อเนื่องโดยไม่กำหนดวันสิ้นสุดสัญญาไว้
2. หาแนวทางแก้ปัญหาค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment: AP) และค่าพลังงาน (Energy Payment: EP) รวมทั้งเงื่อนไขข้อตกลงอื่นในสัญญา PPA จากโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (Independent Power Producer: IPP) ตามสัญญารับซื้อไฟฟ้าระยะยาว ในทุกสัญญาที่มีเงื่อนไขที่ทำให้ กฟผ. หรือรัฐเสียเปรียบ หรือมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงเกินควร หรือสูงเกินกว่าความเป็นจริง
3. หาแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคของข้อตกลงในสัญญารับซื้อไฟฟ้าต่าง ๆ ที่ทำให้ศูนย์การควบคุมระบบไฟฟ้า (system operator: SO) ไม่สามารถบริหารจัดการการสั่งผลิตไฟฟ้าให้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ลดต่ำลงได้
นางสาวศศิกานต์ ระบุว่า รัฐบาลมุ่งมั่นดำเนินนโยบายด้านพลังงานอย่างรอบคอบและยั่งยืน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง ในการลดภาระค่าครองชีพ พร้อมเดินหน้าแก้ไขโครงสร้างต้นทุนไฟฟ้า และกฎหมายพลังงานต่าง ๆ เพื่อสร้างเสถียรภาพทางด้านพลังงานให้ประเทศในระยะยาว
ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมครั้งที่ 16/2568 (ครั้งที่ 958) วันที่ 30 เมษายน 2568 ได้พิจารณาข้อเสนอการปรับค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (ค่า Ft) ประจำเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2568 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีกำหนดค่าเป้าหมายของค่าไฟฟ้าไว้ให้ไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วย และมีมติให้ปรับค่า Ft จากเดิม 36.72 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 19.72 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยลดลงจาก 4.15 บาทต่อหน่วย เป็น 3.98 บาทต่อหน่วย หรือลดลงประมาณ 17 สตางค์ต่อหน่วย
โฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า “แนวทางการปรับลดค่าไฟในงวดพฤษภาคม – สิงหาคม 2568 กกพ. พิจารณาจากปัจจัยสองส่วนหลัก คือ ส่วนที่หนึ่ง ต้องการให้ค่าไฟอยู่ในระดับเหมาะสมกับสภาวะวิกฤต เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและลดภาระค่าครองชีพ ส่วนที่สอง จะต้องสามารถลดภาระทางการเงิน ภาระดอกเบี้ย ดูแลผลกระทบต่อเครดิตเรทติ้งของ กฟผ. ควบคู่กันไปด้วย ในรอบนี้ กกพ. จึงเลือกแนวทางที่จะนำเงินที่ได้จากการเรียกคืนประโยชน์ส่วนเกินจากการไฟฟ้า จำนวนประมาณ 12,200 ล้านบาทมาลดค่าไฟ โดยแนวทางนี้ กฟผ. ยังคงได้รับการชำระคืนค่าเชื้อเพลิงคงค้างใกล้เคียงจำนวนตามเป้าหมายเดิมที่วางไว้ที่ 20.33 สตางค์ต่อหน่วยหรือเป็นเงินรวม 14,590 ล้านบาท”
ที่ผ่านมา กกพ. ได้ตรวจสอบและรับรองจำนวนเงินที่ได้จากการเรียกคืนประโยชน์ส่วนเกินของการไฟฟ้า มาได้ทั้งสิ้นประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยนำมาใช้ในการลดค่าไฟในงวดพฤษภาคม – สิงหาคม 2568 จำนวน 12,200 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 7,800 ล้านบาท สำรองไว้สำหรับการดูแลค่าไฟฟ้าในระยะต่อไป ซึ่ง กกพ. มองว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังคงผันผวนและมีความไม่แน่นอน
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2568 (ครั้งที่ 171) วันที่ 6 พฤษภาคม 2568
โดยระเบียบวาระสำหรับการประชุมในครั้งนี้คือ เพื่อรับทราบความคืบหน้าแนวทางการกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ และการดำเนินการต่อไปของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน รวมถึงรับทราบผลการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรมตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด สำหรับปี 2566 – 2573 และในที่ประชุมจะได้ร่วมกันพิจารณานโยบายและแนวทางการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้า งวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2568 อีกด้วย
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีวาระพิจารณาเรื่องการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรมตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด สำหรับปี 2566 – 2573 ในส่วนที่ยังไม่ได้ดำเนินการ อีกด้วย