ครม. เห็นชอบกำหนดให้เดือนพฤษภาคมของทุกปีเป็นเดือนแห่งสุขภาพใจ (Mind Month)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนดให้เดือนพฤษภาคมของทุกปี เป็นเดือนแห่งสุขภาพใจ (Mind Month) มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิต เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการจัดกิจกรรมรณรงค์และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอ
สาระสำคัญ
1. ตามนิยามขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ระบุว่า “สุขภาพจิตที่ดี หมายถึง ภาวะที่บุคคลสามารถรับรู้ศักยภาพของตนเอง จัดการกับความเครียดในชีวิต ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ มีส่วนร่วมในสังคม” แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสุขภาพจิตที่ไม่เพียงมีผลต่อตนเอง แต่ยังมีผลต่อคนรอบข้างและส่งผลต่อสังคมอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีประชากรมากกว่าหนึ่งพันล้านคนทั่วโลก ที่ประสบปัญหาความผิดปกติทางจิตหรือการติดสารเสพติด ทำให้ปัญหาสุขภาพจิตเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของความพิการ และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยปัญหาสุขภาพจิตกำลังเพิ่มขึ้นในทุกระดับของสังคม สิ่งนี้ตอกย้ำถึงความจำเป็นในการให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตมากขึ้น
สถานการณ์สุขภาพจิตในประเทศไทยปัจจุบันเผชิญปัญหาสุขภาพจิตที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต พบว่า การประเมินผ่านแอปพลิเคชัน Mental Health Check In (1 ม.ค. 2563 – 20 ก.พ. 2568) จากจำนวน 6,154,474 ราย พบความเสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 9.14 (562,289 คน) เสี่ยงฆ่าตัวตายร้อยละ 5.18 (318,917 คน) และความเครียดสูงร้อยละ 7.87 (484,313 คน) โดยกลุ่มอายุ 20 – 29 ปี มีความเสี่ยงสูงสุด ในส่วนสถานการณ์ปัญหาจิตเวชสำคัญ พบว่า ผู้ป่วยจิตเวชและสารเสพติด เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 5 แสนคน (ข้อมูล Health Data Center (HDC) เดือนพฤศจิกายน 2567) ในขณะที่ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังป้องกันการฆ่าตัวตาย (2567) พบคนไทยเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 5,217 คน หรือเท่ากับ 8.02
ต่อแสนประชากร เฉลี่ยวันละ 15 คน หรือเสียชีวิต 1 คน ในทุก 2 ชั่วโมง (มบ.1 กองยุทธศาสตร์และแผนงาน, 2567) และคนไทยพยายามฆ่าตัวตาย 33,926 คน หรือเท่ากับ 52.07 ต่อแสนประชากร เฉลี่ยวันละ 93 คน หรือมีผู้พยายามฆ่าตัวตาย 7 คน ในทุก 2 ชั่วโมง และจากศูนย์ความรู้โรคซึมเศร้าไทย (2567) คาดการณ์ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอายุ 15 ปีขึ้นไป มีจำนวน 1,357,562 คน อีกด้วย
นอกจากผลกระทบด้านสุขภาพแล้ว ปัญหาสุขภาพจิตยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจ ทั้งผลกระทบทางตรง เช่น ค่าใช้จ่ายในการรักษา ค่าเดินทางพบแพทย์ ผลกระทบทางอ้อม เช่น การสูญเสียรายได้และผลิตภาพแรงงานจากการขาดงานหรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพและผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม การลดกำลังแรงงานย่อมส่งผลให้ผลผลิตทางเศรษฐกิจลดลง จากการศึกษาโดย Arias et al. (2022) ประมาณการจำนวนปีสุขภาวะที่สูญเสียไป (Disability adjusted life years: DALYs) จากโรคจิตเวช ในปี พ.ศ. 2562 พบประชากรทั่วโลกมีการสูญเสียปีสุขภาวะจากโรคจิตเวช ประมาณ 418 ล้านปี หรือคิดเป็น 16% ของปีสุขภาวะที่สูญเสียไป (DALYs) จากภาระโรคทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าโรคจิตเวชส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรโลกอย่างรุนแรง โดยคิดเป็น 1 ใน 6 ของภาระโรคทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าการประมาณการแบบเดิมถึง 3 เท่า และมีมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจ จากภาระโรคจิตเวชอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 169 ล้านล้านบาท โดยประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia) มีการสูญเสียปีสุขภาวะจากโรคจิตเวช ประมาณ 32 ล้านปีหรือคิดเป็น 10.7% ของปีสุขภาวะ ที่สูญเสียไป (DALYs) จากภาระโรคทั้งหมด และการสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโรคจิตเวชคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ตามข้อมูลสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของประเทศไทยในปี 2568 จะมีมูลค่าประมาณ 19,284.9 พันล้านบาท ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโรคจิตเวชคิดเป็นประมาณ 964 พันล้านบาท ดังนั้น การลงทุนส่งเสริมสุขภาพใจให้เกิดขึ้นในระดับชาติ จึงไม่ใช่แค่เรื่องของสุขภาพ แต่เป็นการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ที่ช่วยลดต้นทุนระยะยาวและสร้างสังคมที่มีศักยภาพ
กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมสุขภาพจิต ตระหนักดีว่าปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชาชนในวงกว้าง การจัดการปัญหานี้ไม่สามารถดำเนินการเพียงหน่วยงานเดียวได้เนื่องจากลักษณะของปัญหาที่ซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การศึกษาและการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ดังนั้น การขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพจิตอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันในลักษณะเครือข่ายความร่วมมือ ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม
2. จากสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพจิต โดยอาศัยการทำงานร่วมกันในลักษณะเครือข่ายความร่วมมือ ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม กรมสุขภาพจิต ได้จัดการประชุมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานสุขภาพจิต เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2568 ณ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ดร.ธีราภา ไพโรหกุล) มอบหมายให้ทบทวนการจัด “Mental Health Awareness Week” ในวันที่ 12-18 พฤษภาคม 2568 และจากการประชุมทบทวนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 กรมสุขภาพจิต จึงได้เสนอแนวคิดเดือนแห่งสุขภาพใจ หรือ Mind Month ในช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2568 ภายใต้แนวคิด “สุขภาพใจเป็นเรื่องของทุกคน” เป็นครั้งแรกในประเทศไทย สอดคล้องกับแนวปฏิบัติสากล เช่น “Mental Health Awareness Month” ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และบางประเทศในยุโรป
3. ด้วยสถานการณ์ของประเทศไทยที่กำลังเผชิญปัญหาสุขภาพจิตที่ทวีความรุนแรงขึ้น ปัญหาสุขภาพจิตเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของความพิการและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และกำลังเพิ่มขึ้นในทุกระดับของสังคม ตอกย้ำถึงความจำเป็นในการให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตมากขึ้น โดยการประกาศให้เดือนพฤษภาคมเป็นเดือนแห่งสุขภาพใจ (Mind Month) ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความชัดเจน ด้านนโยบายและกำหนดกรอบการดำเนินงานร่วมกันระหว่างทุกภาคส่วนในประเทศ และมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิต เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการจัดกิจกรรมรณรงค์และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
4. วัตถุประสงค์และเป้าหมายของมาตรการที่เสนอ
4.1 เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาและเห็นชอบในการประกาศให้เดือนพฤษภาคมของทุกปีเป็นเดือนแห่งสุขภาพใจ (Mind Month) อย่างเป็นทางการ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงความสำคัญ ผ่านการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต โดยมุ่งส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตใจ และลดการตีตราที่เกี่ยวข้องกับโรคทางจิตเวช โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบนิเวศที่ช่วยส่งเสริมการมีสุขภาพจิตที่ดีพร้อมทั้งเข้าใจ และสนับสนุนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสุขภาพจิต
4.2 เพื่อเปิดพื้นที่ความร่วมมืออย่างเป็นระบบระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน ในการรณรงค์ลดการตีตรา (Stigma) สร้างความตระหนักรู้ (Awareness) ส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพจิต (How to seek help) และสนับสนุนการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Safe Space) ให้สามารถวางแผนดำเนินกิจกรรมร่วมกับกรมสุขภาพจิตได้อย่างมีทิศทางเดียวกัน และยังเอื้อต่อการขอความร่วมมือจากหน่วยงานในระดับพื้นที่ ในการจัดกิจกรรมที่ตอบสนองบริบทของตน โดยมีจุดร่วมเดียวกัน คือ “สุขภาพใจเป็นเรื่องของทุกคน” ส่งผลให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการในการส่งเสริมสุขภาพใจของประชาชนอย่างยั่งยืน
4.3 เพื่อยกระดับการรับรู้ของประชาชนไทยต่อประเด็นสุขภาพจิตให้เป็นวาระแห่งชาติ ที่ได้รับความสำคัญเทียบเท่ากับสุขภาพกาย สร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ประชาชนทุกคนสามารถดูแลใจของตนเองและผู้อื่นได้ในชีวิตประจำวัน
5. บทบาทของเครือข่ายในการขับเคลื่อนกิจกรรม Mind Month ตามประเด็นเป้าหมายเพื่อให้การประกาศเดือนแห่งสุขภาพใจ (Mind Month) เป็นกลไกระดับชาติในการบูรณาการความร่วมมือ ทุกภาคส่วน กรมสุขภาพจิตได้พัฒนาและดำเนินโครงการร่วมกับเครือข่ายในประเด็นหลัก ดังนี้
5.1 การลดการตีตรา (Stigma) ทางสุขภาพจิต ช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงบริการและการเปิดเผยปัญหาสุขภาพจิตของประชาชน
ตัวอย่างโครงการที่จะขับเคลื่อนร่วมกับภาคเครือข่าย อาทิ
(1) โครงการชุมชนล้อมรักษ์ (Community Based Treatment and Care : CBTx) โครงการพัฒนาการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตโดยใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง (CBTx) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรในชุมชนสามารถฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการบูรณาการแนวทางการดูแลแบบองค์รวม โดยใช้กระบวนการดูแลผู้ป่วยที่เชื่อมโยงกับชุมชนอย่างใกล้ชิด ซึ่งได้ดำเนินการในพื้นที่ 740 อำเภอจาก 878 อำเภอทั่วประเทศ มีผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดสะสมแล้ว 11,316 ราย และเกิดต้นแบบการฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน
(2) Policy Watch: Gentle Society สังคมไทยไร้ความรุนแรง เป็นกิจกรรมที่มุ่งติดตามและประเมินนโยบายของภาครัฐในการลดความรุนแรงในสังคม เช่น ความรุนแรงในครอบครัว การกลั่นแกล้งในโรงเรียน และการรังแกทางออนไลน์ ผ่านเวทีเสวนาเชิงนโยบาย การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ มหาวิทยาลัย และองค์กรภาคประชาสังคม เช่น มูลนิธิเพื่อเด็กและสตรี เครือข่ายชุมชนล้อมรักษ์
บทบาท หน่วยงานเหล่านี้มีบทบาทในการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมเชิงนโยบาย ส่งบุคลากรเข้าร่วมอบรม และดำเนินกิจกรรมในระดับพื้นที่ รวมถึงให้การสนับสนุนด้านองค์ความรู้และการประเมินผลลัพธ์เชิงสังคม
สิ่งที่กรมสุขภาพจิตต้องการการสนับสนุน งบประมาณและกำลังคนจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายการใช้ช่องทางสื่อของหน่วยงานภาคีเครือข่าย ในการเผยแพร่แนวคิดลดการตีตราและการสนับสนุนการจัดกิจกรรมเครือข่ายระดับพื้นที่ร่วมกับชุมชน
5.2 การสร้างความตระหนักรู้ (Awareness) ทำให้ประชาชนมีความรู้และทักษะในการดูแลสุขภาพจิตของตนเองและคนรอบข้าง ช่วยลดปัญหาด้านสุขภาพจิตตั้งแต่เริ่มต้น
ตัวอย่างโครงการที่จะขับเคลื่อนร่วมกับภาคเครือข่าย อาทิ
(1) แอปพลิเคชัน DMIND (Detection and Monitoring Intelligence Network for Depression) มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถประเมินสุขภาพจิตของตนเองเบื้องต้นได้ ผ่านระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่วิเคราะห์ใบหน้าและน้ำเสียง ซึ่งแบ่งระดับความเสี่ยงเป็น 4 ระดับและกำหนดแนวทางการช่วยเหลือเฉพาะรายได้อย่างเหมาะสม พร้อมระบบติดตามกลุ่มเสี่ยงรุนแรงภายใน 24 ชั่วโมง และเชื่อมต่อกับทีมปฏิบัติการช่วยชีวิต HOPE Task Force
(2) วัดใจ.com เป็น Web Application สำหรับประเมินสุขภาพจิตออนไลน์ที่พัฒนาขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถประเมินสุขภาพจิตของตนเองหรือผู้อื่นได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และ ทันสถานการณ์ โดยประเมินจาก 5 มิติ ได้แก่ ความเข้มแข็งทางใจ ความเครียด ภาวะหมดไฟ ซึมเศร้า และความเสี่ยงฆ่าตัวตาย พร้อมระบบแนะนำแนวทางการปฏิบัติตัวและช่องทางการขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญออนไลน์ทันที โดยมีผู้ใช้แล้วมากกว่า 6 ล้านคน
(3) สุขภาพจิต.com พัฒนาเป็นช่องทางกลางของประเทศในการให้ความรู้สุขภาพจิตที่ถูกต้อง เข้าใจง่าย และทันสมัย โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับการเผยแพร่ข้อมูลเครื่องมือ สื่อสร้างสรรค์และบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตสำหรับประชาชน
(4) อาสาสมัครสาธารณสุขสุขภาพจิต (อสม.) เป็นกลไกภาคประชาชนที่ผ่านการอบรมหลักสูตรปฐมพยาบาลทางใจและสามารถช่วยดูแลสุขภาพจิตในชุมชนอย่างใกล้ชิด โดยมีเป้าหมายอบรม
ไม่น้อยกว่า 15,000 คน ภายในปี 2568
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงศึกษาธิการ (วัยเรียน) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (วัยเรียน) กระทรวงแรงงาน (วัยทำงาน) กระทรวงมหาดไทย (ชุมชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (วัยสูงอายุ) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
บทบาท พัฒนาเครื่องมือสุขภาพจิต ประชาสัมพันธ์ข้อมูล และใช้งานเครื่องมือในองค์กร พร้อมสนับสนุนการประเมินผลสุขภาพจิตกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น บุคลากรทางการแพทย์ นักเรียน พนักงานบริษัท
สิ่งที่กรมสุขภาพจิตต้องการการสนับสนุน การเชิญชวนให้องค์กรเอกชนและรัฐใช้งานเครื่องมือเหล่านี้ในพื้นที่ของตน การให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยี วิชาการ และช่องทางสื่อสารกับประชาชน
5.3 การเข้าถึงบริการสุขภาพจิต (How to seek help) ช่วยให้ประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพจิตเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงการสูญเสียชีวิตหรือผลกระทบทางสังคมอื่น ๆ
ตัวอย่างโครงการที่จะขับเคลื่อนร่วมกับภาคเครือข่าย อาทิ
(1) School Health HERO เพื่อสร้างระบบเฝ้าระวังสุขภาพจิตในโรงเรียนอย่างเป็นระบบและครอบคลุมกลุ่มนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้ระบบออนไลน์เพื่อประเมินสุขภาพจิตและติดตามช่วยเหลือนักเรียนที่มีความเสี่ยงในด้านพฤติกรรม อารมณ์ และทักษะทางสังคม โดยมีนักเรียนเข้าระบบแล้วกว่า 1.3 ล้านคน
(2) ต่อเติมใจ เป็นเว็บแอปพลิเคชันสำหรับการดูแลสุขภาพจิตด้วยตนเองเพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลใจของตนเองได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตนพร้อมเส้นทางช่วยเหลือสำหรับกลุ่มเสี่ยงผ่านระบบผู้ช่วยออนไลน์ (E-Helper) และส่งต่อกรณีเสี่ยงสูง
(3) สายด่วนสุขภาพจิต 1323 เป็นบริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตฟรีตลอด 24 ชั่วโมงผ่าน 5 ช่องทาง ได้แก่ โทรศัพท์ เว็บไซต์ ระบบนัดออนไลน์ เพจ Facebook และ DMIND Application เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตได้สะดวกและทันต่อความต้องการ โดยเฉพาะในภาวะวิกฤต มีระบบ AI ช่วยประเมินความเร่งด่วน และเชื่อมต่อทีม HOPE TASK FORCE โดยมีปริมาณผู้ขอรับบริการรวมกว่า 2.7 ล้านสาย ในช่วงปี 2563 – 2567
(4) ศูนย์ให้การปรึกษาสุขภาพจิต ดำเนินการในโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ เพื่อให้การปรึกษาที่ครอบคลุมทุกสิทธิการรักษา ทั้งแบบ onsite และ online
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กรมประชาสัมพันธ์ องค์กรสื่อ องค์กรเอกชน และมหาวิทยาลัย
บทบาท ประชาสัมพันธ์แนวทางการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตแก่กลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ให้บริการสุขภาพจิตระดับปฐมภูมิ สนับสนุนเครื่องมือและแพลตฟอร์มเทคโนโลยีตลอดจนให้ทุนสนับสนุนและการเชื่อมโยงระบบการดูแลผู้ป่วย
สิ่งที่กรมสุขภาพจิตต้องการการสนับสนุน การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญโดยเฉพาะเยาวชน งบประมาณเพื่อขยายการจัดบริการด้านสุขภาพจิต การจัดสรรบุคลากรเพิ่มเติมและการเชื่อมโยงบริการสุขภาพจิตเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพทั่วไปในทุกพื้นที่
5.4 การสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Safe Space) สนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปสามารถพูดคุย ปรึกษา และได้รับความช่วยเหลือในสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร เปิดกว้าง และปลอดภัยมากขึ้น
ตัวอย่างโครงการที่จะขับเคลื่อนร่วมกับภาคเครือข่าย อาทิ
(1) Holistic Health Advisor พัฒนาเจ้าหน้าที่ในสถานประกอบการให้สามารถทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาสุขภาพแบบองค์รวม โดยครอบคลุมทั้งด้านกาย ใจ และการเงินเพื่อส่งเสริมสุขภาวะทางใจในสถานประกอบการอย่างยั่งยืน ผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน
(2) Thai Triple-P เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยทั้งด้านอารมณ์ สังคม และสติปัญญา ผ่านการสร้างวินัยเชิงบวกและพัฒนาทักษะความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) โดยเน้นการมีส่วนร่วมของครอบครัวและการสนับสนุนจากชุมชนในพื้นที่ห่างไกล โดยสนับสนุนการเลี้ยงดูที่สร้างเสริมความมั่นใจ การควบคุมตนเอง และความรับผิดชอบของเด็ก พร้อมทั้งขยายผลสู่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนในโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงศึกษาธิการ (วัยเรียน) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (วัยเรียน) กระทรวงแรงงาน (วัยทำงาน) กระทรวงมหาดไทย (ชุมชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (วัยสูงอายุ) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สถานประกอบการ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในโครงการพระราชดำริฯ ชุมชนและองค์กรท้องถิ่น
บทบาท สร้างระบบสนับสนุนทางใจเริ่มตั้งแต่ระดับครอบครัว องค์กรและสถานศึกษา ถ่ายทอดองค์ความรู้และพัฒนาแกนนำในพื้นที่
สิ่งที่กรมสุขภาพจิตต้องการการสนับสนุน การให้ความร่วมมือในการอบรม พ่อแม่ ครู เจ้าหน้าที่ในสถานประกอบการ รวมทั้งเพิ่มการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร เปิดกว้าง และปลอดภัยในระดับครอบครัว ชุมชน และสถานศึกษา
ประโยชน์ที่ได้รับ
1) การลดการตีตรา (Stigma) ซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงบริการและการเปิดเผยปัญหาสุขภาพจิตของประชาชน
2) การเพิ่มความตระหนักรู้ (Awareness) จะทำให้ประชาชนมีความรู้และทักษะในการดูแลสุขภาพจิตของตนเองและคนรอบข้างมากขึ้น ช่วยลดปัญหาด้านสุขภาพจิตตั้งแต่ระยะเริ่มต้นได้ดีขึ้น 3) การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการสุขภาพจิต (How to seek help) จะช่วยให้ประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพจิตสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
4) การสร้างสภาพแวดล้อมทั้งทางกายภาพและทางสังคมที่เอื้อต่อการพูดคุย ปรึกษา (Safe space) รับฟังปัญหาสุขภาพจิตอย่างไม่ถูกตัดสินหรือวิพากษ์วิจารณ์ ช่วยให้ผู้คนรู้สึกมั่นใจ ปลอดภัยและกล้าเปิดเผยปัญหาทางใจ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการฟื้นฟูและการป้องกันปัญหาสุขภาพจิตอย่างยั่งยืน
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม “เดือนแห่งสุขภาพใจ – Mind Month” ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากการประเมินผ่านระบบ Mental Health Check in ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 ถึงปัจจุบันพบว่า สถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทย มีภาวะเสี่ยงซึมเศร้า ความเครียดเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งรัฐบาลเห็นถึงความสำคัญ จึงต้องการสร้างความตระหนักให้กับประชาชน จึงประกาศให้เดือนพฤษภาคมเป็นเดือนแห่งสุขภาพใจ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพทางใจเป็นปัญหาที่สำคัญที่ถูกมองข้าม เพราะแม้มีร่างกายที่สมบูรณ์ แต่หากสุขภาพใจไม่แข็งแรง การทำเรื่องต่างๆ ให้สำเร็จย่อมเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะการเปิดใจรับฟัง โดยไม่รีบตัดสิน เป็นสิ่งสำคัญ และถือเป็นการเสริมความเข้าใจและสร้างความเข็มแข็งทางใจให้กับผู้มีความเสี่ยง การส่งเสริมภูมิคุ้มกันทางจิตใจให้กับเด็กตั้งแต่ช่วงปฐมวัย จะช่วยสร้างความเข้าใจทางอารมณ์ให้กับเด็กและเป็นเกราะป้องกันสร้างความเข้มแข็งให้เด็กต่อไปในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องการเห็นและให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ขอใช้โอกาสนี้ แสดงพลังและความตั้งใจร่วมกันในการสร้างสังคมที่เห็นความสำคัญของสุขภาพใจอย่างแท้จริง เนื่องจาก“จะไม่มีสุขภาพที่สมบูรณ์ได้ หากปราศจากสุขภาพจิตที่ดี” โดยรัฐบาลต้องการสร้างความตระหนักให้กับประชาชนว่า สุขภาพจิตไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ จึงได้กำหนดให้สุขภาพจิตเป็น“วาระสำคัญระดับชาติ”
โดยรัฐบาลจะเดินหน้าเสริมสร้างระบบดูแลสุขภาพจิตที่เข้มแข็ง ตั้งแต่ระดับชุมชน โรงเรียน สถานที่ทำงาน ไปจนถึงระบบสาธารณสุข โดยเน้นทั้งการส่งเสริม ป้องกัน ดูแลรักษาและฟื้นฟู ซึ่งจะเห็นได้จาก
6 นโยบายสำคัญด้านสุขภาพจิตที่จะเริ่มต้นในเดือนพฤษภาคม 2568 และในปีนี้จะครอบคลุมคนไทยในทุกช่วงวัยมากกว่า 13.5 ล้านคน โดยเฉพาะนโยบายสำคัญอย่างการจัดตั้ง “ศูนย์ให้การปรึกษาสุขภาพจิต (Mental health counseling center)” จำนวน 37 แห่งภายในเดือนพฤษภาคม และขยายเป็น 340 แห่งภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้พี่น้องประชาชนกว่า 1 ล้านคน ได้รับการปรึกษาและดูแลก่อนที่จะเจ็บป่วยทางใจ
นอกจากนี้ จะมีการจัดกิจกรรมและโครงการต่างๆ อีกกว่า 50 กิจกรรม ที่จะเริ่มต้นในเดือนแห่งสุขภาพใจนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐบาลในการทำให้คนไทยมีสุขภาพจิตที่ดีอย่างถ้วนหน้า กระตุ้นสังคมไทยให้หันมาใส่ใจพูดคุยเรื่องสุขภาพจิตอย่างเปิดเผย และมีความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตมากขึ้น เพราะ “สุขภาพจิตดี” ไม่ใช่เพียงหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แต่คือภารกิจของทุกคน ในฐานะสมาชิกของครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า จุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดของจิตใจที่เข้มแข็ง คือ “ครอบครัว” ครอบครัวที่เปิดใจรับฟัง ให้พื้นที่ปลอดภัยทางอารมณ์ สนับสนุนกันและกันในวันที่อ่อนล้า คือรากฐานสำคัญที่ช่วยหล่อหลอม
คนไทยให้เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ และมีภูมิคุ้มกันทางใจที่แข็งแรงเชิญชวนให้พี่น้องประชาชน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นการใส่ใจคนรอบข้าง รับฟังอย่างเข้าใจ หรือแม้แต่การเริ่มดูแลใจตัวเองอย่างสม่ำเสมอ และขอให้เดือนแห่งสุขภาพใจนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของสังคมไทยที่ “เข้าใจ เห็นคุณค่า และพร้อมเดินไปด้วยกันอย่างมีความสุข”