นายกฯ สั่ง พณ. เป็นหน่วยงานหลักรับมือผลกระทบมาตรการการค้าสหรัฐฯ  

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 4/2568 โดยมีหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า จำนวน 42 คน เข้าร่วมประชุม ที่กระทรวงพาณิชย์

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทยในช่วงปี 2567-2568 ว่า มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเดือนมีนาคม 2568 ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 29,548 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นระดับสูงสุดในประวัติการณ์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 17.8 และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9

สำหรับภาพรวมปี 2567 การส่งออกมีมูลค่า 300,529 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 5.4 จากปีก่อนหน้า ขณะที่ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 (มกราคม–มีนาคม) การส่งออกมีมูลค่า 81,532 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 15.2 ส่งผลให้ไตรมาสแรกของปีเกินดุลการค้า 1,081 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2,705 ล้านบาท นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังได้เตรียมแนวทางรับมือกับความท้าทายของบริบทโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์กร เพื่อสามารถให้บริการประชาชนในรูปแบบดิจิทัลอย่างครบวงจร รวมทั้งผลกระทบจากนโยบายการค้าของประเทศมหาอำนาจที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

ในด้านความท้าทายระหว่างประเทศได้เตรียมความพร้อมในการรับมือกับนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา โดยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เริ่มเข้ารับตำแหน่ง โดยนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2568 เพื่อดำเนินงานเชิงรุกในการติดตามสถานการณ์ วิเคราะห์ผลกระทบ และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในรูปแบบองค์รวม (Holistic Approach) ซึ่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้จัดคณะผู้แทนไทยเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกา เพื่อหารือกับทั้งภาครัฐและเอกชนของสหรัฐฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน รวมถึงรับฟังปัญหาและข้อกังวลของภาคเอกชน ตลอดจนชี้แจงจุดยืนของไทยอย่างเป็นทางการและยังได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งมีการประชุมหารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 ฝ่าย (กกร.) เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและวางท่าทีร่วมกันในการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องและในการประชุมครั้งนี้ได้ขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเร่งพิจารณาแนวทางการแก้ไขอุปสรรคทางการค้าร่วมกัน รวมถึงส่งเสริมการนำเข้าสินค้าจำเป็นและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยขยายการลงทุนในสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น
เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวต่อไป

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนากลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้า ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะการนำระบบดิจิทัลมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน มีแผนเปิดตัว “Super App” ซึ่งจะรวบรวมบริการของกระทรวงพาณิชย์ทั้งหมดไว้ในแอปพลิเคชันเดียว เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ช่วยลดขั้นตอนและเวลาในการติดต่อกับภาครัฐ ถือเป็นการยกระดับการให้บริการของภาครัฐไปอีกขั้น รวมถึงเปิดตัวแอปพลิเคชัน “MOC Go” ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ โดยบูรณาการข้อมูลจากหลายหน่วยงาน เพื่อให้สามารถติดตามสถานะของผู้ประกอบการที่เข้ามาใช้บริการได้แบบเรียลไทม์ อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อจับคู่ทางการค้าระหว่างผู้ประกอบการไทยกับตลาดต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว ผ่านระบบ Generative AI ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก ตอบคำถามเชิงกลยุทธ์ และช่วยในการตัดสินใจได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ

โดยนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวมอบนโยบายในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ว่า การประชุมหัวหน้าส่วนราชการครั้งที่ผ่านมา ได้รับฟังข้อเสนอแนะที่มีประโยชน์นำไปติดตามงานได้หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวแบบ Man – made destination การขยายผลการใช้ Traffy Fondue* ทั่วประเทศ เพื่อใช้เป็นช่องทางร้องเรียนหลักของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ทุกกระทรวงไปขยายผล
ในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้แต่ละกระทรวงที่ได้รับเรื่องร้องเรียนนำไปแก้ปัญหา โดยรัฐบาลจะเป็นศูนย์กลางในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในช่องทางออนไลน์และทุกช่องทาง (Traffy Fondue* แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหา/แสดงข้อมูลรายละเอียดของปัญหา ให้เจ้าหน้าที่แก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว)

สำหรับการเร่งรัดการดำเนินงานการใช้งบประมาณรายจ่ายด้านการลงทุน ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ได้รายงานตัวเลข เมื่อเดือนเมษายน 2568 ยังพบว่างบลงทุนภาครัฐในปีนี้ เบิกจ่ายไปในระบบกว่า 500,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 34 ของงบลงทุนทั้งหมด ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น แต่ยังต่ำกว่าเป้าหมาย นายกรัฐมนตรี ขอให้ทุกหน่วยงานจริงจัง และเร่งรัดในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณและเงินกันไว้          เบิกเหลื่อมปีที่สามารถชะลอ หรือยกเลิกรายการที่ล่าช้าไปแก้ปัญหาผลกระทบจากแผ่นดินไหวแทน

นอกจากนี้ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้หารือกับปลัดกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงมาตรการแก้ปัญหาการสวมสิทธิ์ของสินค้าในไทย และการแก้ปัญหาสินค้า และธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมายในไทยแล้ว นายกรัฐมนตรี ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งปรับปรุงช่องโหว่ทางกฎหมายที่เอื้อต่อการสวมสิทธิ์และการประกอบธุรกิจลักษณะนอมินี เข้มงวดการตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพสินค้า การตรวจสอบโรงงาน และบริษัทที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายนอมินี การจ้างงานแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย รวมทั้งทบทวนเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนให้มีการจ้างแรงงานไทย และการใช้ปัจจัยการผลิตในประเทศรวมถึงการพัฒนาการออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin) ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเชื่อมโยงกับนโยบาย One Stop Service
ที่จะร่วมมือกับหลายๆ หน่วยงานเพื่อให้การบริการแก่ประชาชนมีความสะดวก รวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น

อีกหนึ่งบทบาทหลักของกระทรวงพาณิชย์คือ การเร่งส่งเสริมสินค้าเกษตรไทย ซึ่งปัจจุบันมีราคาที่ต่ำกว่าปีที่ผ่านๆ มา และผลไม้ไทยล้นตลาด ขอให้มีความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร รวมไปถึงการสนับสนุนโครงการ Thai select ที่จะทำให้สินค้าไทยที่มีคุณภาพ ได้รับการรับรองมาตรฐาน และส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านอาหารไทยในต่างประเทศ หากมีการจัดหาวัตถุดิบจากเกษตรกรไทยที่มีคุณภาพ จะทำให้เกษตรกรของไทยมีรายได้ที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น

นายกรัฐมนตรี ขอให้กระทรวงพาณิชย์ หามาตรการในการพยุงราคาสินค้าเกษตรไทยให้มีเสถียรภาพ ปราศจากพ่อค้าคนกลาง มีการร่วมตรวจสอบสินค้าอย่างเข้มงวดเพื่อให้ได้มาตรฐาน หาความร่วมมือกับภาคเอกชนในการรับซื้อสินค้าเกษตรที่ล้นตลาด หรือราคาตกต่ำ ส่วนมาตรการระยะยาว จะต้องเร่งสร้างความมั่นใจในคุณภาพสินค้าไทยและหาตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ จึงขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ทุกคนหากมีข้อเสนอแนะในเรื่องนี้สามารถเสนอได้ทันที เพราะเป็นปัญหาที่สำคัญที่จะต้องเร่งแก้ไข ตนเองพร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอแนะเชิงรุก

สำหรับประเด็นระหว่างประเทศ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในฐานะที่กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการค้าและการลงทุน ต้องเป็นหน่วยงานหลักในการรับมือกับผลกระทบของมาตรการการค้าสหรัฐฯ ที่ต้องทำควบคู่ไปกับการเตรียมพร้อมเจรจา ไม่ว่าจะเป็นการหาคู่ค้าหรือตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ เพื่อลดการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งที่มากเกินไป การใช้ประโยชน์จาก FTA ที่ไทยมีอยู่กับประเทศต่างๆ ขณะเดียวกัน
ก็ยังต้องให้ความสำคัญกับตลาดภายในประเทศ เพื่อลดความผันผวนไม่แน่นอนจากสถานการณ์ภายนอกและส่งเสริมผู้ประกอบการในการยกระดับและพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง