นายอังกูร ศีลาเทวากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เป็นประธานการประชุมค้นหาลายผ้าอัตลักษณ์ประจำถิ่นระดับจังหวัด ตามโครงการการสืบสานอนุรักษ์งานศิลป์ ผ้าประจำถิ่นและงานหัตถกรรมจังหวัดกระบี่ โดยมีคณะกรรมการและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ได้แก่ นางศรินทิพย์ ศีลาเทวากูล นายกเหล่ากาชาดจังหวัดกระบี่ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงาน พัฒนาการจังหวัด และอาจารย์ปรวรรธน์ สวัสดีปิติ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น ณ ห้องประชุมปลายพระยา ศาลากลางจังหวัดกระบี่
โดยที่ประชุมได้รับทราบการคัดเลือกลายผ้าอัตลักษณ์ประจำอำเภอ ทั้ง 8 อำเภอของจังหวัดกระบี่ ประกอบด้วย ลาย “บันทายธารา” ลายอัตลักษณ์ประจำอำเภอเมืองกระบี่ ลาย “ภูมิสมุทรนาวา” ลายอัตลักษณ์ประจำอำเภอเหนือคลอง ลาย “รักอ่าวลึก” ลายอัตลักษณ์ประจำอำเภออ่าวลึก ลาย “คีรีมันตรา” ลายอัตลักษณ์ประจำอำเภอปลายพระยา ลาย “เบญจาภูษาสวรรค์” ลายอัตลักษณ์ประจำอำเภอเขาพนม ลาย “กะรังลันตา” ลายอัตลักษณ์ประจำอำเภอเกาะลันตา ลาย “สุริยะสาคร” ลายอัตลักษณ์ประจำอำเภอคลองท่อม และลาย “เศวตพาหน” ลายอัตลักษณ์ประจำอำเภอลำทับ
อีกทั้งที่ประชุมยังได้พิจารณาให้ความเห็นชอบลายผ้า “วสุธาปกาสัย” เป็นลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดกระบี่ด้วย เพื่อส่งเสริมการใช้และการสวมใส่ ผ้าไทยให้สนุก นำไปสู่การเป็น Krabi Soft Power
ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า จังหวัดกระบี่ได้อนุมัติให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดกระบี่ ดำเนินโครงการ “การสืบสาน อนุรักษ์งานศิลป์ ผ้าประจำถิ่นและงานหัตถกรรมจังหวัดกระบี่ เพื่อส่งเสริมและสืบสานอนุรักษ์งานศิลป์ ผ้าประจำถิ่นและงานหัตถกรรมจังหวัดกระบี่ ให้ได้รับการพัฒนายกระดับให้มีคุณภาพมาตรฐาน เพิ่มช่องทางด้านการตลาดและเพิ่มรายได้ให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย นักออกแบบและช่างตัดเย็บชุดผ้าไทย เพื่อประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการใช้และการสวมใส่ผ้าไทยให้สนุก ผ้าประจำถิ่น และงานหัตถกรรมจังหวัดกระบี่ นำไปสู่การเป็น Krabi Soft Power ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายต่อไป พร้อมทั้งจะได้จัดให้มีการประกวดออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้าและงานหัตถกรรมจากลายผ้าอัตลักษณ์ประจำถิ่นจังหวัดกระบี่ และจัดงานเทศกาลสืบสานอนุรักษ์งานศิลป์ ผ้าประจำถิ่นและงานหัตถกรรมจังหวัดกระบี่ ตามลำดับต่อไป
ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวด้วยว่า ลายผ้า “วสุธาปกาสัย” ลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดกระบี่ ผู้ออกแบบได้รับแรงบันดาลใจมาจากการนำเอาดาบคู่ สัญลักษณ์ของจังหวัดกระบี่ เป็นลวดลายหลัก มาร้อยเรียงกับลวดลายเกรียวคลื่น สายน้ำ ปะการัง ปาล์มน้ำมัน กาแฟ GI แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมของจังหวัดกระบี่ เช่นเดียวกับลายผ้าอัตลักษณ์ประจำอำเภอทั้ง 8 อำเภอ ได้นำศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตและความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ ของแต่ละอำเภอมาร้อยเรียงกัน ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาจากผู้ที่เกี่ยวข้องของแต่ละอำเภอแล้ว หลังจากนี้จะได้มีการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการใช้และการสวมใส่ผ้าประจำถิ่นประจำอำเภอ ผ้าประจำถิ่นประจำจังหวัดกระบี่ต่อไป