นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวคำปราศรัยเนื่องใน “วันเกษตรกร ประจำปี พ.ศ. 2568” โดยนายกรัฐมนตรีส่งความระลึกถึงและความปรารถนาดีให้กับเกษตรกรไทยในวันเกษตรกร 8 พฤษภาคม 2568 ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรกรรมของประเทศให้มีความก้าวหน้าตลอดมา ทั้งภาคการเกษตรของประเทศไทย ภาคการผลิตที่มีความสำคัญและเชื่อมโยงกับการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
รัฐบาลมุ่งเน้นนโยบายด้านการเกษตรในการยกระดับการทำเกษตรดั้งเดิม ให้เป็นเกษตรทันสมัย ด้วยแนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เพื่อให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งและเสริมสร้างศักยภาพของเกษตรกรไทย โดยนำเทคโนโลยีด้านการเกษตรมาใช้พัฒนาอาชีพด้านการเกษตร การประมง ปศุสัตว์ และอาชีพที่เกี่ยวข้อง รวมถึงดึงจุดเด่นของผลิตผลภาคเกษตรกรรมของประเทศไทยผ่านนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ที่แสดงถึงความมั่นคงทางอาหาร หรือ Food Security ของประเทศไทย และยกระดับให้ภาคการเกษตรไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการเกษตรของโลก หรือ Agricultural Hub
จากการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 4/2568 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2568 นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำให้กระทรวงพาณิชย์เร่งส่งเสริมสินค้าเกษตรไทย ซึ่งปัจจุบันมีราคาต่ำกว่าปีที่ผ่านๆ มา และมีสินค้าล้นตลาด และขอให้มีความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร รวมไปถึงการสนับสนุนโครงการ Thai select ที่จะทำให้สินค้าไทยที่มีคุณภาพ ได้รับการรับรองมาตรฐาน และส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านอาหารไทยในต่างประเทศ หากมีการจัดหาวัตถุดิบจากเกษตรกรไทยที่มีคุณภาพ จะทำให้เกษตรกรไทยมีรายได้ที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังขอให้กระทรวงพาณิชย์ หามาตรการในการพยุงราคาสินค้าเกษตรไทยให้มีเสถียรภาพ มีการร่วมตรวจสอบสินค้าอย่างเข้มงวดเพื่อให้ได้มาตรฐาน หาความร่วมมือกับภาคเอกชนในการรับซื้อสินค้าเกษตรที่ล้นตลาด หรือราคาต่ำ ส่วนมาตรการระยะยาว จะต้องเร่งสร้างความมั่นใจในคุณภาพของสินค้าเกษตรไทย และหาตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ส่งเสริมสินค้าเกษตรไทย โดยเฉพาะผลไม้ไทยที่ปีนี้จะมีผลผลิตออกมาจำนวนมาก จึงขอให้หน่วยงานราชการทุกกระทรวงช่วยซื้อสินค้าเกษตร เพื่อแก้ปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาดว่า ต้องขอบคุณนายกรัฐมนตรีแทนชาวสวนผลไม้ทั้งประเทศ ในการให้ความสำคัญกับปัญหาของเกษตรกรเป็นอย่างมาก ซึ่งนายกรัฐมนตรีไม่ได้ต้องการระบายสินค้าเกษตรเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการให้มีมาตรการพยุงราคาสินค้าให้มีเสถียรภาพ โดยไม่อยากให้มีพ่อค้าคนกลางกดราคาสินค้าเกษตร ซึ่งนายกรัฐมนตรีพร้อมสนับสนุนหากจะมีการดึงภาคเอกชนมาให้ความร่วมมือในด้านต่างๆ ทั้งนี้ คาดการณ์ผลไม้ไทยในปีนี้จะมีผลผลิตออกมามาก จึงขอฝากทุกกระทรวงและหน่วยงานราชการ พิจารณาสนับสนุนการบริโภคผลไม้ไทยในประเทศในภารกิจต่างๆ เช่น ในการจัดประชุมของหน่วยงาน โดยองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ยินดีเป็นคนกลางในการจัดหาสินค้าจากเกษตรกรส่งต่อให้หน่วยงานราชการต่อไป
สำหรับสถานการณ์ผลผลิตผลไม้ภาคตะวันออก ปี 2568 ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ของ 3 จังหวัด ภาคตะวันออก (ระยอง จันทบุรี ตราด) ปี 2568 มีปริมาณผลผลิตรวม 1,298,482 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่มีจำนวน 999,211 ตัน (เพิ่มขึ้น 299,271 ตัน คิดเป็นร้อยละ 29.95) ผลไม้ทั้ง 4 ชนิด เริ่มทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนตุลาคม 2568 โดยจะออกกระจุกตัวสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2568 คิดเป็นร้อยละ 40.87 ของผลผลิตทั้งหมด
สถานการณ์ผลผลิตผลไม้ภาคใต้ ปี 2568 ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และ ลองกอง ของ 14 จังหวัดภาคใต้ ปี 2568 มีปริมาณผลผลิตรวม 923,250 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่มีจำนวน 712,406 ตัน (เพิ่มขึ้น 210,844 ตัน หรือร้อยละ 29.60) ผลไม้ทั้ง 4 ชนิด เริ่มทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนธันวาคม 2568 โดยจะออกกระจุกตัวสูงสุดในเดือนสิงหาคม 2568 มีปริมาณ 250,382 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 27.12 ของผลผลิตทั้งหมด
ส่วนการเตรียมพร้อมในการส่งออกทุเรียนช่วงฤดูการผลิต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) ในการหารือมาตรการต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหาการส่งออกทุเรียนอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องการขึ้นทะเบียนห้อง Lab เพิ่ม และการขอทบทวนห้อง Lab รวมทั้งการจัดเตรียมอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ในการสนับสนุนในการส่งออก เนื่องจากในช่วงนี้ทุเรียนของไทยเข้าสู่ฤดูกาลผลิตสูงและมีความต้องการที่จะส่งออกไปยังประเทศจีนให้ทันเวลา จึงได้ประสานกับศุลกากรจีน ให้กำชับด่านที่เกี่ยวข้อง โดยจะใช้วิธีการทำงานพิเศษตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน และตลอดทั้งสัปดาห์ รวมทั้งเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ตรวจสอบเพิ่มเติม ซึ่งจีนจะทำงานร่วมกับไทยเพื่อสำรวจมาตรการอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น การจำแนกประเภทและการดำเนินการในพิธีการศุลกากรโดยเร่งด่วน เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งออกทุเรียนของไทยไปยังจีน โดยเชื่อว่าการทำงานอย่างใกล้ชิดของทั้งสองฝ่ายจะทำให้การส่งออกทุเรียนไทยในปีนี้เป็นไปอย่างราบรื่น
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์เร่งขับเคลื่อนนโยบายตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่ได้กำชับให้ส่งเสริมและผลักดันสินค้าเกษตรไทย เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าล้นตลาด และเพื่อให้เกษตรกรขายได้ราคาสูงสุด พร้อมทั้งหาความร่วมมือกับภาคเอกชนในการรับซื้อสินค้าเกษตรที่ล้นตลาด หรือราคาตกต่ำ และการหาคู่ค้าหรือตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ และดำเนินการ 7 มาตรการหลักในการบริหารจัดการผลไม้ปี 2568 ประกอบด้วย
1. มาตรการสร้างความเชื่อมั่นผลผลิต โดยเร่งตรวจรับรองมาตรฐาน GAP ตั้งศูนย์ “Set Zero” เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพผลไม้ไทย พร้อมตั้ง War room ผลักดันการส่งออก และตั้งชุดเฉพาะกิจเจรจากับจีน
2. มาตรการส่งเสริมตลาดในประเทศ เชื่อมโยงตลาดล่วงหน้า และกระจายสินค้านอกแหล่งผลิต สนับสนุนค่าบริหารจัดการผลไม้ รณรงค์บริโภคผลไม้ไทย และส่งเสริม GI (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) โหลดผลไม้ขึ้นเครื่องฟรี 20 กิโลกรัม และจัด “บุฟเฟ่ต์ทุเรียน” เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว
3. มาตรการส่งเสริม การแปรรูปและปรับพื้นที่เกษตรให้เหมาะสม โดยเฉพาะผลไม้ที่อยู่ในช่วงกระจุกตัวสูง และมีการสนับสนุนการปลูกพืชสวนแทนพืชไร่
4. มาตรการส่งเสริมตลาดต่างประเทศ จัดมหกรรมค้าชายแดนและจับคู่ธุรกิจ ส่งเสริมการขายในต่างประเทศและร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ
5. มาตรการยกระดับสินค้าผลไม้ไทย ทำประชาสัมพันธ์เชิงรุก และใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เจรจาผ่อนปรนมาตรการทางการค้ากับประเทศคู่ค้า
6. มาตรการแก้ไขอุปสรรคและอำนวยความสะดวกการค้า ผ่อนปรนการเคลื่อนย้ายแรงงาน และสนับสนุนการคัดแยก-ขนย้าย
7. มาตรการกฎหมาย กำหนดให้แสดงราคารับซื้อ ณ จุดรับซื้อทุกวัน เวลา 08.00 น. เข้มงวดการป้องกันและปราบปรามการฉวยโอกาสทางการค้า เพื่อระบายผลไม้ 950,000 ตัน ไปยังตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ควบคู่กับการรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคผลไม้ภายในประเทศอย่างเข้มข้น ได้กำชับไปยังกรมการค้าภายในให้ดำเนินมาตรการเชิงรุก จัดกิจกรรมรณรงค์บริโภคผลไม้ร่วมกับห้างค้าปลีกชั้นนำตั้งแต่ช่วงต้นฤดูกาล อาทิ ศูนย์การค้าสยามพารากอน เซ็นทรัล เดอะมอลล์ ห้างในเครือซีพีแอ็กซ์ตร้า เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้เกษตรกรโดยตรง
ในส่วนการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี FTA (Free Trade Agreement) ได้เร่งเดินหน้าโครงการเจรจา FTA กับสหภาพยุโรป เกาหลีใต้ และอาเซียน-แคนาดา โดยตั้งเป้าสรุปให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ ซึ่งจะทำให้ไทยมีความตกลงทางการค้ากับกว่า 50 ประเทศทั่วโลก และเสริมแต้มต่อให้ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยขยายตลาดใหม่ๆ ได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์ยังเดินหน้าป้องกันการสวมสิทธิ์สินค้าไทยส่งออกรวมถึงผลไม้ไทยด้วย