ข้อความประชาสัมพันธ์เชิญรับชมงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2568
ขอเชิญรับชมและรับฟังการถ่ายทอดสด พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2568 ในวันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม 2568 เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป ผ่านช่องทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ
แห่งประเทศไทย สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย สื่อโซเชียลมีเดีย
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีมาแต่โบราณตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งในสมัยกรุงสุโขทัยนั้นพระมหากษัตริย์ไม่ได้ลงมือไถนาเอง เป็นแต่เพียงเสด็จไปเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีเท่านั้น ครั้นถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ไม่ได้เสด็จไปเป็นองค์ประธานเหมือนกับสมัยกรุงสุโขทัย และจะทรงจำศีลเงียบ 3 วัน แต่จะมอบอาญาสิทธิ์ให้ เจ้าพระยาจันทกุมาร เป็นผู้แทนพระองค์ โดยทรงทำเหมือนอย่างออกอำนาจจากกษัตริย์ ซึ่งวิธีนี้ได้ใช้ตลอดมาถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการประกอบพระราชพิธีนี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 แต่ผู้ทำการแรกนาเปลี่ยนเป็นเจ้าพระยาพลเทพ คู่กันกับการยืนชิงช้า แต่พอถึงรัชกาลที่ 3 ให้ถือว่าผู้ใดยืนชิงช้าผู้นั้นเป็นผู้แรกนา ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดมีพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่างๆ ทุกพิธี ดังนั้น พระราชพิธีพืชมงคล จึงได้เริ่มมีขึ้นแต่บัดนั้นมา โดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และมีชื่อเรียกรวมกันว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
ความมุ่งหมายของพิธีแรกนา อยู่ที่จะทำให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎรเพื่อชักนำให้มีความมั่นใจในการทำนา เพราะการเกษตรซึ่งมีการทำนาเป็นหลักนั้นเป็นสิ่งสำคัญแก่ชีวิตความเป็นอยู่ และการเศรษฐกิจของประเทศทุกสมัย พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพิธีการเพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญเกษตรกร กำหนดจัดขึ้นในเดือนหกของทุกปี ซึ่งระยะนี้เป็นระยะเหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนาอันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย แต่ไม่ได้กำหนดวันที่แน่นอนไว้เหมือนกับวันในพระราชพิธีอื่น ส่วนจะเป็นวันใดในเดือนหก หรือเดือนพฤษภาคมที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสมต้องตามประเพณีก็ให้จัดขึ้นในวันนั้น
การจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ได้กระทำเต็มรูปบูรพประเพณีครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2479 แล้วเว้นไปจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2503 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ฟื้นฟูพระราชประเพณีนี้
ขึ้นใหม่ และได้กระทำติดต่อกันมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน ด้วยเห็นว่าเป็นการรักษาพระราชประเพณีอันดีงาม มีผลในการบำรุงขวัญและจิตใจของคนไทย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
ทรงมีพระราชกระแสให้ปรับปรุงพิธีการบางอย่างให้เหมาะสมกับยุคสมัยและเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีนี้ทุกปี สืบมามิได้ขาด
เมื่อได้มีการฟื้นฟูพระราชประเพณีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นมา ในระยะแรกนั้น พระยาแรกนา ได้แก่ อธิบดีกรมการข้าวโดยตำแหน่ง สำหรับเทพีทั้งสี่พิจารณาคัดเลือกจากภริยาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปัจจุบันพระยาแรกนา ได้แก่ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยตำแหน่ง ส่วนผู้ที่ทำหน้าที่เป็นเทพีคู่หาบทอง และเทพีคู่หาบเงินนั้น พิจารณาคัดเลือกจากข้าราชการสตรี ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ยังไม่ได้ทำการสมรส มีตำแหน่งตั้งแต่ระดับปฏิบัติงาน หรือปฏิบัติการขึ้นไป และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แล้ว
อนึ่ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคล เป็นวันเกษตรกรประจำปี เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรพึงระลึกถึงความสำคัญของการเกษตรและร่วมมือกันประกอบพระราชพิธี
พืชมงคลเพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพของตน ทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศชาติ จึงมีการจัดงานวันเกษตรกร ควบคู่ไปกับงานพระราชพิธีพืชมงคลตลอดมา
- ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา ปี 2568
นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- เทพีคู่หาบทอง เทพีคู่หาบเงิน ประจำปี 2568
เทพีคู่หาบทอง
1. นางสาวธิรดา วงษ์กุดเลาะ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร
2. นางสาววราภรณ์ วิลัยมาตย์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง เจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงานกรมวิชาการเกษตร
เทพีคู่หาบเงิน
1. นางสาวฉันทิสา อารีเสวต ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง นายสัตวแพทย์ชำนาญการ สังกัดสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
2 นางสาวอภิชญา ฟูแสง ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง นักวิชาการตรวจสอบบัญชีปฏิบัติการ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์
- พระโคแรกนาขวัญ ประจำปีพุทธศักราช 2568
ปี 2568 กรมปศุสัตว์ได้ทำการคัดเลือกพระโค เพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จำนวน 2 คู่ คือ พระโคแรกนาขวัญ 1 คู่ ได้แก่ พระโคพอ พระโคเพียง พระโคสำรอง 1 คู่ ได้แก่ พระโคเพิ่ม พระโคพูล
พระโคแรกนาขวัญ
พระโคพอ มีความสูง 165 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 226 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 214 เซนติเมตร อายุ 13 ปี
พระโคเพียง มีความสูง 169 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 239 เซนติเมตร ความสมบูรณ์ รอบอก 210 เซนติเมตร อายุ 13 ปี
พระโคสำรอง
พระโคเพิ่ม มีความสูง 162 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 236 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 201 เซนติเมตร อายุ 15 ปี
พระโคพูล มีความสูง ๑๕๗ เซนติเมตร ความยาวลำตัว 242 เซนติเมตร ความสมบูรณ์ รอบอก 205 เซนติเมตร อายุ 15 ปี
- พันธุ์ข้าวในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี พ.ศ. 2568
ปี พ.ศ. 2568 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าว ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต นำพันธุ์ข้าวนาสวนพันธุ์หลัก 7 พันธุ์ จำนวนทั้งสิ้น 4,880 กิโลกรัม ประกอบด้วย
- ข้าวเจ้า 5 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 พันธุ์ กข79 พันธุ์ กข85 พันธุ์ กข99
(หอมคลองหลวง 72) และพันธุ์ กขจ1 (วังทอง 72) - ข้าวเหนียว 2 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ กข6 และพันธุ์ กข24 (สกลนคร 72) ซึ่งเป็น “พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน” ที่ได้จากการปลูกในบริเวณแปลงนาทดลองสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต และแปลงนาขยายผล
ในฤดูทำนาปี 2567 เพื่อนำมาใช้ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2568 และบรรจุซองแจกจ่ายพสกนิกรผู้สนใจและชาวนาทั่วประเทศ เพื่อเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลในการประกอบอาชีพการเกษตรตามประเพณีนิยม เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์สืบไป
รายละเอียดพันธุ์ข้าวที่นำไปใช้ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2568
ประเภท | พันธุ์ข้าว | จำนวน (กิโลกรัม) |
ข้าวเจ้า | ขาวดอกมะลิ 105 | 1,275 |
กข79 | 420 | |
กข85 | 500 | |
กข99 (หอมคลองหลวง 72) | 710 | |
กขจ1 (วังทอง 72) | 600 | |
ข้าวเหนียว | กข6 | 955 |
กข24 (สกลนคร 72) | 420 | |
รวม | 4,880 |
- การเสี่ยงทาย และคำพยากรณ์
การเสี่ยงทายผ้านุ่งแต่งกายพระยาแรกนา
“ผ้านุ่งแต่งกาย” คือ ผ้านุ่งซึ่งเป็นผ้าลาย มีด้วยกัน ๓ ผืน คือ สี่คืบ ห้าคืบ และหกคืบ วางเรียงบนโตกมีผ้าคลุมเพื่อให้พระยาแรกนาตั้งสัตยาธิษฐานหยิบ หากหยิบได้ผ้าผืนใด ให้นุ่งผืนนั้นทับผ้านุ่งผืนเดิม
อีกชั้นหนึ่งเพื่อเตรียมออกแรกนา โดยผ้านุ่งนี้ ถ้าหยิบได้ผืนใดก็จะมีคำทำนายไปตามนั้นคือ
หยิบได้ผ้า 4 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่ม อาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่
หยิบได้ผ้า 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์และผลาหารมังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี
หยิบได้ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอน จะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่
การเสี่ยงทายของกินเลี้ยงพระโค ๗ สิ่ง
“ของกิน 7 สิ่ง” ที่ตั้งเลี้ยงพระโคนั้น มี ข้าว ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำ และหญ้า ถ้าพระโคกินสิ่งใดก็จะมีคำทำนายไปตามนั้นคือ
พระโคกิน ข้าว หรือ ข้าวโพด | พยากรณ์ว่า | ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี |
พระโคกิน ถั่ว หรือ งา | พยากรณ์ว่า | ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี |
พระโคกิน น้ำ หรือ หญ้า | พยากรณ์ว่า | น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหารผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ |
พระโคกิน เหล้า | พยากรณ์ว่า | การคมนาคมจะสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง |
ที่มาข้อมูล : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
จัดทำโดย : กองส่งเสริมการประชาสัมพันธ์กิจการพิเศษ กรมประชาสัมพันธ์