พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานต้นพระศรีมหาโพธิ์ เพื่อเชิญไปปลูกเนื่องในวันวิสาขบูชา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานต้นพระศรีมหาโพธิ์ เพื่อเชิญไปปลูกในพื้นที่ 77 จังหวัด พร้อมกันทั่วประเทศ เนื่องในวันวิสาขบูชา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนาม พระศรีมหาโพธิ์ ที่จะทรงปลูกในวันวิสาขบูชา วันที่ 11 พฤษภาคม 2568 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานนามว่า “พระศรีมหาโพธิยาลงกรณ์” (พระ – สี – มะ – หา – โพ – ทิ – ยา – ลง – กอน) มีความหมายว่า พระศรีมหาโพธิ์ อันงดงามด้วยพระปัญญาตรัสรู้

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานต้นพระศรีมหาโพธิ์ เพื่อเชิญไปปลูกในพื้นที่ 77 จังหวัด พร้อมกันทั่วประเทศ และพระราชทานนามว่า “พระศรีมหาโพธิทศมราชบพิตร” (พระ – สี – มะ – หา – โพ – ทิ – ทด – สะ – มะ – ราด – ชะ – บอ – พิด) มีความหมายว่า “พระศรีมหาโพธิ์พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ทั้งนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานฤกษ์การปลูก “พระศรีมหาโพธิทศมราชบพิตร” ในวันวิสาขบูชา ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม 2568 เวลา 09.29 น. พร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ ณ สถานที่ที่จังหวัดพิจารณาตามความเหมาะสม ได้แก่ วัด ศาสนสถาน สวนสาธารณะ และสถานที่อื่นๆ รวมทั้งพระราชทานวีดิทัศน์ “ธรรมะนาวาวัง ธรรมะพระราชทาน เนื่องในวันวิสาขบูชา” เพื่อเผยแพร่ในพิธีดังกล่าวด้วย จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนทั่วทุกภูมิภาคทั่วประเทศเข้าร่วมในพิธี เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองโดยพร้อมเพรียงกัน

ความสำคัญในวันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา เป็นวันที่สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ซึ่งเกิดขึ้นในวันและเดือนเดียวกัน คือ ในวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือเดือนเวสาขะ พระจันทร์เสวยวิสาขฤกษ์เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ได้เกิดขึ้นเมื่อกว่า 2,500 ปีมาแล้ว ในห้วงระยะเวลาที่ต่างกันคือ

ครั้งแรก เมื่อพระพุทธเจ้าประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ โอรสพระเจ้าสุทโธทนะ และ พระนางสิริมหามายาแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ โดยประสูติที่ป่าลุมพินีวัน ณ เขตแดนรอยต่อระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ของฝ่ายพระราชบิดากับกรุงเทวทหะของฝ่ายพระราชมารดา

ครั้งที่สอง เกิดเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ออกผนวชได้ 6 ปี พระชนมายุ 35 พรรษา ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นอรหันตพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ริ่มฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ปัจจุบันคือ พุทธคยา ประเทศอินเดีย

ครั้งที่สาม เกิดเมื่อพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อพระชนมายุ 80 พรรษา ณ เมืองกุสินารา

เหตุการณ์สำคัญทั้ง 3 ประการนี้ เกิดขึ้นในวันและเดือนเดียวกัน ทางจันทรคติ ซึ่งนับวันขึ้นแรม ตามวิถีการโคจรของดวงจันทร์ เป็นหลักในการกำหนดวัน เดือนและปีซึ่งยังคงใช้กันมาอยู่จนถึงทุกวันนี้ ควบคู่กันไปกับการกำหนดวัน เดือน และปีทางสุริยคติ ซึ่งเป็นไปตามวิถีการโคจรของดวงอาทิตย์ นับเป็นเรื่องอัศจรรย์ซึ่งยังไม่เคยมีการประจวบกันเช่นนี้แก่ผู้หนึ่งผู้ใด และเหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ใดมาก่อนจนตราบเท่าปัจจุบันแต่ความอัศจรรย์ดังกล่าว ก็ยังไม่เทียบเท่ากับการอุบัติของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมาในโลก และได้ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาเพื่ออนุเคราะห์โลกให้เกิดประโยชน์สุขแก่มนุษยชาติและสัตว์โลกทั้งมวล วันวิสาขบูชาจึงนับว่าเป็นวันสำคัญสูงสุดในพระพุทธศาสนา เป็นวันที่ก่อให้เกิดพระพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้พระธรรมและนำมาสั่งสอนแก่สรรพสัตว์ และพระสงฆ์สาวกผู้สืบทอดพระศาสนาต่อมาจนถึงปัจจุบัน

ประวัติความเป็นมาของวันวิสาขบูชาในประเทศไทย

ปรากฏหลักฐานว่า วันวิสาขบูชา เริ่มต้นครั้งแรกในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี สันนิษฐานว่าได้รับแบบแผนมาจากลังกา เมื่อประมาณ พ.ศ. 420 พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา จากนั้นกษัตริย์ลังกาพระองค์อื่นๆ ก็ปฏิบัติประเพณีวิสาขบูชานี้สืบทอดต่อกันมา ส่วนการเผยแผ่เข้ามาในประเทศไทยนั้น น่าจะเป็นเพราะประเทศไทยในสมัยกรุงสุโขทัยมีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนากับประเทศลังกาอย่างใกล้ชิด เห็นได้จากมีพระสงฆ์จากลังกาหลายรูปเดินทางเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนา และนำการประกอบพิธีวิสาขบูชาเข้ามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย

สำหรับการปฏิบัติพิธีวิสาขบูชาในสมัยสุโขทัยนั้นได้มีการบันทึกไว้ในหนังสือนางนพมาศ สรุปได้ว่า เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัย จะช่วยกันประดับตกแต่งพระนครด้วยดอกไม้ พร้อมกับจุดประทีปโคมไฟให้ดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน เพื่อเป็นการบูชาพระรัตนตรัย ขณะที่พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ก็ทรงศีลและทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ครั้นตกเวลาเย็นเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และนางสนองพระโอษฐ์ ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ไปยังพระอารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน ส่วนชาวสุโขทัยจะรักษาศีล ฟังธรรม ถวายสลากภัต สังฆทาน อาหารบิณฑบาตแด่พระภิกษุ สามเณร บริจาคทานแก่คนยากจน ทำบุญไถ่ชีวิตสัตว์ เป็นต้น

หลังจากสมัยสุโขทัย ประเทศไทยได้รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์มากขึ้น ทำให้ในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการประกอบพิธีวิสาขบูชา จนกระทั่งมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2360) มีพระราชดำริที่จะให้ฟื้นฟูพิธีวิสาขบูชาขึ้นมาใหม่ โดยสมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ ถวายพระพรให้ทรงทำขึ้นเป็นครั้งแรก ในวันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ. 2360 และให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ เพื่อให้ประชาชนได้ทำบุญทำกุศลโดยทั่วหน้ากัน การรื้อฟื้นพิธีวิสาขบูชาขึ้นมาในครานี้จึงถือเป็นแบบอย่างถือปฏิบัติในการประกอบพิธีวันวิสาขบูชา ต่อเนื่องมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน

วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลของสหประชาชาติ

วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันสำคัญที่สุดทางพระพุทธศาสนา พุทธศาสนิกชนทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับวันวิสาขบูชานี้ และในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2542 องค์การสหประชาชาติได้ยอมรับญัตติที่ประชุม กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก โดยเรียกว่า Vesak Day ตามคำเรียกของชาวศรีลังกา ผู้ที่ยื่นเรื่องให้สหประชาชาติพิจารณา และได้กำหนดให้วันวิสาขบูชานี้ถือเป็นวันหยุดวันหนึ่งของสหประชาชาติอีกด้วย ทั้งนี้การที่สหประชาชาติได้กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลกนั้น ได้ให้เหตุผลไว้ว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวลมนุษย์ เปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนา เพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และทรงสั่งสอนทุกคนโดยใช้ปัญญาธิคุณ โดยไม่คิดค่าตอบแทน

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เข้าร่วมงานวันวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ 20 ณ มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาเวียดนาม นครโฮจิมินห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ภายใต้ หัวข้อ “ความสามัคคีและการโอบรับความหลากหลายเพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ : พุทธปัญญาเพื่อสันติภาพโลกและการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Unity and Inclusivity for Human Dignity: Buddhist Insights for World Peace and Sustainable Development) โดยมุ่งเน้นความสำคัญของวันวิสาขบูชาในฐานะวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาได้รับการยกย่องจากองค์การสหประชาชาติและบรรจุให้เป็นวันสำคัญของโลกตั้งแต่ปี 2542 โดยเวียดนามเป็นเจ้าภาพจัดงานวันวิสาขบูชาโลกมาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 และจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ นครโฮจิมินห์ ซึ่งมีผู้แทนจากกว่า 120 ประเทศและมีผู้เข้าร่วมกว่า 2,500 รูป/คน

นางสาวสุดาวรรณ ได้กล่าวสุนทรพจน์ แสดงความชื่นชมอย่างยิ่งต่อรัฐบาลและคณะสงฆ์เวียดนามในการเป็นเจ้าภาพจัดงานวันวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ 20 โดยเน้นย้ำว่าหัวข้อการจัดงานในปีนี้สะท้อนแก่นแท้ของคำสอน      อันเป็นนิรันดร์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในสภาวะที่โลกกำลังเผชิญความแตกแยกและความไม่เท่าเทียม การเดินตามมรรควิถีอันประเสริฐที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ ย้ำเตือนให้เราก้าวเดินด้วยความถ่อมตน เมตตากรุณา ความเข้าใจและสันติภาพ ทั้งนี้ พระพุทธศาสนาสอนความจริงสากลในเรื่องของความเชื่อมโยงกัน โดยทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่ใหญ่ขึ้นและการกระทำของเราย่อมส่งผลกระทบถึงกัน การยอมรับความจริงนี้เป็นแรงบันดาลใจให้เราส่งเสริมความสามัคคีและการยอมรับในความหลากหลายโดยตระหนักถึงศักดิ์ศรีที่มีอยู่โดยกำเนิดในทุกบุคคล

การเข้าร่วมงานวันวิสาขบูชาโลกในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความภาคภูมิใจของประเทศไทยในการส่งเสริมพระพุทธศาสนาและการให้ความสำคัญแก่พระพุทธศาสนาในระดับสากล ตลอดจนเป็นการสนับสนุนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในการเป็นเจ้าภาพจัดงานอันทรงเกียรติครั้งนี้ และเป็นโอกาสในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ อันดีระหว่างประเทศไทยและกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติในมิติศาสนาและวัฒนธรรม รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการสนับสนุนกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาในเวทีโลก

กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติในวันวิสาขบูชา ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 11 พฤษภาคม 2568 ได้แก่

1. ทำบุญตักบาตร ฟังธรรม รักษาศีลเจริญภาวนา

2. ปล่อยนก ปล่อยปลา เพื่อสร้างบุญสร้างกุศล

3. เวียนเทียนรอบอุโบสถในช่วงเย็น เพื่อรำลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

4. บำเพ็ญสาธารณประโยชน์มหาเถรสมาคมร่วมกับรัฐบาล โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนร่วมทำบุญตักบาตร ปฏิบัติธรรม และเวียนเทียน ถวายเป็นพุทธบูชาเนื่องในวันวิสาขบูชา โดยส่วนกลาง จัดขึ้น ณ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และวัดทุกวัดทั่วไทย และวัดไทยในต่างประเทศทั่วโลก ขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนทุกท่าน พร้อมใจปฏิบัติบูชา เพื่อเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาและแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระบรมศาสดา เนื่องในวันสำคัญของโลก เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง ครอบครัวและเพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของสังคม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง