นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานของรัฐบาลในรอบ 6 เดือน (12 ก.ย. 67 – 12 มี.ค. 68) ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ภายใต้คำแถลงนโนยายรัฐบาลของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมในการยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุมทุกมิติ
โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ดำเนินการยกระดับการพัฒนาศักยภาพเด็กปฐมวัย ขยายผลศูนย์เด็กเล็กใกล้บ้านให้มีมาตรฐาน (การพัฒนาเด็กปฐมวัยแบบ High Scope) ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินการทั่วประเทศ 462 แห่ง ทั้งนี้ มีเด็กที่ผ่านการประเมิน DSPM (Developmental Surveillance and Promotion Manual : คู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย) จำนวน 111 คน รวมทั้งยังมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในการดูแลผู้สูงอายุ ที่ดำเนินโครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน ให้ครอบคลุมทุกจังหวัด ซึ่งในปี 2568 มีการขยายผลพื้นที่ดำเนินการไปสู่ 76 จังหวัดทั่วประเทศสามารถเพิ่มผู้บริบาลฯ ได้ 311 คน ทำให้ปัจจุบันมีผู้บริบาลฯ 342 คน และสามารถดูแลผู้สูงอายุได้มากถึง 34,200 คน
นอกจากนี้ พม. ได้ดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ให้คนพิการก้าวข้ามความพิการ สร้างอาชีพ มีรายได้พึ่งตนเองได้ และร่วมรับผิดชอบสังคม ผ่านโครงการผู้นำคนพิการที่สร้างแรงบันดาลใจ “Top 10”
ที่มุ่งสื่อสารสังคมเพื่อการเปลี่ยนมุมมองต่อคนพิการจาก “ภาระ” เป็น “พลัง” และโครงการสร้างอาชีพเพิ่มรายได้สำหรับคนพิการ ด้วยการร่วมมือกับสถานศึกษาในการจัดหลักสูตรพัฒนาทักษะคนพิการ ซึ่งปัจจุบันมีคนพิการผ่านการอบรมและมีการจ้างงานแล้ว 296 คน และได้ปรับปรุงพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติมด้วย
อีกทั้ง ได้มีการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในพื้นที่ภาคใต้ 45,192 คน รวมถึงมีการจัดทำแผนบริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติและการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. …. เพื่อยกระดับการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในสถานการณ์ภัยพิบัติ
โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้รับข้อสั่งการและนโยบายของนายกรัฐมนตรี ในการดูแลช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ให้ก้าวข้ามคำว่าเปราะบาง มีงาน มีรายได้ สามารถอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งเป็นการส่งต่อโอกาส และความเท่าเทียมให้กับคนไทยทุกกลุ่มในสังคม
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า กระทรวง พม. มีภารกิจสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่เด็ก เยาวชน สตรี ครอบครัว ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาสในสังคม รวมถึงผู้มีรายได้น้อย โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวง พม. ได้ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญอย่างต่อเนื่อง อาทิ นโยบาย 5 x 5 ฝ่าวิกฤตประชากร, พันธกิจสำคัญ (Flagship Projects) 9 ด้าน ได้แก่ ยกระดับการพัฒนาศักยภาพเด็กปฐมวัย, ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในการดูแลผู้สูงอายุ, สร้างงาน สร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตคนเปราะบาง, พัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ, สร้างหุ้นส่วนทางสังคม สู่สวัสดิการที่ยั่งยืน, ขับเคลื่อนพันธกิจระหว่างประเทศที่สำคัญ, สื่อสารประชาสัมพันธ์ทางสังคมเชิงรุก, พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสังคม, พัฒนาระบบ พม. ดิจิทัล และฐานข้อมูล
สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี ของกระทรวง พม. ตามร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 นั้น เป็นจำนวนเงิน 28,150 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 พบว่า งบประมาณเพิ่มขึ้น 95 ล้านบาท โดยงบประมาณของหน่วยงานสังกัดกระทรวง พม. ที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดคือ กรมกิจการผู้สูงอายุ ที่เพิ่มขึ้นมาประมาณ 201 ล้านบาท ขณะที่งบประมาณของกรมกิจการเด็กและเยาวชนลดลงมากที่สุด คือลดลงไปประมาณ 421 ล้านบาท สะท้อนว่าปัจจุบันประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ มีประชากรผู้สูงอายุประมาณ 13 ล้านคน และเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ในขณะที่ ปัจจุบันอัตราการเกิดน้อยอยู่ที่ประมาณ 4 แสนคนต่อปี ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี ที่ประเทศไทยมีจำนวนเด็กเกิดไม่ถึง 5 แสนคนต่อปี และมีแนวโน้มลดน้อยลงอย่างต่อเนื่องทุกปี เชื่อว่าสภาพปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่รุมเร้า รวมถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาวิกฤตโครงสร้างประชากรของประเทศไทย
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 กระทรวง พม. จึงให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างครอบคลุม 5 มิติ ทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ สุขภาพ สภาพแวดล้อม และเทคโนโลยี ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบการดูแลผู้สูงอายุให้ครอบคลุมทั่วถึง เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิตให้กับผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ และกระทรวง พม. ยังคงขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กอย่างมีคุณภาพ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างเข้มแข็ง ด้วยการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้ได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้านทั้งการศึกษา สุขภาวะ และสวัสดิการทางสังคม มีพัฒนาการเหมาะสมตามช่วงวัย และสามารถเข้าถึงสวัสดิการทางสังคมได้อย่างเท่าเทียม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดตัวโครงการส่งเสริมและพัฒนาทักษะอาชีพคนพิการและผู้ดูแลคนพิการสู่ความยั่งยืน และมีพิธีบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน และเครือข่ายพัฒนาฝีมือแรงงาน จำนวน 12 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการจัดหางาน, หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย, สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย, สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย, สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย, สมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย, สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย), สมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย, และสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย
นายวราวุธ กล่าวว่า ถือเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือระหว่าง กระทรวง พม. กระทรวงแรงงาน และเครือข่ายพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่มุ่งมั่นประสานพลังกับทุกภาคส่วนเพื่อเปลี่ยนความท้าทายเป็นความหวัง โอกาส และความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคมของคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมตามนโยบายรัฐบาล ผ่านการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพและจัดสวัสดิการของรัฐ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ ซึ่งมีกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นกลไกลสำคัญในการสนับสนุนงบประมาณกว่า 21 ล้านบาท ให้กับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สำหรับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพทักษะอาชีพของคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ จำนวน 4,328 คน อย่างเป็นระบบและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพในสถานประกอบการและการประกอบอาชีพอิสระ ทำให้คนพิการและครอบครัว มีรายได้ สามารถพึ่งพาตนเองได้และดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีและเสมอภาคในสังคมแห่งโอกาส โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า สำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) เป็นโรงรับจำนำเพื่อสังคมของรัฐ สังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้มีรายได้น้อย และผู้ประสบปัญหาด้านการเงินเฉพาะหน้า ที่ขาดแคลนเงินเพื่อใช้จ่ายในการดำรงชีพ และการประกอบอาชีพ โดยรับจำนำทรัพย์สิน ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ ขณะนี้ ได้เปิดสถานธนานุเคราะห์บริการพี่น้องประชาชนแล้ว 47 สาขา 14 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ ระยอง ลำพูน สุราษฎร์ธานี อุดรธานี พิษณุโลก พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี และลพบุรี ออกมาตรการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครอง ในช่วงก่อนเปิดภาคการศึกษาใหม่ ได้จัดโปรโมชั่นพิเศษ ฟรีดอกเบี้ย 5 เดือนเต็ม รับเปิดเทอม ด้วยวงเงินจำนำไม่เกิน 1,000 บาท ตั้งแต่บัดนี้ – 31 พ.ค. 68 เพื่อบรรเทาภาระทางการเงินให้กับผู้ปกครองที่จำเป็นต้องเตรียมเงินไว้สำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ของบุตรหลาน และกลุ่มเปราะบาง ที่ต้องการแหล่งเงินทุนระยะสั้นโดยไม่ต้องกังวลเรื่องอัตราดอกเบี้ย สามารถนำทรัพย์สินมาจำนำ พร้อมบัตรประชาชนเพียงใบเดียวที่ สธค.ทุกสาขา สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-281-5888 หรือเพจเฟซบุ๊ก สธค.โรงรับจำนำของรัฐ