นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยสถานการณ์โรคโควิด-19 ประเทศไทยในรอบสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 4 – 8 พฤษภาคม 2568 ผู้ป่วย 7,013 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยพบอัตราป่วยสูงสุดในกลุ่มอายุ 0 – 4 ปี รองลงมากลุ่มอายุ 30 – 39 ปี และกลุ่มอายุ 20 – 29 ปี ตามลำดับ ส่วนผู้เสียชีวิตมีอายุ 60 ปีขึ้นไป สำหรับสถานการณ์โควิด 19 ของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 8 พฤษภาคม 2568 พบผู้ป่วยสะสม 41,197 ราย เสียชีวิตสะสม 15 ราย ทั้งนี้ จากข้อมูลการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา ประเทศไทยสามารถพบผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคมีความสัมพันธ์กับกิจกรรม หรือการรวมกลุ่มของคนเป็นจำนวนมาก รวมถึงปัจจัยด้านฤดูกาล โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนจะมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่ยังเป็นไปตามคาดการณ์ เนื่องจากโรคโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น สามารถพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี โดยคาดว่าจะพบผู้ป่วยมากขึ้นตั้งแต่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ต่อเนื่องจนถึงฤดูฝนนี้ อีกทั้งกำลังจะเข้าสู่ช่วงเปิดเทอม โอกาสที่จะพบการแพร่ระบาดมากขึ้นจึงเป็นไปได้
ขอเน้นย้ำให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 และโรคไข้หวัดใหญ่อย่างเคร่งครัด เมื่อเข้าไปในสถานที่เสี่ยง เช่น สถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก และเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดผู้มีอาการป่วยในระบบทางเดินหายใจ เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ซึ่งหากป่วยอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ และหากมีอาการสงสัยป่วย ควรตรวจหาเชื้อเบื้องต้นด้วย ATK เพื่อไม่เป็นการนำเชื้อกลับไปติดกลุ่มเสี่ยง
นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ โฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 ในขณะนี้ว่า ส่วนใหญ่จะพบการระบาดในพื้นที่หัวเมืองใหญ่ๆ โดยจังหวัดที่พบมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี ภูเก็ต นนทบุรี และระยอง การกลับมาระบาดครั้งนี้ถือเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งจากการพยากรณ์โรคของกรมควบคุมโรค ระบุว่าจะมีการระบาดในช่วงเดือนเมษายน พฤษภาคม แต่การระบาดจะไม่มากเท่ากับทุกปี สาเหตุการแพร่ระบาดเกิดจากการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การพบปะสังสรรค์ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา หลังสงกรานต์ของทุกปี ย้อนหลังไปประมาณปี 2566-2567 จะพบการระบาดในช่วงนี้อยู่แล้วและก็จะลดลงไป ปัจจัยที่ 2 คือสายพันธุ์ของไวรัสที่มีการเปลี่ยนสายพันธุ์พอดีในช่วงนี้จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมให้มีการระบาดเพิ่มขึ้น
จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ขณะนี้ยอมรับว่าเพิ่มขึ้นจริง เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม ก่อนสงกรานต์ แต่ถ้าเทียบจำนวนคนไข้สัปดาห์ต่อสัปดาห์กับปี 2567 ปีนี้จำนวนคนไข้ยังน้อยกว่า ส่วนจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน จะมีคนไข้ตั้งแต่เดือนมกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม ทำให้ในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีทั้งโรคโควิด-19 ที่เป็นโรคประจำถิ่น และไข้หวัดใหญ่ เพิ่มมากขึ้น โดยประชาชนยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ต้องดูแลตนเองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ เป็นผู้สูงอายุมีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด ถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ น้ำหนักตัวมาก กลุ่มนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงต้องระมัดระวังในการเข้าร่วมกิจกรรม ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ หรือหลีกเลี่ยงการเข้าไปยังพื้นที่เสี่ยง
การแยกอาการโควิด-19 กับไข้หวัดใหญ่ และโรคระบบทางเดินหายใจหลายโรค จะแยกยาก เนื่องจากอาการคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะคนที่มีอาการไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล จะเป็นอาการของกลุ่มไวรัสระบบทางเดินหายใจได้ทั้งหมด แต่คนที่เป็นไข้หวัดใหญ่จะมีอาการปวดเมื่อยตามตัวค่อนข้างมากร่วมด้วย อย่างไรก็ตามทั้งไข้หวัดใหญ่ และโควิด-19 มีวัคซีนป้องกัน แต่ละปีจะมีการประเมินว่าการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ในพื้นที่ต่างๆ จะต้องใช้วัคซีนชนิดใด ซึ่งขณะนี้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ของประเทศไทยใช้วัคซีนซีกโลกใต้ ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้รณรงค์ให้กลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ มากกว่า 65 ปี กลุ่มที่มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์ สามารถขอรับการฉีดวัคซีนได้ตลอดทั้งปี ส่วนวัคซีนโรคโควิด-19 เป็นวัคซีนทางเลือกที่มีค่าใช้จ่าย สามารถฉีดได้ปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวร่วมด้วย
สำหรับสถานศึกษาในช่วงเปิดเทอม ขอให้ครูคัดกรองเด็กในช่วงเช้าก่อนเข้าเรียน หากมีอาการป่วย มีไข้ มีอาการของโรคทางเดินหายใจ ควรให้สวมหน้ากากอนามัย และแจ้งผู้ปกครองให้รับตัวไปตรวจรักษา กรณีที่พบการป่วยเป็นกลุ่มก้อนให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทันที
จากกรณีที่มีการส่งต่อข้อมูลในสังคมออนไลน์ว่า กระทรวงสาธารณสุขเตือนการระบาดของโรคโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ครั้งนี้มีความร้ายแรงมาก ขอให้งดการเดินทางและกิจกรรมทุกประเภทที่ไม่จำเป็น นพ.วีรวัฒน์ ยืนยันว่า เป็นข่าวปลอม อย่าแชร์ เน้นย้ำว่าสามารถมีกิจกรรมการเข้าสังคมได้ ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงไม่จำเป็นก็หลีกเลี่ยง และสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการป่วย ไข้ ควรไปพบแพทย์
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีแพทย์ออกมาเตือนโควิดกลับมาระบาดหนักว่า สถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 – ปัจจุบัน มีผู้ป่วยสะสม 53,676 ราย เสียชีวิต 16 ราย โดยจังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จำนวน 16,723 ราย ซึ่งเริ่มมีการติดเชื้อสูงขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 15 และติดเชื้อสูงสุดในช่วงสัปดาห์ที่ 18 ระหว่างวันที่ 27 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2568 จำนวน 14,349 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตถึง 2 ราย ซึ่งมีการติดเชื้อมากที่สุดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 4,624 ราย รองลงมา จ.ชลบุรี 1,177 ราย จ.นนทบุรี 866 ราย และ จ.ระยอง 553 ราย แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ 19 ระหว่างวันที่ 4 พฤษภาคม – 10 พฤษภาคม 2568 ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเหลือ 12,543 ราย โดยจะเห็นได้ว่า แนวโน้มผู้ติดเชื้อรายใหม่เริ่มลดลงแล้ว
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา ประเทศไทยสามารถพบผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคมีความสัมพันธ์กับกิจกรรมหรือการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก รวมถึงปัจจัยด้านฤดูกาล โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนจะมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ซึ่งขอเน้นย้ำว่า โรคโควิด-19กลายเป็นโรคประจำถิ่น สามารถพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี จึงขอให้ประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนก เพราะโควิด-19 ปัจจุบันติดง่าย แต่อาการรุนแรงน้อย แต่ก็ขอเน้นย้ำให้ระมัดระวัง ปฏิบัติตามคำแนะนำด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า กรณีเกิดการเจ็บป่วยหรือสงสัยว่าเป็นโควิด-19 ควรปฏิบัติคือ
1. หากมีอาการสงสัยหรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ มีเสมหะ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ให้ตรวจหาเชื้อด้วย ATK ทันที
2. หากผลการตรวจเป็นบวก ให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา งดทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวและผู้อื่น แยกของใช้ส่วนตัว หากจำเป็นต้องออกจากที่พัก ขอให้เข้มงวดมาตรการเว้นระยะห่าง ล้างมือ และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
3. กรณีที่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น มีไข้ ไอ มีเสมหะ โดยที่อาการไม่รุนแรง แต่ไม่สามารถตรวจ ATK ให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่สาธารณะ หากจำเป็นจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
4. กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น มีไข้สูง หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา
5. งดหรือหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง 608 หากไม่สามารถหลีกเลี่ยง จะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา