นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะกรรมการอำนวยการโครงการทุนการศึกษาเพื่อขยายโอกาสและพัฒนาประเทศ (Outstanding Development Opportunity Scholarship : ODOS) หรือคณะกรรมการอำนวยการโครงการ ODOS เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบแนวทางการดำเนินโครงการทุนการศึกษาเพื่อขยายโอกาสและพัฒนาประเทศ (โครงการ ODOS) ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดทำข้อเสนอแนวทางการดำเนินโครงการฯ และคณะกรรมการอำนวยการโครงการ ODOS เห็นชอบแล้ว ซึ่งแนวทางการดำเนินโครงการฯ เป็นการให้ทุนการศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.ปลาย) หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ต่อเนื่องถึงระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และ หรือระดับปริญญาตรี ในประเทศและต่างประเทศ
สำหรับคุณสมบัตินักเรียนที่จะได้รับทุนดังกล่าว ต้องเป็นผู้มีผลการเรียนดี มีความประพฤติดี มีศักยภาพแต่ขาดแคลนโอกาส โดยเป้าหมายผู้ได้รับทุน จำนวน 4,800 คน (7,200 ทุน) และจะต้องศึกษาในสาขาที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ อาทิ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สาขาวิชา STEM) โดยโครงการ ODOS จะใช้งบประมาณราว 4,500 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2568 – 2576 โดยแบ่งทุนออกเป็น 3 ประเภท จำนวน 7,200 ทุน ประกอบด้วย
1. ทุนการศึกษาระดับ ม. ปลาย และ ปวช. ในประเทศเป็นทุนให้เปล่า 4,800 ทุน วงเงิน 990.14 ล้านบาท
2. ทุนการศึกษาระดับ ปวส. และ ระดับปริญญาตรี ในต่างประเทศ จำนวน 200 ทุน วงเงิน 2,609.31 ล้านบาท (ศึกษาต่อในสหรัฐอเมริกา 60 ทุน สหราชอาณาจักร 50 ทุน และออสเตรเลีย 90 ทุน เป็นทุนการศึกษาต่อเนื่องจากทุนประเภทที่ 1) ทั้งนี้ เมื่อสำเร็จการศึกษาจะต้องทำงานในประเทศไทย โดยเลือกปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน เน้นให้ปฏิบัติงานในภูมิภาคเป็นลำดับแรก
3. ทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี ในประเทศ (เป็นทุนการศึกษาต่อเนื่องจากทุนประเภทที่ 1) จำนวน 2,200 ทุน วงเงิน 1,000 ล้านบาท เมื่อสำเร็จการศึกษาจะต้องทำงานในประเทศไทย ทั้งในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนตามความประสงค์
ทั้งนี้การของบประมาณดังกล่าว เป็นการขอรับการสนับสนุนเงินนอกงบประมาณฯ จากแหล่งทุนต่างๆ เช่น โครงการสลากการกุศล (ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 68) เห็นชอบโครงการสลากการกุศล โดยให้มีการออกสลากการกุศล เพื่อสนับสนุนโครงการที่ผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการพิจารณาโครงการสลากการกุศล ซึ่งรวมถึงโครงการ ODOS ที่เสนอในครั้งนี้ด้วย
นายจิรายุ ย้ำว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มุ่งให้โครงการ ODOS สร้างโอกาส ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา และเป็นการส่งเสริมการพัฒนากำลังคนให้มีทักษะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น สามารถต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิม ส่งเสริมโอกาสในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตได้ ซึ่งจะเป็นผลให้การพัฒนาประเทศมีความต่อเนื่องและยั่งยืน สอดคล้องกับสถานการณ์โลก และเป็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะทำให้ เด็ก และเยาวชนของไทย มีศักยภาพที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้รับรายงานว่า สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการ ODOS Summer Camp
รายงานว่า ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 6 พฤษภาคม 2568) มีผู้สนใจเข้าสู่ระบบมากกว่า 100,000 ราย โดยนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับโครงการ ODOS Summer Camp
โครงการ ODOS (One District One Scholarship) หรือหนึ่งอำเภอ หนึ่งทุนการศึกษา เป็นการขยายโอกาสสู่ระดับการศึกษาที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้เด็กไทยทุกคนเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียม เป็นทุนในการพัฒนาโอกาสการศึกษาของเยาวชนไทย ครอบคลุมทุนการศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ทุนการศึกษาภาคฤดูร้อน และการพัฒนาโรงเรียนประจำอำเภอเป็นโรงเรียนต้นแบบ เพื่อให้ทุกอำเภอได้มีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ
เป็นกำลังสำคัญที่จะพัฒนาประเทศไทยในอนาคต เป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม จึงขอเชิญชวนให้เยาวชนทั่วประเทศ รีบดำเนินการสมัครเข้าร่วมโครงการ เพราะใกล้ปิดรับสมัครแล้ว ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการประชาสัมพันธ์เรื่องดังกล่าวให้แพร่หลายมากขึ้น
ทั้งนี้ ขอยืนยันกับเยาวชน ตลอดจนผู้ปกครองว่า โครงการดังกล่าว ไม่มีการเรียกรับค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมใดๆ ในการสมัครและเข้าร่วมโครงการ รวมทั้งไม่มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่ติดต่อ หรือโทรหาผู้สมัครหรือบุคคลในครอบครัวผู้สมัครทุกกรณี โดยโครงการ ODOS Summer Camp จะมอบทุนการศึกษา “แบบให้เปล่า” แก่ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการรวม 928 ทุน (878 อำเภอทั่วประเทศ และ 50 เขตในกรุงเทพมหานคร) โดยรัฐบาลจะเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดในอัตราเดียวกันกับนักเรียนทุนรัฐบาล
นายจิรายุ ย้ำว่า ช่วงโค้งสุดท้ายนี้ ซึ่งเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม ถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2568 เป็นวันสุดท้าย ขอให้เยาวชน เปิดใจ เพื่อรับโอกาสใหม่ เพียงแค่สมัครผ่าน แอปพลิเคชัน“ทางรัฐ” จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือก โดยจะมีการทดสอบทักษะภาษาอังกฤษ ทักษะดิจิทัล และการจับฉลากเลือกประเทศ พร้อมสัมภาษณ์ และจะประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการในเดือนสิงหาคม 2568 และไป
Summer Camp เป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ ในช่วงเดือนกันยายน – พฤศจิกายน 2568 สามารถศึกษารายละเอียดของโครงการเพิ่มเติมได้ที่ https://odos.thaigov.go.th/ หรือเพจ Facebook : ODOS Summer Camp
คุณสมบัติของผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ
1. มีสัญชาติไทย
2. อายุไม่เกิน 19 ปี
3. มีที่อยู่ตามทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอใดอำเภอหนึ่งของประเทศไทย ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี กรณีย้ายที่อยู่ไม่ถึง 1 ปี ให้ยึดที่อยู่เดิมก่อนหน้าที่อาศัยต่อเนื่องเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี
4. เป็นนักเรียน นิสิต หรือนักศึกษา ที่ศึกษาอยู่ในสถานศึกษาภายในประเทศ ในปีการศึกษา 2567 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ชั้นปีที่ 1 หรือระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 หรือเทียบเท่า
5. คะแนนเฉลี่ยสะสมรวม 2 ภาคการศึกษาล่าสุด ไม่ต่ำกว่า 2.50 (ในระบบการวัดผลที่คิดคะแนนให้ A=4, B=3, C=2, D=1, E หรือ F=0) หรือร้อยละ 62.5
6. คะแนนเฉลี่ยสะสมวิชาภาษาอังกฤษ 2 ภาคการศึกษาล่าสุด ไม่ต่ำกว่า 3.00 (ในระบบการวัดผลที่คิดคะแนนให้ A=4, B=3, C=2, D=1, E หรือ F=0) หรือร้อยละ 75
7. มีความประพฤติดี โดยมีหนังสือรับรองจากสถานศึกษาหรืออาจารย์ที่ปรึกษา หรือครูประจำชั้น
มีสุขภาพแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่เป็นโรคอันอาจเป็นอุปสรรคต่อการศึกษา หรือเป็นโรคติดต่อที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานและไม่เป็นคนไร้ความสามารถ
13 ประเทศปลายทางที่โครงการ ODOS ส่งผู้ได้รับทุนไปศึกษา
ทวีปอเมริกาเหนือ
- สหรัฐอเมริกา : เด่นในด้านเทคโนโลยี วิศวกรรม AI และนวัตกรรมทางการศึกษา
ทวีปยุโรป
- สหราชอาณาจักร : มีชื่อเสียงด้านกฎหมาย การบริหารธุรกิจ และนโยบายสาธารณะ
- เยอรมนี : สำหรับสาขาวิศวกรรม การออกแบบ และสังคมศาสตร์
- สวีเดน : พลังงานหมุนเวียน สิ่งแวดล้อม นวัตกรรม และการออกแบบ
- ฟินแลนด์ : เกม, เทคโนโลยีการเรียนรู้
- เอสโทเนีย : Cybersecurity & IT, Startup & Digital Society
ทวีปออสเตรเลีย
- ออสเตรเลีย : เปิดกว้างด้านสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพและสังคมศาสตร์
ทวีปเอเชีย
- จีน : มีหลักสูตรนานาชาติจำนวนมากในด้านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และเศรษฐกิจดิจิทัล
- อินเดีย : สายเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์
- ญี่ปุ่น : โดดเด่นด้านวิศวกรรม เทคโนโลยี หุ่นยนต์ และนวัตกรรม
- เกาหลีใต้ : เด่นในเรื่องสื่อดิจิทัล เทคโนโลยีสารสนเทศ วัฒนธรรมร่วมสมัย
- สิงคโปร์ : จุดแข็งในด้านการบริหาร การจัดการ และระบบโลจิสติกส์
- ไต้หวัน : เด่นในเรื่องอิเล็กทรอนิกส์ ชีววิทยา