กระทรวงอุตสาหกรรม ห่วงคนกินปิ้งย่าง ห้ามร้านใช้ซ้ำ “ก๊าซกระป๋อง” เสี่ยงระเบิด เร่ง สมอ. ชงเป็นสินค้าควบคุม

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันร้านอาหารประเภท ปิ้ง-ย่าง เป็นที่นิยมของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ซึ่งร้านดังกล่าวมักนำก๊าซกระป๋องมาใช้กับเตาปิ้งย่าง และพบว่ามีการนำกระป๋องที่ผ่านการใช้งานแล้วมาบรรจุก๊าซใหม่ ซึ่งเสี่ยงเกิดการระเบิด เนื่องจากก๊าซกระป๋องถูกออกแบบมาให้ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ห้ามใช้ซ้ำโดยเด็ดขาด

ซึ่งที่ผ่านมา มีข่าวการเกิดอุบัติเหตุก๊าซกระป๋องระเบิดในร้านอาหารอยู่บ่อยครั้ง จึงได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งประกาศให้ “ก๊าซกระป๋อง” เป็นสินค้าควบคุมโดยเร็ว เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชน อย่างไรก็ตาม แม้จะมีมาตรฐานควบคุมความปลอดภัยแล้ว แต่ผู้บริโภคก็ต้องใช้งานก๊าซกระป๋องให้ถูกต้องตามวิธีการใช้งานและคำเตือนที่ระบุไว้อย่างเคร่งครัด เพราะกระป๋องที่บรรจุก๊าซบิวเทนสำหรับเตาพกพานั้น ถูกออกแบบมาให้ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ไม่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ โดยเฉพาะการนำไปบรรจุก๊าซ LPG ซึ่งเป็นก๊าซคนละประเภทกัน เพราะกระป๋องไม่สามารถทนความดันได้เหมือนถังก๊าซ LPG ตามบ้านเรือนทั่วไปที่ทำมาจากเหล็ก จึงอยากเตือนประชาชนว่าอย่านำไปใช้งานผิดประเภท เพื่อความปลอดภัย

ทางด้านนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ขณะนี้ มาตรฐาน “กระป๋องบรรจุก๊าซบิวเทน – ไม่สามารถบรรจุซ้ำได้ มอก. 4449 -2568” เป็นมาตรฐานภาคสมัครใจ ที่กำลังจะประกาศราชกิจจานุเบกษาในเดือนมิถุนายน 2568 เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้งานก๊าซกระป๋องกันอย่างแพร่หลาย ทั้งในร้านอาหารและกิจกรรมเดินป่าต่างๆ ซึ่งก๊าซกระป๋องสำหรับเตาพกพานั้นบรรจุก๊าซบิวเทน และกระป๋องถูกออกแบบมาให้ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ไม่สามารถบรรจุซ้ำได้
ที่สำคัญไม่สามารถเติม LPG (ก๊าซที่ใช้ในครัวเรือนทั่วไป) เนื่องจากก๊าซ LPG ให้ความดันที่สูงกว่าก๊าซบิวเทน ทำให้กระป๋องไม่สามารถทนความดันได้ จึงอาจทำให้กระป๋องระเบิดเป็นอันตรายกับประชาชน

ทั้งนี้ ข้อกำหนดที่สำคัญของมาตรฐาน มอก.4449-2568 กระป๋องบรรจุก๊าซบิวเทนที่ได้มาตรฐาน ฉบับนี้ คือ

  • มีการทดสอบความทนความดันผิดรูป และทนความดันระเบิด เพื่อป้องกันการระเบิด
  • มีข้อกำหนดให้กระป๋องมีอุปกรณ์ป้องกันการระเบิด เช่น ระบบระบายความดัน รวมถึงวาล์วที่สามารถตรวจจับอุณหภูมิ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น วาล์วจะเปิดอัตโนมัติ เพื่อระบายความดัน ทำให้กระป๋องไม่ระเบิด
    มีคำเตือนอันตรายที่ฉลาก เช่น เก็บให้ห่างจากเปลวไฟ ห้ามบรรจุซ้ำ
  • มีวิธีการติดตั้งก๊าซกระป๋อง ควรติดตั้งตามที่ผู้ผลิตแนะนำ

นอกจากนี้ ไม่ควรซื้อมาเก็บไว้ในบริเวณที่อากาศร้อนเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้กระป๋องก๊าซเสื่อมสภาพได้ ซึ่งขณะนี้ สมอ. อยู่ระหว่างเตรียมเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ด สมอ. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ให้เป็นสินค้าควบคุมโดยเร็วต่อไป

ปัจจุบันคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ตามความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ได้ประกาศกำหนดให้สินค้าหรือบริการเป็นสินค้าหรือบริการควบคุมแล้วทั้งสิ้น 59 รายการ (คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 เห็นชอบรายการสินค้าและบริการ จำนวน 57 รายการ จำแนกเป็น 52 สินค้า 5 บริการ  และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 เห็นชอบกำหนดสินค้าควบคุมเพิ่มเติม จำนวน 
2 รายการ ได้แก่ เครื่องฟอกอากาศ และ เครื่องดูดฝุ่น)

สำหรับบิวเทนเป็นก๊าซไม่มีสี ติดไฟได้ ซึ่งได้มาจากกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบ มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในหลากหลายอุตสาหกรรมเนื่องจากคุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมีที่มีน้ำหนักเบา เช่น ไฟแช็กบิวเทน เชื้อเพลิงหุงต้ม โดยเฉพาะที่นำไปใช้กับเตาแบบพกพา สารทำความเย็นในตู้เย็น ตัวทำละลายในการผลิตสารเคมีและผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงน้ำหอมและยาระงับกลิ่นกาย ใช้เป็นตัวขับเคลื่อนในกระป๋องสเปรย์ เชื้อเพลิงในการเชื่อม เชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ หรือเชื้อเพลิงในการทำความร้อนกับเครื่องทำความร้อนแบบพกพา

ข้อควรระวังเพื่อความปลอดภัยเมื่อใช้บิวเทน

แม้ว่าบิวเทนจะเป็นก๊าซที่มีประโยชน์สารพัดประโยชน์ แต่ก็มีความไวไฟสูงเช่นกัน และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อความปลอดภัยได้หากใช้ไม่ถูกต้อง ในการใช้ก๊าซบิวเทนจึงควรคำนึงถึง

– ใช้บิวเทนในบริเวณที่มีการระบายอากาศดีเสมอ

– เก็บถังบิวเทนให้ห่างจากแหล่งความร้อนและเปลวไฟ

– ห้ามเจาะหรือให้ถังบิวเทนสัมผัสกับอุณหภูมิสูง

– ห้ามใช้บิวเทนใกล้เด็กหรือสัตว์เลี้ยง

– ปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ผลิตเสมอเมื่อใช้อุปกรณ์บิวเทน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง