“พิพัฒน์” ย้ำ พร้อมทำงานร่วมกับทุกประเทศ APEC มุ่งสู่อนาคตของแรงงานที่เป็นธรรมและยั่งยืน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นตัวแทนประเทศไทย พร้อมด้วย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายศักดินาถ สนธิศักดิ์โยธิน ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน นางศิริรัตน์ ศรีชาติ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล และคณะ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรี APEC ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (APEC HRDMM 2025) ณ เมืองเชจู สาธารณรัฐเกาหลี โดยได้นำเสนอแนวทางเชิงรุกในการเตรียมแรงงานรับมือโลกการทำงานในอนาคต ภายใต้หัวข้อ “ตลาดแรงงานที่ยืดหยุ่นและมีพลวัต” และ “การตอบสนองต่ออนาคตของงานผ่านนโยบายตลาดแรงงานเชิงรุก (ALMPs)”

นายพิพัฒน์ กล่าวในการประชุมว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการสร้างระบบแรงงานที่ครอบคลุม เป็นธรรม และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเทคโนโลยี AI โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว โดยนำ 5 นโยบายหลักที่กระทรวงแรงงานไทยนำเสนอในเวทีโลกมานำเสนอในเวทีแห่งนี้ด้วย ได้แก่

1. Reskill Upskill และ New Skill: พัฒนาทักษะดิจิทัล สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีใหม่ ให้แรงงาน
ทุกกลุ่มทันต่อตลาดแรงงานทั่วโลก

2. สนับสนุนแรงงานอาชีพอิสระ: งานแพลตฟอร์ม: ยกระดับบริการจัดหางานและขยายความคุ้มครองแรงงานรูปแบบใหม่

3. ส่งเสริมการทำงานผู้สูงวัย: สนับสนุนงานที่ยืดหยุ่นและถ่ายทอดความรู้สู่คนรุ่นใหม่

4. ขยายประกันสังคม: ให้ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม ทั้งแรงงานในระบบ–แรงงานอิสระ และแรงงานแพลตฟอร์ม (กึ่งอิสระ)

5. ขับเคลื่อน BCG Economy: สร้างงานสีเขียว ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน และความยั่งยืนในทุกพื้นที่

จากการประชุม มีเนื้อหาที่น่าสนใจจากประเทศสมาชิก APEC ที่ไทยสามารถนำไปศึกษา เพื่อนำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับแรงงานไทยไปปรับใช้ได้ เช่น

สิงคโปร์ ใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลแรงงาน สร้างระบบ “Skill Credit” และ “Job Transition Maps” รัฐลงทุนร่วมกับนายจ้าง เพื่อ Reskill แรงงาน รับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว

รัสเซีย พัฒนา Job Matching สำหรับคนพิการ–ผู้สูงอายุ พร้อมอุดหนุนภาคเอกชนจ้างแรงงานกลุ่มเปราะบาง

ฟิลิปปินส์ ส่งเสริมระบบการเรียนรู้แบบยืดหยุ่นผ่าน Credit-based Learning และสนับสนุนแรงงานพิการ-สูงวัย เข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ

เปรู เน้นการทำงานทุกช่วงวัย Lifelong Learning และส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว ควบคู่กับการดูแลแรงงานหญิง-คนพิการ

ปาปัวนิวกินี ร่วมมือกับประเทศพัฒนาแล้วเพื่อพัฒนาแรงงานนอกระบบ การทำงานของแรงงานสตรี และสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย โดยเน้นทักษะดิจิทัลและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ฝึกอบรม

มาเลเซีย ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตแรงงาน เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและพัฒนาองค์ความรู้ด้าน AI
เพื่อรับมือผลกระทบแรงงาน

เกาหลีใต้ พัฒนา “One-Stop Center” ฝึกอบรมแรงงานกลุ่มวัยกลางคน ควบคู่กับการสนับสนุนด้านสุขภาพจิต

แคนาดา–ชิลี–ฮ่องกง–นิวซีแลนด์–สหรัฐฯ ต่างผลักดันกฎหมายเพื่อความเท่าเทียม การสร้าง Work-Life Balance และการคุ้มครองแรงงานกลุ่มเปราะบางในสังคมสูงวัย

ด้านนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การแสดงวิสัยทัศน์ของกระทรวงแรงงานประเทศไทยในเวที APEC ครั้งนี้ ไม่เพียงตอกย้ำบทบาทด้านแรงงานของภูมิภาค แต่ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แรงงานไทยว่า แรงงานไทยมีความสามารถในการแข่งขัน และได้มาตรฐานที่ตลาดแรงงานในโลกต้องการ เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน และแรงงานคือหัวใจของการพัฒนา ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ โดยไทยพร้อมทำงานร่วมกับทุกประเทศสมาชิก APEC เพื่อสร้างโอกาสในอนาคตของแรงงานที่เป็นธรรมและยั่งยืน

ก่อนการประชุมรัฐมนตรี APEC ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (APEC HRDMM 2025) ณ เมืองเชจู สาธารณรัฐเกาหลี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ร่วมหารือนอกรอบกับนายมิน-ซอค คิม รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและการจ้างงาน สาธารณรัฐเกาหลี และ นายสตีเว่น ซิม ซี เคียง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์แห่งมาเลเซีย พร้อมด้วยนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายศักดินาถ สนธิศักดิ์โยธิน ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน นางศิริรัตน์ ศรีชาติ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล

ในการหารือกับ นายมิน-ซอค คิม รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและการจ้างงาน สาธารณรัฐเกาหลี ทั้งสองฝ่ายย้ำความร่วมมือในการส่งเสริมแรงงานถูกกฎหมาย และขยายโอกาสแรงงานไทยในภาคบริการ ร้านอาหาร โรงแรม และการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นภาคที่เกาหลีกำลังขาดแคลนแรงงาน

นายมิน-ซอค คิม เปิดเผยว่า การหารือทวิภาคีระหว่างไทยและเกาหลีใต้ครั้งนี้สะท้อนวิสัยทัศน์ของไทย ในการยกระดับแรงงานสู่มาตรฐานสากล โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในการขยายความร่วมมือด้านแรงงานอย่างรอบด้าน ทั้งการส่งแรงงานอย่างถูกกฎหมาย การพัฒนาทักษะฝีมือและการคุ้มครองสิทธิแรงงานไทยในเกาหลีใต้ ซึ่งขณะนี้มีแผนขยายการรับแรงงานต่างชาติในภาคบริการ เช่น ร้านอาหาร โรงแรม งานภาคบริการ และงานภาคบริบาลดูแลผู้สูงอายุ โดยในเกาหลีเป็นแรงงานหญิงในกลุ่มอายุ 50–65 ปี แต่การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อาจขยายโอกาสแรงงานฝีมือไทยในสาขา ภาคบริบาล พร้อมยืนยันว่าแรงงานไทยมีวินัย ตั้งใจทำงานและได้รับความไว้วางใจจากนายจ้างเกาหลี

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ในด้านการจัดการแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งแรงงานไทยในเกาหลีมีอยู่ถึงร้อยละ 19.2 ไทยเสนอแนวทางแก้ไขในเชิงระบบ เช่น การขึ้นทะเบียนแรงงานเพื่อนบ้านในไทยให้ถูกกฎหมาย พร้อมการปราบปรามนายหน้าเถื่อน และการรณรงค์ให้แรงงานเข้าสู่ระบบ EPS (Employment Permit System) เพื่อเข้าถึงค่าจ้างที่เป็นธรรมและสวัสดิการที่มั่นคง พร้อมเสนอความร่วมมือในการพัฒนาทักษะแรงงานสู่เศรษฐกิจอนาคต โดยเฉพาะด้าน AI, Automation และอุตสาหกรรมอัจฉริยะ พร้อมย้ำว่าไทยจะติดตามคุณภาพชีวิตแรงงานในเกาหลีอย่างใกล้ชิด  การหารือครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายแรงงานต่างประเทศของไทย ที่ไม่เพียงเน้นการจัดส่งแรงงานอย่างถูกต้อง แต่ยังมุ่งสร้างมาตรฐานใหม่ด้านคุณภาพชีวิต และความมั่นคงให้แรงงานไทยบนเวทีโลก

นอกจากนี้ ยังได้พบหารือ กับนายสตีเว่น ซิม ซี เคียง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์แห่งมาเลเซีย โดยเห็นพ้องร่วมกันว่าทั้งสองประเทศควรเป็นผู้นำด้านการพัฒนาแรงงานในอาเซียน โดยเฉพาะในยุคเปลี่ยนผ่าน
สู่เศรษฐกิจสีเขียว และแรงงานอิสระ (Gig Workers) โดย ไทยเสนอแนวคิด “One Destination two Cities” เพื่อสร้างงานจากการท่องเที่ยว กระจายรายได้สู่เมืองต่างๆ ในประเทศอาเซียนได้

โดยนายสตีเว่น ซิม ซี เคียง กล่าวว่า มาเลเซียเตรียมเสนอร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ประมาณเดือนกรกฎาคมนี้ และพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับไทย ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่า แรงงานคือรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค

นายพิพัฒน์ ระบุว่า การหารือครั้งนี้สะท้อนเจตนารมณ์ของไทย ที่ต้องการให้แรงงานไทยมีคุณภาพ มีทักษะสากลและยังตอกย้ำความเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี หรือเศรษฐกิจสีเขียว พร้อมย้ำว่า แรงงานไทยต้องได้รับการยอมรับในเวทีอาเซียนและระดับโลก โดยกระทรวงแรงงานพร้อมเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้เกิดความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง สร้างรากฐานแรงงานไทยทั้งในด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ติดตามเร่งรัดการทำงานของชุดเฉพาะกิจไตรเทพพิทักษ์ ที่ได้จัดตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อตรวจสอบการจ้างงาน สภาพการจ้าง การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ และการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายในกลุ่มแรงงานต่างด้าว เพื่อป้องกันการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และการแย่งอาชีพคนไทย การเข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงแรงงานไทยที่ถูกละเมิดกฎหมายด้วย โดยเน้นการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงแรงงาน บูรณาการ 3 หน่วยงานหลัก คือ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กรมการจัดหางาน และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และผนึกกำลังร่วมกับอีก 11 หน่วยงานของรัฐ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตำรวจ ทหาร กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ออกปฏิบัติการปูพรมทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2567 – 30 เมษายน 2568 ชุดเฉพาะกิจไตรเทพพิทักษ์ได้ออกตรวจพื้นที่จำนวน 20 ครั้ง มีสถานประกอบกิจการที่ผ่านการตรวจสอบ 1,063 แห่ง ลูกจ้าง 13,409 คน ดำเนินคดีลูกจ้างต่างด้าว 228 คน ประกอบด้วย สัญชาติเมียนมา 194 คน ลาว 10 คน กัมพูชา 6 คน และสัญชาติอื่น ๆ เช่น อินเดีย รัสเซีย บุคคลจากพื้นที่สูง 18 คน โดยมีฐานความผิดทั้งเป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ ไม่แจ้งให้นายทะเบียนทราบถึงผู้เป็นนายจ้าง สถานที่ทำงานของนายจ้าง และลักษณะงานที่ทำภายใน 15 วันนับแต่วันที่เข้าทำงาน รวมทั้งเป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือการอนุญาตสิ้นสุด หรือถูกเพิกถอน นอกจากนี้ยังได้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับการจ้างงาน และสภาพการจ้างที่ถูกต้อง เพื่อให้นายจ้างลูกจ้างและสถานประกอบการ ปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัดต่อไป

นายภูมิพัฒน์ ย้ำว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมากเพื่อรักษาประโยชน์ของคนไทย โดยคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือสิทธิ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกผลักดันส่งกลับ ส่วนนายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวผิดกฎหมายจะมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี ทั้งนี้ หากประชาชนพบเบาะแสการกระทำผิดของแรงงานต่างด้าว สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน กระทรวงแรงงาน โทร.1506 หรือแจ้งออนไลน์ได้ที่ คณะทำงานชุดเฉพาะกิจไตรเทพพิทักษ์ กระทรวงแรงงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง